จับตามอง IoT – สัมภาษณ์พิเศษ Luc Remont รองประธานบริหาร Schneider Electric

0

ทีมงาน ADPT ได้มีโอกาสเข้าพูดคุยกับคุณ Luc Remont รองประธานบริหาร ฝ่ายปฏิบัติการระหว่างประเทศ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ถึงแผนการของ Schneider Electric ในปีนี้และอัพเดตเกี่ยวกับสถานการณ์ของเทคโนโลยี IoT ในธุรกิจไทยและทั่วโลก IoT ถูกนำไปใช้อย่างไร? มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง? ติดตามได้ในบทความนี้

เป้าหมายในปี 2019 คือมุ่งไปข้างหน้าใน Digital Journey

ที่ผ่านมานั้นชไนเดอร์ อิเล็คทริคได้พัฒนาแพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ธุรกิจทำงานได้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ IoT พลังงานสะอาด หรือในส่วนอื่นๆ สำหรับในปี 2019 คุณ Remont เชื่อว่าพวกเขาก็จะเดินหน้าต่อในภารกิจนี้เพื่อช่วยซัพพอร์ตธุรกิจให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

EcoStruxure โครงสร้าง IoT ที่มีการใช้งานแล้วกว่า 480,000 ไซต์งาน

EcoStruxure นั้นเป็นนวัตกรรมจากชไนเดอร์ อิเล็คทริคที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถวางเครือข่าย IoT ได้ง่าย และปลอดภัยยิ่งขึ้น แพลตฟอร์มดังกล่าวจะเข้ามาช่วยใน 6 องค์ประกอบหลักของ IoT อันได้แก่ ไฟฟ้า ระบบ IT การจัดการสถานที่ เครื่องจักร โรงงาน และกริดพลังงาน ทำให้ธุรกิจมีระบบที่เชื่อมต่อกันอย่างทั่วถึง สามารถควบคุมอุปกรณ์ที่ Edge ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบวิเคราะห์ข้อมูลในตัว และรองรับการเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ และแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้น

ปัจจุบัน EcoStruxure นั้นเป็นโครงสร้างเบื้องหลังของอุปกรณ์กว่า 1.6 ล้านชิ้นในไซต์งาน 480,000 แห่ง และหนึ่งในนั้นคือระบบรถไฟฟ้าใต้ดินในเมืองเซี่ยงไฮ้ที่มีผู้ใช้กว่า 10 ล้านรายในแต่ละวัน โดย EcoStruxure ได้เข้าไปช่วยให้ระบบการเดินรถนั้นมีการใช้พลังงานที่คุ้มค่า ปลอดภัย และสเถียร ให้บริการได้ต่อเนื่องไม่ติดขัดระหว่างวัน และมีระบบควบคุมตรวจสอบสถานะที่เชื่อถือได้ตลอด 24 ชั่วโมง

และในปี 2019 นี้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริคก็ตั้งเป้าหมายนำแพลตฟอร์มนี้เข้าช่วยธุรกิจที่ต้องการ Operation ที่มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย ปรับระบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง Digital Transformation

IoT ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ที่ไทยมีใช้งานแล้วหลายเจ้า

ภาพของเทคโนโลยี Internet of Things นั้นอาจยังเป็นภาพของเทคโนโลยีและเครือข่ายแห่งอนาคตที่ดูห่างไกลจากปัจจุบันอยู่มาก แต่ในตอนนี้ธุรกิจไทยจำนวนหนึ่งก็ได้เริ่มใช้งานแล้ว คุณ Remont เล่าให้เราให้ฟังถึงเคสตัวอย่างของ Eastwater Group ที่ได้นำแพลตฟอร์ม IoT ของชไนเดอร์ อิเล็คทริคไปช่วย Monitor อุปกรณ์และเครื่องจักรในระบบซึ่งทำให้ระบบมีความเสถียร มีประสิทธิภาพ และมีค่าใช้จ่ายน้อยลง

ในทำนองเดียวกัน Thai Oil ก็ได้วางเครือข่าย IoT ในโรงกลั่นของตนเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์กว่า 100,000 ชิ้นเข้าด้วยกัน พวกเขาใช้ซอฟต์แวร์ของชไนเดอร์เพื่อเกิดเป็นระบบ Asset Management ที่คอยวิเคราะห์ข้อมูล ควบคุมการทำงาน ตรวจจับความเสี่ยงและสร้างระบบ Automation ที่ทำให้โรงกลั่นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะก่อนหน้านี้ การดูแลระบบที่มีขนาดและองค์ประกอบมหาศาลนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

นอกจากนี้ Thai Oil ยังได้ใช้ข้อมูลที่ได้จากระบบ IoT ในการทำ Predictive Maintenance ที่จะช่วยทำนายว่าอุปกรณ์นั้นควรซ่อมบำรุงตอนไหนจึงจะส่งผลกระทบต่อการทำงานน้อยที่สุด ซึ่งการทำเช่นนี้ช่วยลดทั้ง Downtime และค่าใช้จ่าย

Industrial IoT (IIoT) เริ่มเกิดในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น

2 บริษัทไทยที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นนั้นอาจเป็นตัวอย่างอันดีให้กับแนวคิดของการนำ IoT เข้ามาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพของการดำเนินการที่เรียก Industrial IoT (IIoT) ทว่าในช่วงที่ผ่านมา คุณ Remont กล่าวว่า IIoT นั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแต่สำหรับอุตสาหกรรมที่มีระบบ Operation ซับซ้อนคาบเกี่ยวกันมาก เช่น อุตสาหกรรมการผลิต อีกต่อไป เริ่มมีการใช้ IIoT ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น และในไทยสำหรับลูกค้าของชไนเดอร์เองก็มีการใช้งานหลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

Predictive Maintenance เก่งขึ้นเรื่อยๆ

Predictive Maintenance นั้นเป็นเทคโนโลยีที่เราอาจเคยได้ยินแนวคิดกันมาพอสมควรแล้ว และในช่วงเวลาที่ผ่านมาเทคโนโลยีนี้ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในการทำนายว่าอุปกรณ์หรือระบบใดต้องการการบำรุงรักษา ผู้เชี่ยวชาญเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าควรเก็บข้อมูลในส่วนใด ใช้การวิเคราะห์แบบไหน และปัญหาใดบ้างที่มักเกิดขึ้น ประสบการณ์ในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ดีขึ้นนี้ทำให้ Predictive Maintenance ในปัจจุบันนั้นทรงประสิทธิภาพกว่าที่แล้วๆมา

คำแนะนำสำหรับธุรกิจไทย: เริ่มทีละส่วน

สำหรับธุรกิจที่กำลังสนใจในเทคโนโลยี IoT แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี คุณ Luc Remont แนะนำว่าให้ลองตั้งเป้าหมายก่อนว่าอยากจะปรับปรุงการดำเนินการในขั้นตอนไหนเป็นพิเศษ เช่น ลดเวลา Downtime ของระบบงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบ แล้วเริ่มจากเทคโนโลยีที่ช่วยในเรื่องนั้น และหากเป็นที่น่าพอใจ ก็ค่อยๆต่อยอดออกไปในส่วนอื่นๆ ซึ่งแนวคิดนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในธุรกิจ และในเมืองที่ต้องการเป็น Smart City