พาชมงาน LD Redefine Meet Up – เปิดมุมมองกับโปรเจกต์บล็อกเชนล้ำๆที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจ

0

เมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ทีมงาน ADPT ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน LD Redefine Meet Up ซึ่งเป็นงานจัดแสดงโปรเจกต์บล็อกเชนที่ได้รับการลงทุนโดยบริษัท LD Capital และ Genesis Capital จากประเทศจีน ทางทีมงานเห็นว่าเทคโนโลยีที่บริษัทต่างๆได้นำเสนอในงานนั้นน่าสนใจ และเปิดมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับการนำบล็อกเชนไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ จึงได้เขียนสรุปมาให้ผู้อ่านได้อ่านกันคร่าวๆในบทความนี้

ว่ากันว่าเมื่อกระแสความนิยมชื่นชมเทคโนโลยีใดสุดกู่ค่อยๆซาลง สิ่งที่จะยังยืนอยู่ได้ท่ามกลางความนิยมที่เสื่อมคลายก็คือเทคโนโลยีที่โดดเด่น มีประโยชน์​ และสามารถแก้ปัญหาได้จริง Blockchain ที่เคยได้รับความสนใจอย่างล้นหลามในช่วงปี 2017 กำลังก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปอย่างช้าๆ พร้อมการปรากฏตัวของเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เปิดมุมมองใหม่ให้กับการแก้ปัญหา

ก่อนอื่นก็จะขอพาไปทำความรู้จักกับผู้จัดงาน LD Redefine Meet Up ในครั้งนี้กันก่อน LD Capital นั้นเป็นบริษัทลงทุนที่เน้นในการลงทุนเชิงคุณค่า (VI) ให้กับบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี Blockchain ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงิน เกม คอนเทนต์ และ IoT ปัจจุบัน LD นั้นมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและเทคโนโลยีอยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และสิงคโปร์ และเคยได้ร่วมลงทุนกับโปรเจกต์ใหญ่ๆอย่าง Qtum, Vechain, และ Eos

ตัวแทนจาก LD Capital แนะนำความเป็นมาของบริษัท

ทางด้าน Genesis Capital นั้นเป็นผู้ลงทุนในอุตสาหกรรม Blockchain ที่มีเป้าหมายในการลงทุนในโปรเจกต์ระยะเริ่มต้นที่มีศักยภาพ ซึ่งนอกจากเงินลงทุนแล้ว Genesis Capital ยังมีโครงการให้คำปรึกษาสำหรับโปรเจกต์เพื่อช่วยให้พวกเขาเติบโตได้อย่างเต็มที่ โดยในปัจจุบัน Genesis Capital ก็เริ่มมีแผนการที่จะเข้ามาลงทนในตลาดไทยด้วย

บรรยากาศในงาน LD Redefine Meet Up นั้นเป็นไปอย่างสบายๆ มีผู้เข้าชมทั้งผู้ที่มีความสนใจในเทคโนโลยี นักลงทุน รวมไปถึงนักพัฒนาที่เข้ามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกับบริษัทผู้เข้าร่วมงาน โดยในงานนี้ มีบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี Blockchain ทั้งสิ้น 6 ราย จากประเทศจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

ARPA

ARPA เล่าให้เราฟังว่าเป้าหมายของพวกเขาคือการเป็น Privacy Layer ของบล็อกเชน โดยพวกเขาได้พัฒนาเครือข่าย Blockchain ที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมเครือข่ายนั้นสามารถนำข้อมูลจาก Node อื่นๆมาใช้ได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องรู้ว่าข้อมูลนั้นๆมีรายละเอียดอย่างไร เช่น ธนาคาร A B C ต้องการหาอัตราส่วนหนี้ของลูกค้ารายหนึ่ง พวกเขาก็สามารถส่งข้อมูลที่ตนมีอยู่เข้ามาในเครือข่าย ARPA เพื่อทำการคำนวณและรับคำตอบ โดยธนาคารอื่นๆไม่ต้องเห็นข้อมูลที่พวกเขามี

เทคโนโลยีเบื้องหลังการคำนวณโดยไม่เห็นข้อมูลนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Multi-party Computing (MPC) ซึ่งเป็นสาขาการวิจัยแขนงหนึ่งของ Cryptography – ARPA เห็นว่าเทคโนโลยีนี้จะมีประโยชน์ต่อความเป็นส่วนตัวของข้อมูล จึงศึกษา และนำมาพัฒนาเป็นระบบในเครือข่าย

ChainUp

ChainUp เป็นผู้ให้บริการติดตั้งเทคโนโลยี Blockchain ที่เล็งเห็นความสำคัญว่ามีธุรกิจจำนวนมากต้องการจะใช้งานเทคโนโลยี ทว่าก็ไม่มีความรู้เชิงเทคนิคมากพอ พวกเขาจึงสาขาเข้าเป็นผู้พัฒนา รวมไปถึงให้บริการแพลตฟอร์ม เช่น กระเป๋าเงิน Cryptocurrency ที่จะช่วยให้ธุรกิจมีระบบเป็นของตัวเองได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ผลงานของพวกเขาจนถึงปัจจุบันนั้นมีมากกว่า 150 โครงการ ซึ่งมากกว่า 20 โครงการมีการใช้งานอยู่บนระบบ Production แล้ว

GRABITY

ลำดับที่ 3 ของเราในวันนี้คือ GRABITY บริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ที่ตั้งใจจะพัฒนาเครือข่าย Blockchain รูปแบบใหม่ที่มีกลไกการยืมพลังการประมวลผลจากอุปกรณ์ของผู้คนในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ โดยจ่ายผลตอบแทนเป็น Token ของเครือข่าย

พวกเขามีไอเดียในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลในเครือข่ายนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้พื้นที่ในแต่ละ Node น้อยลง และเทคโนโลยีที่ช่วยให้เครือข่ายสามารถจัดเก็บและทำ Transaction ได้เร็วขึ้น ด้วยการแบ่งเครือข่ายออกเป็นเครือข่ายย่อยๆ ที่มี Node พิเศษทำหน้าที่จัดการอยู่ ทีม GRABITY เชื่อว่าเมื่อมี Blockchain ที่เร็วและเก็บข้อมูลได้ดีขึ้น จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและใช้งาน DApp อย่างแพร่หลาย และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอินเทอร์เน็ตจากที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

โดยทีม GRABITY นี้เองที่เป็นผู้ชนะในรายการ Block Battle ที่ ADPT เคยได้แนะนำให้ผู้อ่านลองรับชมกันเมื่อไม่นานมานี้

Dsion

Dsion ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทจากเกาหลีใต้ เจ้าของเทคโนโลยีเครือข่าย Blockchain ที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถลงทุนในสตาร์ทอัพได้อย่างโปร่งใสและมีคุณภาพ โดย Dsion จะเปิดรับสมัครสตาร์ทอัพที่สนใจเข้าร่วมแพลตฟอร์มจากทั่วโลก หลังได้รายชื่อแล้ว Sub-node ในเครือข่ายจะทำการโหวตรอบแรกว่าเงินของนักลงทุนนั้นควรลงทุนให้กับสตาร์ทอัพรายใด จากนั้น Master Node ก็จะทำการตัดสินใจเลือกสตาร์ทอัพที่จะลงทุนด้วย ซึ่งผู้เข้าร่วมในเครือข่ายของ Dsion จะได้รับปันผลตอบแทนรายปี

ปัจจุบัน Dsion นั้นมีธุรกิจอยู่ในแพลตฟอร์มแล้วทั้งสิ้น 4 ราย และจะเริ่มเปิดตัวใช้งานแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้

Contents Protocol

จะทำอย่างไรเมื่ออุตสาหกรรมบันเทิงอยากทำธุรกิจแบบ Data-driven แต่พวกเขากลับไม่มีข้อมูลในมือ? ทุกวันนี้เมื่อเรารับชมภาพยนตร์หรือซีรี่ส์สักเรื่อง ผู้ผลิตสื่อไม่มีทางทราบได้เลยว่าเราเป็นใคร พฤติกรรมในการดูของเรานั้นเป็นอย่างไร และปิดภาพยนตร์ไปกลางคันเพราะความไม่พอใจหรือเปล่า WATCHA บริษัทสตรีมมิ่งจากเกาหลีใต้จึงคิดเข้าแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้เครือข่าย Blockchain จัดเก็บและส่งต่อข้อมูลของผู้รับชมไปยังผู้ผลิต ทว่า Contents Protocol นั้นไม่ได้ขอข้อมูลจากผู้ชมฟรีๆ เพราะพวกเขาจะใช้ Token เข้ามาจูงใจให้ผู้ใช้อนุญาตให้แพลตฟอร์มจัดเก็บข้อมูลด้วย

ไอเดียของ Contents Protocols นั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสตูดิโอผู้ผลิตสื่อจากทั้งในประเทศเกาหลีใต้และต่างประเทศ เพราะนอกจากพวกเขาจะได้ข้อมูลลูกค้าไปวิเคราะห์กันแล้ว ยังมีระบบ Reward เจ้าของข้อมูลอย่างสมเหตุสมผลอีกด้วย

Pledge Camp

ผู้อ่านหลายท่านอาจรู้จักเว็บไซต์ระดมทุนให้นักประดิษฐ์อย่าง Kickstarter, IndieGoGo, และ GoFundMe ซึ่งช่วยให้ผู้มีความคิดสร้างสรรค์มีเงินทุนพัฒนาและผลิตสินค้าแม้ไม่ได้มีการตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการ ทว่าโปรเจกต์ในเว็บไซต์ระดมทุนในปัจจุบันก็ประสบปัญหาผลิตล่าช้าไม่ทัน Deadline อยู่บ่อยครั้ง และอำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจจ่ายหรือไม่จ่ายเงินก็อยู่ที่เว็บไซต์ระดมทุนทั้งสิ้น จะเป็นอย่างไรถ้าผู้ร่วมระดมทุนทุกคนมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าโปรเจกต์ควรได้รับเงินทุนในการพัฒนาต่อ หรือควรคืนเงินเพราะล่าช้าเกินความอดทนแล้ว Pledge Camp พยายามตอบคำถามนี้

Pledge Camp เป็นเครือข่ายระดมทุนบน Blockchain ที่ผู้สนับสนุนโปรเจกต์สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเงินทุนได้ตลอดเวลา พวกเขามีสิทธิ์โหวตเพื่อยุติโปรเจกต์เมื่อผลงานมีความล่าช้าจนเกินไป หรือปรับเปลี่ยน Deadline ตามความเหมาะสม เจ้าของโปรเจกต์สามารถประกาศถึงการระดมทุนบนแพลตฟอร์มนี้ได้โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำ อีกทั้ง Pledge Camp ยังมีแผนที่จะเปิดพื้นที่สำหรับผู้มีฝีมือได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือโปรเจกต์ เช่น เจ้าของโปรเจกต์จากยุโรปอาจว่าจ้างผู้ใช้ชาวไทยในการออกแบบ ซึ่งจะช่วยให้แพลตฟอร์มกลายเป็นชุมชนของ Creator อย่างแท้จริง

ปัจจุบัน Pledge Camp กำลังทำงานร่วมกับทีมนักออกแบบจาก Metalab (ผู้ออกแบบ Coinbase) เพื่อสร้างสรรค์หน้าตาการใช้งานของเว็บไซต์ และมีแผนที่จะเปิดตัวในช่วงปลายปีนี้