นักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยที่รวมมหาวิทยาลัย Oxford, Boston, และ Agder ตีพิมพ์งานวิจัยที่ใช้การจำลองโมเดลทางคอมพิวเตอร์ด้วย AI ร่วมกับศาสตร์ของจิตวิทยารู้คิด (cognitive psychology) เข้าช่วยทำความเข้าใจเงื่อนไข ชนวนความขัดแย้ง และรูปแบบการเกิดความรุนแรงทางศาสนา
งานวิจัย A Generative Model of the Mutual Escalation of Anxiety Between Religious Groups นี้มีเป้าหมายในการตอบคำถามที่ว่า “ผู้คนนั้นมีนิสัยที่รุนแรงอยู่แล้ว หรือมีปัจจัย เช่น ศาสนา ที่ทำให้สังคมมีความกดดันและกระแสต่อต้านกลุ่มคนที่แตกต่างออกไป (ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความรุนแรง)” โดยนักวิจัยได้สร้างระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเรียกว่า agent-based model (ABM) ขึ้นเพื่อจำลองสถานการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาและทำการศึกษา ระบบ ABM ดังกล่าวประกอบไปด้วย AI agent ซึ่งมีความคิดสมจริงคล้ายมนุษย์ในทางจิตวิทยา ทำให้นักวิจัยสามารถศึกษาได้ว่ามนุษย์นั้นคิดอย่างไร มีความรู้สึกร่วมกับกลุ่มทางสังคมอย่างไร ทำไมคนๆหนึ่งถึงแสดงออกทางตัวตนว่านับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เป็นต้น
นักวิจัยได้ใช้ระบบ ABM นี้จำลองเหตุการณ์ที่ได้นำไปสู่ความรุนแรงโดยอ้างอิงข้อมูลจากสถาการณ์สุดโต่งที่เกิดขึ้นจริง ได้แก่ สถานการณ์ความรุนแรงทางศาสนาของไอร์แลนด์เหนือในช่วงปี 1968 ถึง 1998 และเหตุจราจลในเมือง Gujarat ของอินเดียเมื่อปี 2002 และทำการศึกษาว่า AI agent ทั้งหลายที่ใส่ลงไปในระบบนั้นมีวิธีการคิดและการประมวลผลข้อมูลอย่างไร ความตึงเครียดที่นำไปสู่ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และลดน้อยลงในลักษณะไหน โดยได้สร้างทั้ง agent ที่มีประสบการณ์เชิงบวกกับกลุ่มศาสนาอื่น และโมเดลของมนุษย์ที่เฉยๆหรือมีประสบการณ์เชิงลบ ในช่วงอายุ ชาติพันธุ์ และปัจจัยอื่นๆที่แตกต่างกันไป
ผลการวิจัยพบว่าความตึงเครียดต่อต้านคนที่ต่างนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อมีการปรากฏตัวของ social hazards ซึ่งเข้ามาปฏิเสธ ตั้งคำถาม หรือท้าทายความเชื่อหลักและคุณค่าที่เป็นที่สักการะทางศาสนา และเมื่อผู้คนรู้สึกว่าศาสนาถูกคุกคามด้วย social hazards นี้ไม่ว่าจะเป็นจากคนในหรือนอกศาสนาจนทนไม่ไหว ความตึงเครียดนั้นก็จะมีแนวโน้มที่นำไปสู่ความรุนแรงราว 20% ของสถานการณ์จำลองทั้งหมด
งานวิจัยนี้นับเป็นงานวิจัยแรกที่นำเทคโนโลยี multi-agent AI มาใช้สร้างโมเดลคอมพิวเตอร์ที่มีความสมจริงทางจิตวิทยาเพื่อทำความเข้าใจความขัดแย้งทางศาสนา โดยก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามนำ AI แบบอื่นๆและ machine learning เข้ามาศึกษาประเด็นดังกล่าว แต่การศึกษาเหล่านั้นก็ให้คำตอบที่หลากหลายไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการใช้ machine learning ก็มีความเสี่ยงต่ออคติต่อชนกลุ่มน้อยในชุดข้อมูลด้วย
และนอกจากผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว ทีมวิจัยเจ้าของผลงานนี้ยังได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลนอร์เวย์ จัดตั้งโครงการใหม่ระยะเวลา 2 ปี ที่จะศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ที่เกิดขึ้นในการอพยพลี้ภัย และการปรับตัวร่วมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของผู้ลี้ภัยในยุโรป เพื่อช่วยรัฐบาลนอร์เวย์พัฒนาขั้นตอนการปรับตัวสำหรับผู้ลี้ภัย (refugee integration process) ที่ดีที่สุด