อาจกล่าวได้ว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่มาแรงที่สุดในปีนี้ และองค์กรทั้งหลายต่างก็ตั้งมั่นในการลงทุนและนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจของตน ทว่าเส้นทางการนำ AI ไปใช้นั้นก็ไม่ได้ง่ายดาย รายงานฉบับหนึ่งจาก PwC ที่ออกมาในช่วงปลายปี 2018 เผยว่าผู้บริหารเพียง 4% เท่านั้นที่รู้สึกว่าองค์กรประสบความสำเร็จในการนำ AI มาใช้
Bernard Marr นักกลยุทธ์ธุรกิจและนักเขียน Best Seller ได้กล่าวถึงกำแพง 4 ประการที่เขาได้พบบ่อยในการนำ AI ไปใช้ในธุรกิจ จากประสบการณ์การพูดคุยกับองค์กรที่กำลังทำ Digital Transformation อยู่
1. กำแพงวัฒนธรรม
มนุษย์นั้นมักทำอะไรเป็นกิจวัตรและการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่อะไรที่น่าแปลกใจ การเข้ามาของ AI ทำให้พนักงานในบางองค์กรรู้สึกว่าพวกเขากำลังสูญเสียกระบวนการทำงานไปให้ผู้ดูแลระบบ AI หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ และในบางครั้ง พวกเขาก็ไม่เห็นถึงความจำเป็นในการนำ AI เข้ามาช่วยงาน
คุณ Marr แนะนำว่าหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้คือการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ประเภทต่างๆแก่พนักงาน ตั้งแต่การประมวลผลภาษาธรรมชาติ การวิเคราะห์รูปภาพ ไปจนถึงการทำ Predictive Maintenance เมื่อชี้ให้พวกเขาเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับและสร้างความเข้าใจอันดีในเทคโนโลยี พนักงานในองค์กรก็จะเปิดรับ AI มากขึ้น
2. ความกลัว
AI แล้วเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆก็ยังนับว่าใหม่มาก และมีอีกหลายแง่มุมของมันที่พวกเราไม่อาจคาดการณ์ได้ ในบางองค์กร AI ถูกต่อต้านเพราะสมาชิกภายในองค์กรมีความกลัวใน AI ซึ่งอาจเป็นความกลัวว่า AI จะแย่งการควบคุมและทำหน้าที่ได้ดีกว่าตนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจเป็นความกลัวว่าวันหนึ่งมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วย AI ซึ่งทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ซึ่งองค์กรก็ควรสร้างความเข้าใจอันถูกต้องว่า AI และมนุษย์นั้นสามารถทำงานร่วมและส่งเสริมกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพได้
3. ความขาดแคลนผู้มีความสามารถด้าน AI
การขาดทักษะเป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนของธุรกิจที่ต้องการนำ AI ไปใช้ (และจริงๆก็มีความขาดแคลนแรงงานทักษะด้านการวิเคราะห์และใช้ข้อมูล และการทำ Digital Transformation ด้วย) สิ่งนี้เป็นขอขวดหลักที่ทำให้ธุรกิจไม่สามารถเข้าถึง AI ได้มากกว่าที่เป็นอยู่นัก ตลาดกำลังต้องการตัวผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เป็นอย่างมาก และผู้มีทักษะก็มักเลือกที่จะร่วมงานกับบริษัทใหญ่ๆที่มีการลงทุนใน AI อย่างแข็งแกร่งอยู่แล้วเพราะมองว่าเป็นโอกาสท่ีดีกว่า
อย่างไรก็ตาม คุณ Marr มองว่ากลไก Demand และ Supply ของตลาดจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้จนหมดไปในที่สุด เพราะในเมื่อมีความต้องการและมีค่าตอบแทนที่สูง แรงงานที่มีทักษะก็ย่อมขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว อีกทั้งยังมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ AI สำเร็จรูปให้องค์กรได้ใช้งานโดยไม่ต้องพึ่ง Data Scientist มากนัก ดังนั้นในอนาคต ทั้งความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่น้อยลงและแรงงานที่มากขึ้นก็จะลดความรุนแรงของปัญหานี้ไป
4. การขาดกลยุทธ์ในการประยุกต์ใช้ AI ที่ดี
เราอาจมองได้ว่าการขาดกลยุทธ์ที่ดีนั้นเป็นผลพวงมาจากปัญหาข้างต้นที่ได้กล่าวไป ซึ่งเมื่อไม่มีการโอบรับ AI จากสมาชิกในองค์กร ไม่มีผู้ที่มีความสามารถ และไม่มีความเข้าใจถึงคุณค่าของ AI โครงการที่ออกมาก็จะไม่ได้ถูกวางแผนอย่างครอบคลุม ไม่สามารถตอบโจทย์เป้าหมาย หรือแก้ปัญหาที่ธุรกิจกำลังเผชิญ และไม่สามารถเดินทางในเส้นทางเดียวกับองค์กรและธุรกิจตามที่ได้วางแผนไว้
การวางแผนระดับกลยุทธ์นั้นหมายถึงการทำความเข้าใจกับเป้าหมายของการใช้ AI อย่างถ่องแท้ และความเข้าใจในการทำงานของระบบตั้งแต่การเริ่มเก็บข้อมูลไปจนถึงการนำความรู้ที่ได้จากข้อมูลไปสร้างคุณค่า การวางแผนที่ชัดเจนทั้งด้านกลยุทธ์การดำเนินการ การสร้างความเข้าใจต่อฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง และเป้าหมายและประโยชน์ที่จะได้รับจะทำให้โครงการ AI ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เม็ดเงินที่ลงทุนไปได้ใช้อย่างคุ้มค่า สามารถวัดผลได้เสมอว่าเป็นไปตาม KPI ที่ตั้งไว้หรือไม่ และมีภาพที่เข้าใจตรงกันว่าความสำเร็จของโครงการหมายถึงอะไร