สำนักข่าว Science and Technology Daily ของจีนรายงานถึงแผนการพัฒนาและปล่อยสถานีพลังงานขนาดเล็กขึ้นบนชั้นบรรยากาศในช่วงปี 2021-2025 เพื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าและส่งกลับมายังโลก
Science and Technology รายงานว่านักวิทยาศาสตร์จีนนั้นมีแผนการที่จะพัฒนาและปล่อยสถานีพลังงานขนาดเล็กขึ้นบนชั้นบรรยากาศในระหว่างปี 2021 ถึง 2025 ก่อนจะขยาความสามารถในการผลิตของสถานีให้ถึงระดับเมกะวัตต์ภายในปี 2030 และในระดับกิกะวัตต์หรือมากกว่าภายในปี 2050
เป็นที่สันนิษฐานกันว่าสถานีพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศนั้นจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าบนพื้นผิวโลก เนื่องจากในอวกาศนั้นสถานีพลังงานจะได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่โดยไม่มีชั้นบรรยากาศขวางกั้น และสามารถรับแสงได้ตลอดไม่มีช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน โดย China Academy of Space Technology (CAST) กล่าวว่า สถานพลังงานจะสามารถผลิตพลังงานได้ 99% ของเวลาทำการ และมีความเข้มข้นพลังงานสูงกว่าสถานีบนโลกถึง 6 เท่า
สถานีพลังงานที่ว่านี้จะรับแสงอาทิตย์และผลิตไฟฟ้าในอวกาศ ก่อนจะส่งตรงกลับมายัง Grid บนพื้นผิวโลกผ่านคลื่นไมโครเวฟหรือแสงเลเซอร์
อย่างไรก็ตาม ในการจะทำเช่นนี้ สถานีพลังงานดังกล่าวจะต้องมีน้ำหนักสูงราว 1,000 ตัน ทำให้การส่งสถานีพลังงานขึ้นไปบนชั้นอวกาศมีความท้าทายเป็นอย่างมาก ซึ่งในขณะนี้นักวิจัยก็กำลังพิจารณาการสร้างสถานีพลังงานขึ้นบนอวกาศเสียเลยด้วยการใช้หุ่นยนต์และเครื่องปรินท์ 3 มิติ
ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆในโลก เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ก็มีโครงการวิจัยสถานีพลังงานบนอวกาศในลักษณะนี้เช่นกัน โดยในปี 2015 ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการใช้เปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าเป็นคลื่นไมโครเวฟและเปลี่ยนคลื่นนั้นกลับเป็นอิเล็กตรอนอีกครั้ง และในปี 2018 ที่ผ่านมา Caltech ก็ประสบความสำเร็จในการส่งพลังงานแสงอาทิตย์กลับโลกผ่านคลื่นวิทยุ