ในวาระครบรอบ 72 ปี วันประกาศอิสรภาพของอินเดีย นายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที (Narendra Modi) ได้ประกาศว่า อินเดียจะส่งนักบินอวกาศขึ้นทะยานภายในปี 2565 นับว่าเป็นโปรเจคใหญ่สำหรับประเทศ เพราะถ้าอินเดียทำภารกิจ Gaganyaan สำเร็จ ก็จะกลายเป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ประเทศที่ส่งยานพร้อมมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้ เหมือนที่สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีนเคยทำมาก่อน
จากรายงานของ NDTV นั้น องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organization หรือ ISRO) วางแผนที่จะส่งนักบินอวกาศสามคนไปปฏิบัติภารกิจแรกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ภายใน 40 เดือนนับจากนี้ โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราวๆ 1.28 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 43 หมื่นล้านบาท)
ระยะตามแผนของภารกิจส่งยานพร้อมมนุษย์สู่อวกาศครั้งแรกนี้ จะได้เห็น ISRO ใช้ยาน Geosynchronous Satellite Launch Vehicle Mark III (GSLV MK III) พร้อมนักบินสามรายบินโคจรระดับต่ำเป็นเวลา 5-7 วัน
GSLV MK III เป็นยานจรวดที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่เคยสร้างมาของอินเดีย ซึ่งถูกปล่อยครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 เพื่อขนส่งดาวเทียมสื่อสาร GSAT-19 น้ำหนัก 3,135 กิโลกรัม ขึ้นสู่วงโคจรเพื่อส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต
อินเดียวางแผนที่จะปล่อยจรวดที่เมืองศรีหริโคตร (Sriharikota) ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) ทางตอนใต้ของอินเดีย อีกทั้งยังเป็นสถานีปล่อยยานเดิมที่เคยใช้ปล่อยจรวด GSLV MK III ในภารกิจเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 และภารกิจ Polar Satellite Launch Vehicle ยิงจรวดปล่อยดาวเทียมพร้อมกัน 104 ดวง ทำลายสถิติโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดยังไม่ได้สรุปแน่ชัด ทาง ISRO เผยว่า องค์กรยังคงพิจารณาดูว่าจะนำยานลงที่บริเวณใดที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย เพื่อความปลอดภัย
นับว่าเป็นภารกิจใหญ่อีกหนึ่งครั้งสำหรับองค์กรอวกาศอินเดีย เพราะอินเดียก็มุ่งพัฒนาด้านนี้มากขึ้นในช่วงทศวรรษนี้ และน่าสนใจตรงที่เราจะได้เห็นว่า ISRO จะปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จอีกหรือไม่