ใน Harvard Business Review มีบทความน่าสนใจมากเกี่ยวกับ 3 ข้อแนะนำการนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ Native Speaker หรือไม่ได้เชี่ยวชาญการพูดภาษาอังกฤษมากนัก ทางทีมงาน ADPT เชื่อว่าเนื้อหานี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยไม่น้อย จึงขอนำมาสรุปให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ

1. ใช้เวลาในการซ้อมให้มากกว่าการทำสไลด์
ปัญหาส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่ผลลัพธ์ออกมาไม่ดีนั้นก็คือการขาดการซ้อมก่อนขึ้นพูดจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษที่ตนเองไม่ได้ถนัดมากแล้ว การซ้อมซ้ำๆ หลายๆ รอบนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญมาก
เป้าหมายของการซ้อมนั้นคือไปให้ถึงจุดที่เรียกว่า Overlearning หรือการซ้อมนำเสนอในสไลด์นั้นๆ จนชำนาญ โดยให้ซ้อมไปจนถึงจุดที่คิดว่าไม่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีกแล้ว และซ้อมในจุดนั้นซ้ำไปเรื่อยๆ จนบทพูดและเนื้อหาต่างๆ ได้ถูกซึมซับเข้าไปยังสมองส่วนที่เป็นความจำระยะยาว และเกิดความเครียดน้อยลงในระหว่างนำเสนอตามปกติหรือยามมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างนำเสนอ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้คุณมั่นใจได้ว่าทุกครั้งที่นำเสนอนั้นเนื้อหาจะลื่นไหล และไม่ตกหล่นใจความสำคัญไปนั่นเอง
2. อย่ากังวลเรื่องสำเนียงให้มากนัก พยายามพูดให้ช้าเข้าไว้
แต่ละคนนั้นต่างก็มีสำเนียงพูดเป็นของตนเอง แม้แต่คนที่เป็น Native Speaker เองก็ยังมีสำเนียงที่ต่างกันไป แต่จุดที่เราควรสนใจก็คือสำเนียงของเรามันจะมีปัญหาก็ต่อเมื่อผู้ฟังนั้นฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งโดยปกติแล้วหากปัญหาเกิดขึ้นจากสำเนียงนั้น ผู้ฟังก็อาจมีปัญหาเพียงแค่ในช่วงแรกๆ ของการนำเสนอ ก่อนที่จะเริ่มคุ้นชินและตามเนื้อหาได้ทันในภายหลังหากผู้ฟังนั้นตั้งใจฟัง
ประเด็นสำคัญจริงๆ ที่ควรใส่ใจนั้นจริงๆ แล้วคือการพูดช้าๆ ชัดๆ ได้ใจความ เพื่อช่วยให้ผู้ฟังทำความคุ้นเคยกับสำเนียงของเราได้ง่ายขึ้น แยกคำแยกประโยคได้ง่าย และเสียงเราไม่ถูกรบกวนโดยเสียงอื่นรอบข้างมากกว่า นอกจากนี้การเลือกใช้คำที่คนเข้าใจได้ง่าย และฝึกซ้อมออกเสียงให้ถูกต้อง รวมถึงคิดให้ดีก่อนพูดแต่ละคำหรือแต่ละประโยคออกมาก็จะช่วยให้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น อย่าเร่งพูดออกมาเยอะๆ รัวๆ เด็ดขาด
ด้วยแนวทางนี้ เมื่อเวลาผ่านไปซักระยะในระหว่างการนำเสนอ ผู้ฟังก็จะปรับตัวเข้ากับสำเนียงของคุณได้ง่ายขึ้น และสุดท้ายก็จะรับฟังการนำเสนอของคุณได้รู้เรื่องในที่สุด
3. มีจังหวะหยุดพูดตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการนำเสนอ และมีจังหวะหยุดพูดนี้อย่างสม่ำเสมอ
การมีจังหวะหยุดพูดในระหว่างการนำเสนอนั้นมีข้อดี 2 ประการ ประการแรกคือการทำให้ผู้ฟังมีเวลาได้ทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่นำเสนอ ประการที่สองคือทำให้ตัวคุณเองมีช่วงได้พักบนเวทีนำเสนอด้วย
จากงานวิจัยนั้นระบุว่าการที่ผู้ฟังจะฟังสำเนียงใหม่ๆ ให้เข้าใจได้นั้น จะต้องดึงความสามารถในการรู้จำของสมองออกมาใช้ เพื่อตีความในสิ่งที่ได้ฟังไปด้วย ไม่ใช่แค่ได้ฟังแล้วจำเท่านั้น ซึ่งการมีจังหวะหยุดระหว่างนำเสนอนี้เองจะช่วยให้ผู้ฟังได้มีเวลาทำความเข้าใจและซึมซับเนื้อหาที่คุณนำเสนอไป ในขณะที่คุณเองก็จะได้มีเวลานึกเนื้อหาส่วนถัดๆ ไปที่จะพูดต่อไปจากนี้ หรือแม้แต่จะพักจิบน้ำนิดหนึ่งก็ได้เช่นกัน
อีกแนวทางหนึ่งในการสร้างจังหวะหยุดพักนั้นก็คือการหาจังหวะพูดคุยสบายๆ กับผู้ฟังว่าฟังรู้เรื่องไหม ติดปัญหาหรืออยากให้ปรับความเร็วในการพูดหรือเปล่า ซึ่งนอกจากจะได้รับ Feedback มาปรับปรุงสำหรับการนำเสนอส่วนที่ยังเหลือแล้ว ก็จะทำให้คุณมีเวลาได้พักจากเนื้อหาหนักๆ ที่ต้องใช้พลังสมองเยอะไปได้ในตัว
อ้างอิง https://hbr.org/2018/04/3-tips-for-presenting-in-english-when-youre-not-a-native-speaker