สัมภาษณ์พิเศษ Jerry Cuomo รองประธานบล็อกเชนจาก IBM – Hyperledger มีอะไรใหม่, ไทยอยู่ตรงไหน, อยากเริ่มต้นใช้บล็อกเชนต้องทำอย่างไร

0

ทีมงาน ADPT ได้มีโอกาสเข้าพูดคุยกับคุณ Jerry Cuomo ซึ่งเป็น IBM Fellow และรองประธานฝ่ายเทคโนโลยีบล็อกเชนของ IBM ถึงทิศทางของเทคโนโลยีบล็อกเชนและประสบการณ์การวางกลยุทธ์และนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ที่คุณ Cuomo ได้พบเจอมาในองค์กรทั่วโลก และได้สรุปมาให้ผู้อ่านได้ศึกษากันในบทความนี้

Hyperledger Fabric จะดีขึ้น ง่ายขึ้น ทำอะไรได้มากขึ้น และยืดหยุ่นขึ้น

Hyperledger นั้นเป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 โดย Linux Foundation ประกอบไปโครงการเทคโนโลยีบล็อกเชนแบบ Opensource และเครื่องมืออื่นๆที่เกี่ยวข้อง ชื่อหนึ่งที่เราอาจจะคุ้นเคยกันดีก็คือ Hyperledger Fabric โครงการ Opensource Permissioned Blockchain ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาให้ตอบโจทย์และมีมาตรฐานพร้อมนำไปใช้งานได้ในธุรกิจ ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า Hyperledger Fabric นั้นเป็น Permissioned Blockchain ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด และเป็นบล็อกเชนที่มีเครือข่ายทำงานอยู่มากที่สุดในคลาวด์เจ้าต่างๆ

สำหรับในปี 2019 นี้ Hyperledger Frabric ก็ได้เปิดตัวเวอร์ชันใหม่ล่าสุด 1.4 Stable Release ซึ่งเป็นเวอร์ชันแรกที่ Hyperledger ให้การรับรองว่าจะใช้งานได้เสถียรไม่ต้องอัพเดตครั้งใหญ่ไปอีก 1 ปีเต็ม ซึ่งการการันตีเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าทีมงาน Hyperledger Fabric นั้นมีความมั่นใจในเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้นในเวอร์ชันนี้

คุณ Cuomo ได้เล่าให้เราฟังว่า Hyperledger Fabric นั้นจะเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานในธุรกิจได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะมุ่งเน้นในการทลายกำแพงและลดข้อจำกัดในการใช้งานลง เช่นในเวอร์ชัน 1.4 ก็มีการเปิดตัว SDK (Software Development Kit) ใหม่ทีช่วยให้พัฒนาและติดตั้งบล็อกเชนได้ง่ายขึ้นทั้งสำหรับระบบทดลองและระบบใช้งานจริง และในอนาคต ก็จะพัฒนาให้ Fabric สามารถรองรับการทำงานที่มากขึ้นได้ถึง 10,000 transactions ต่อวินาที อีกทั้งยังจะเพิ่มเครื่องมืออำนวยความสะดวก เช่น Framework สำหรับการทำระบบ Token ซึ่งเป็น Use-case ที่ได้รับความนิยมมากสำหรับบล็อกเชน

และในอีกส่วนหนึ่ง Hyperledger Fabric ก็จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทำงานได้ในโครงสร้างหรือคลาวด์หลายๆชนิด และสามารถเชื่อมต่อกันได้ โดยทีม Hyperledger เชื่อว่าการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้มีทางเลือกที่หลากหลายนี้จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของเทคโนโลยี และช่วยให้ผู้ใช้เชื่อมั่นในชุมชน Hyperledger มากขึ้น

ประเทศไทยนับว่าก้าวหน้ามากในเทคโนโลยี Blockchain

คุณ Jerry Cuomo ได้แสดงความแปลกใจว่าองค์กรในไทยมีความตื่นตัวเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนมากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยต่างก็มีความรู้และไอเดียโครงการที่เกี่ยวกับบล็อกเชน หรือแม้กระทั่งเริ่มลงมือพัฒนาแอปพลิเคชันบล็อกเชนไปแล้ว ซึ่งต่างกับประเทศอื่นๆพอสมควร คุณ Cuomo ประเมินว่าไทยนั้นอาจนำหน้าประเทศกว่า 90% ของโลกในด้านบล็อกเชนเลยทีเดียว

รัฐบาลควรทำความเข้าใจและใช้บล็อกเชนมากกว่าจะกังวลถึงการกำกับดูแล

จากกระแสของ Cryptocurrency รัฐบาลในหลายๆประเทศก็ได้เริ่มมีนโยบายการกำกับดูแลที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับ Blockchain แล้ว คุณ Cuomo เชื่อว่าการกำกับดูแลควรจะเป็นไปตามลักษณะการใช้งาน และควรมุ่งเน้นไปที่การกำกับดูแลแอปพลิเคชันมากกว่า Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลัง รัฐบาลควรทำความเข้าใจเทคโนโลยี อาจเริ่มจากการลองนำมันไปใช้ช่วยในงานต่างๆ และรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนนักพัฒนาและองค์กรอื่นๆที่ใช้งานว่านโยบายนั้นควรออกมาในรูปแบบไหน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย

Do More – คนที่อยากเริ่ม ต้องลงมือทำเลย

การศึกษาเกี่ยวกับบล็อกเชน และการวางแผนนำมาใช้งานนั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจมาก ทีมงาน ADPT ถามถึงเคล็ดลับในการเริ่มต้นสำหรับธุรกิจ และคุณ Cuomo ก็ได้ให้คำตอบสั้นๆกับเราว่า “ลงมือทำ”

โดยปกติแล้ว ผู้คนมักเสียเวลาไปกับการศึกษาหาความรู้และการค้นหาไอเดียที่เหมาะสมกับบล็อกเชน แต่จากประสบการณ์ของคุณ Cuomo แล้ว การลงมือทำจะช่วยให้เรามีทิศทางในการเรียนรู้มากกว่า หากต้องการเริ่มต้นลงมือพัฒนาบล็อกเชนขึ้นตามไอเดียที่มีอยู่โดยไม่ต้องกังวลว่าไอเดียนั้นควรใช้บล็อกเชนหรือไม่ เพราะเมื่อลงมือทำไปเรื่อยๆ เราก็ย่อมได้เรียนรู้เกี่ยวกับบล็อกเชน และความรู้ตรงนั้นจะบอกเราเองว่าสิ่งไหนเหมาะไม่เหมาะ สิ่งไหนควรปรับ หรือไอเดียไหนที่เข้าท่า เพราะแม้แต่ไอเดียที่ดีก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลางทางอยู่เสมอ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ระหว่างทางเอง “ไม่มีโปรเจกต์ไหนที่โง่” คุณ Cuomo บอกกับเรา และมีคำแนะนำ 2 ข้อให้กับผู้ที่สนใจ คือ

  1. ลองวางหนังสือบล็อกเชนแล้วหันไปลงมือพัฒนาดู เมื่อลงมือทำแล้วก็จะเกิดการเรียนรู้และประสบการณ์จากการทำจะสอนเราเองว่าจะต่อยอดไปทางไหน
  2. ใช้แนวทาง Design Thinking เพื่อวางแผนถึงระบบที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี ทีมธุรกิจและเทคโนโลยีต้องร่วมมือกันตั้งเป้าหมายสำหรับโปรเจกต์เพื่อกำหนดทิศทางของโปรเจกต์ให้ชัดเจน

ในส่วนของผู้ที่ไม่ได้เป็นนักพัฒนาหรือเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี คุณ Cuomo กล่าวว่านอกจากเรียนรู้เกี่ยวกับระบบกระจายศูนย์ การเขียนโปรแกรม การพัฒนา การติดตั้งระบบ และการใช้งานแพลตฟอร์มกึ่งสำเร็จรูปที่เปิดให้ทดลองใช้แล้ว อาจต้องศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจของบล็อกเชนให้ดีด้วย บล็อกเชนนั้นเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อรวบรวมผู้คนที่มีเป้าหมายเดียวกันมาอยู่ในเครือข่าย ดังนั้นเศรษฐศาสตร์ในการสร้างแรงจูงใจและการตอบแทนก็มีความสำคัญไม่แพ้กันกับเทคโนโลยีของระบบ

2 ข้อควรระวังสำหรับโปรเจกต์ Blockchain

Blockchain นั้นเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆแล้วยังถือว่าใหม่มาก และโครงการที่ล้มเหลวก็มีให้พบเห็นอยู่ไม่น้อย เมื่อถามถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของคุณ Cuomo เขาได้ลองสรุปปัจจัย 2 ข้อที่ทำให้โปรเจกต์ Blockchain ล้มเหลว คือ

  1. โปรเจกต์มี Scope ที่กว้างเกินไป
  2. โปรเจกต์ที่พยายามแทนที่ระบบที่มีและใช้ได้ดีอยู่แล้ว

โดยคุณ Cuomo ได้แนะนำว่าการพัฒนาบล็อกเชนนั้นควรเริ่มจากระบบเล็กๆที่ประกอบไปด้วยสิ่งที่จำเป็นก่อนตามแนวคิด MVP (Minimum Viable Product) และ MVE (Minimum Viable Ecosystem) โปรเจกต์ขนาดเล็กนั้นพัฒนาให้เสร็จตามงบประมาณที่มีได้ง่ายกว่า และวัดผลได้เร็วกว่าว่าไอเดียที่มีเข้าท่าอย่างที่คิดหรือไม่

Decentralised เท่าไหนถึงจะพอ?​

Trust หรือความเชื่อถือนั้นเป็นคำศัพท์ที่ปรากฏตัวอยู่บ่อยครั้งในการอธิบายเทคโนโลยีบล็อกเชนหรือ DLT อื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่านอกจากคุณสมบัติของการกระจายศูนย์แล้ว บล็อกเชนยังเป็นระบบที่อาศัยความเชื่อถือจากผู้ใช้ในการสร้างเครือข่ายที่ทำงานได้ Bitcoin และ Ethereum นั้นเป็นตัวอย่างของเครือข่ายที่กระจายศูนย์แบบสุดโต่ง และสร้างความน่าเชื่อถือด้วยจำนวนผู้คนจำนวนมากในเครือข่าย ในขณะที่การใช้บล็อกเชนในธุรกิจต้องการระบบที่เป็นส่วนตัวกว่านั้น และอาจมีผู้ร่วมเครือข่ายเพียงไม่กี่ราย

คำถามที่คุณ Cuomo คิดว่าสำคัญและน่าขบคิด คือประเด็นของระดับความ Decentralised ที่เหมาะสมและพอเพียงที่จะสร้างความเชื่อถือและช่วยให้ระบบทำงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเด็นนี้ก็แฝงตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์อยู่แล้ว เช่นในระบบศาลของสหรัฐอเมริกา ผู้คนต่างก็กระจายอำนาจของตนและเชื่อว่าคณะลูกขุนจะสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับคดีความแทนพวกเขาได้ และเมื่อบล็อกเชนก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คำถามนี้ก็ย่อมสำคัญ

“Blockchain ไม่จำเป็นจะต้องพิสูจน์ตัวเอง”

ในระยะหลังมานี้ เทคโนโลยี Blockchain ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่าจะมีทางไปต่อแน่หรือ ตั้งแต่มูลค่าของ Cryptocurrency ที่ตกลงอย่างมาก เสียงวิจารณ์ว่าบล็อกเชนไม่แพร่หลายเท่าที่ควร และการที่เทคโนโลยีดังกล่าวถูกมองว่าเป็นเพียงเทคโนโลยีเพื่อการประชาสัมพันธ์บริษัทเท่านั้น มีการยกบล็อกเชนขึ้นเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอย่างอินเทอร์เน็ต และตั้งคำถามว่าบล็อกเชนนั้นเป็นของจริง หรือปลอม

สิ่งหนึ่งที่คุณ Cuomo ไม่ชอบเท่าไหร่กับเสียงวิจารณ์เช่นนี้ คือการตั้งความคาดหวังกับเทคโนโลยีบล็อกเชนที่อาจเป็นไปไม่ได้ในเร็ววัน และเมื่อบล็อกเชนทำไม่ได้ ผู้คนก็ไม่สนใจมันอีกต่อไป

“บล็อกเชนก็เป็นตัวมันเอง และนั่นก็ดีอยู่แล้ว มันไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองอีกต่อไป สิ่งที่มันทำนั้นสมเหตุสมผล รวบรวมกลุ่มคนมาและสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าผลลัพธ์รายบุคคล ไม่จำเป็นต้องมีใครมาโน้มน้าวคุณว่าสิ่งนี้สมเหตุสมผล”

“มันจะส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่กว่าอินเทอร์เน็ตไหม? เราก็คงได้เห็นกันในอนาคต แต่ความเห็นของผมคือ บล็อกเชนมีคุณสมบัติในระดับนั้น มันมีคุณสมบัติแน่นอน”


คุณ Jerry Cuomo เป็นหนึ่งในทีมผู้ก่อตั้ง WebSphere ซอฟต์แวร์เว็บแอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1998 ในยุคเริ่มแรกของอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง IBM Fellow และรองประธานฝ่ายเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่ที่ IBM ดูแลโครงการ