ปัจจุบัน กว่า 23,000 สปีชี่ส์ของสิ่งมีชีวิตในโลกตกอยู่ในความเสี่ยงใกล้สูญพันธ์ โดยร้อยละ 25 ในจำนวนนั้นคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เราอาจคุ้นเคยกันดีอย่างเสือชีตาร์ เพื่อเข้าควบคุมความเสี่ยง เราจำเป็นจะต้องมีระบบเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญในการติดตามรอยเท้า หรือการติดตั้งเครื่องมือระบุตำแหน่ง และการทำเครื่องหมาย ซึ่งเป็นวิธีที่รบกวนความเป็นอยู่โดยธรรมชาติของสัตว์ป่า การวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์จึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการไขปัญหานี้
Zoe Jewell และ Sky Alibhai ประจำการอยู่ในทวีปแอฟริกาโดยมีเป้าหมายในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทั้งหลายให้คงอยู่ต่อไป ในการติดตามแรดดำในประเทศซิมบับเวในช่วงทศวรรษ 1990 พวกเขาใช้วิธีติดตามและเฝ้าระวังสัตว์ป่าดั้งเดิมอย่าง radio-telemetry ที่อาศัยการติดตั้งอุปกรณ์คลื่นวิทยุไปที่ตัวสัตว์ ซึ่งการใช้ยาสลบเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ที่ตัวสัตว์นั้นส่งผลเสียต่อการสืบพันธุ์ของตัวเมีย และมีค่าใช้จ่ายสูงในการบำรุงรักษา Zoe และ Sky จึงเริ่มหาวิธีใหม่ในการติดตามสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้
นอกจากอุปกรณ์คลื่นวิทยุแล้ว นักสำรวจยังมีอีกทางเลือกหนึ่งในการติดตามสัตว์ป่าที่แม้จะเป็นวิธีดั้งเดิมกว่า แต่ก็รบกวนสัตว์ป่าในธรรมชาติน้อยกว่า นั่นคือ การขอความช่วยเหลือจากชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซาฟารี ผู้ซึ่งมีทักษะในการระบุตัวตนและติดตามสัตว์ป่าได้จากรอยเท้า ผู้คนพื้นเมืองเหล่านี้สามารถระบุได้ลึกถึงประเภท เพศ ขนาด และอายุของสัตว์ ด้วยการพิจารณารอยเท้าที่ปรากฎอยู่บนผิวดิน Zoe และ Sky ได้ร่วมงานกับผู้คนเหล่านี้บ่อยครั้ง จนทำให้พวกเขาเริ่มเกิดไอเดียที่จะแปลงความสามารถในการแกะรอยนี้ ให้เป็นระบบคอมพิวเตอร์
Zoe และ Sky จึงได้เริ่มต้นพัฒนาอัลกอริทึมที่สามารถระบุตัวตนของสัตว์ป่าได้จากภาพถ่าย โดยพวกเขาได้นำข้อมูลที่พวกเขาเก็บสะสมมาเป็นเวลานาน และประสบการณ์ในการลงพื้นที่ เกิดขึ้นเป็นระบบ Footprint Identification Technique (FIT) ที่ได้รับรางวัล Computerworld Award จากสถาบันสมิธโซเนียน ในสาขาสิ่งแวดล้อม พลังงาน และเกษตรกรรมในปี 2002
การทำงานของ FIT นั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือการถ่ายภาพรอยเท้าสัตว์ป่า และแปลงภาพนั้นเป็นโครงร่างเรขาคณิต และส่วนที่สองคือการวิเคราะห์ข้อมูลจากโครงสร้างดังกล่าว เพื่อจัดประเภทของสัตว์ป่า
หลังจากนั้นในปี 2004 Zoe และ Sky ได้จัดตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร WildTrack เพื่อขยายผลการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในวงกว้าง โดยหลังการก่อตั้งองค์กร WildTrack ได้รับการสนับสนุน และมีการทำงานร่วมกับ SAS ในการพัฒนาต่อยอดระบบติดตามแบบไม่รบกวนสัตว์ป่านี้อย่างต่อเนื่อง เช่น การนำซอฟต์แวร์สถิติ JMP มาใช้ในขั้นตอนต่างๆของการวิเคราะห์ที่ทำให้ระบบสามารถระบุตัวตนของสัตว์ป่าได้แม่นยำถึงร้อยละ 90 รวมไปถึงเพศ และช่วงอายุ และการเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น deep learning มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ
ปัจจุบัน FIT นั้นถูกพัฒนาให้สามารถระบุตัวตนสัตว์ป่าจากรอยเท้าได้ถึง 15 ประเภท และ WildTrack ยังได้มีการริเริ่มโครงการ ConservationFIT.org ที่เชิญชวนในนักสำรวจ นักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลรอยเท้าเพื่อขยายฐานข้อมูลที่มีอยู่ให้กว้างขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการวางกลยุทธ์การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก
การระบุตัวตนของสัตว์ป่าด้วยรอยเท้านั้นเดิมเคยเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์หลายสิบปีจึงจะทำสำเร็จ การแปลงมันเป็นระบบอัตโนมัติที่มีความแม่นยำ และยืดหยุ่นมากพอสำหรับสัตว์หลายสปีชี่ส์ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ให้คงอยู่คู่โลกสืบต่อไป นับเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่การใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างถูกวิธี สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ระดับมนุษยชาติ