“โรงงานข้อมูล” อุตสาหกรรมใหม่ในจีนที่เกิดขึ้นรองรับ AI

0

พื้นฐานของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นคือการรับข้อมูลเข้าไปสร้างความฉลาดให้กับตัวเอง และด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ AI นั้นยังคงต้องการข้อมูลที่มีการแปะป้าย (label) เพื่อจำแนกข้อมูลหลายแบบออกจากกันอยู่ ความต้องการนี้ก่อให้เกิดอาชีพและอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นในประเทศจีนเพื่อผลิตข้อมูลให้พร้อมกับการพัฒนาระบบ AI โดยเฉพาะ

ประเทศจีนนั้นนับว่าเป็นประเทศแนวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันควบคู่กับสหรัฐอเมริกา และก็ดูเหมือนว่าจีนจะมีแต้มต่ออยู่บ้างจากระบบการปกครองที่สนับสนุนเทคโนโลยีเป็นอย่างดีและมาตรฐานความเป็นส่วนตัวที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆทั่วโลก นอกไปจากนี้แล้ว สำนักข่าว The New York Times ได้รายงานถึงอีกหนึ่งอาวุธลับเบื้องหลังเทคโนโลยี AI ของจีน ซึ่งนั่นก็คืออาชีพนักแปะป้ายข้อมูลผู้ทำงานอยู่ใน”โรงงานข้อมูล”ที่เริ่มเปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆภายในประเทศ

โรงงานข้อมูลเหล่านี้นั้นก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของบริษัทเทคโนโลยีต่างๆในการสร้างชุดข้อมูลเพื่อใช้ในระบบ AI เป็นต้นว่าหากบริษัทมีภาพถ่ายของขนมนานาชนิดและต้องการข้อมูลที่ระบุว่าแต่ละภาพนั้นคือภาพถ่ายของขนมชนิดใด พวกเขาก็สามารถว่าจ้างโรงงานข้อมูลให้ทำการ label ภาพถ่ายเหล่านี้ได้ ซึ่งเบื้องหลังของโรงงานข้อมูลคือนักแปะป้ายผู้นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์และคอยป้อนข้อมูลลงไปในคอมพิวเตอร์นั่นเอง

เป็นที่ทราบกันดีว่าจีนนั้นเป็นประเทศที่มีค่าแรงถูก ความสามารถในการสร้างชุดข้อมูลขึ้นมาเองเช่นนี้จึงนับเป็นจุดแข็งของวงการเทคโนโลยีจีนที่ประเทศอื่นยากจะเลียนแบบ AInnovation หนึ่งในบริษัทรับแปะป้ายข้อมูลเคยรับจ้างแปะป้ายรูปภาพ 20,000 ภาพในราคาเพียง 2-3,000 ดอลลาร์เท่านั้น และที่สำคัญ โรงงานของพวกเขาแปะป้ายรูปทั้งหมดเสร็จอย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน ด้วยน้ำพักน้ำแรงของพนักงานไม่ถึง 30 คน

นักแปะป้ายข้อมูลบางส่วนมองว่างานของพวกเขาก็เหมือนงานในโรงงานทั่วไปที่ซ้ำไปซ้ำมา แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือพวกเขาได้ใช้สมองอยู่บ้างในการระบุป้ายของข้อมูล ในขณะที่แรงงานหลายคนก็พบว่างานดังกล่าวนั้นน่าเบื่อ แต่อย่างน้อยเงินเดือนที่ได้รับก็สูงกว่างานใช้แรงงานทั่วไปโดยเฉลี่ย

ว่ากันว่า AI นั้นจะเข้ามาแทนตำแหน่งงานเดิมที่และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างแรงงานที่มีอยู่ และนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆที่ปรากฏขึ้นมาให้เราได้เห็นกันอย่างชัดเจน ท้ายที่สุดแล้วปัญญาประดิษฐ์อาจฉลาดมากพอที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ด้วยตัวเอง ทว่าหนทางนั้นยังคงอีกยาวไกล และในวันนี้ AI ยังคงต้องพึ่งพาการสอนจากมนุษย์อยู่