AI แปลเสียงร้องของเด็กทารกได้

0
Newborn crying baby boy. New born child tired and hungry in bed under blue knitted blanket. Children cry. Bedding for kids. Infant screaming. Healthy little kid shortly after birth. Cable knit textile (Newborn crying baby boy. New born child tired and

เด็กทารกร้องไห้เพราะรู้สึกไม่สบายตัวหรือเจ็บปวด แต่บ่อยครั้งก็เปล่งเสียงร้องเวลาหิวหรือง่วงนอน ซึ่งพ่อแม่โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่อาจจะไม่เข้าใจว่าเจ้าตัวเล็กต้องการจะสื่ออะไร ตอนนี้กลุ่มนักวิจัยจาก Northern Illinois University สหรัฐอเมริกาได้สร้างวิธีที่ใช้แยกเสียงร้องระหว่างเสียงร้องปกติและเสียงร้องที่ผิดปกติได้ เช่น เสียงร้องที่แสดงอาการป่วยซ่อนเร้นอยู่ โดยใช้ AI เข้าช่วย

แม้ว่าเสียงร้องของเด็กทารกแต่ละคนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ก็มีลักษณะแบบเดียวกันบ้าง ทีมวิจัยได้พัฒนาอัลกอริธึมที่อิงจากระบบรู้จำเสียงอัตโนมัติที่มีอยู่แล้วมาใช้ตรวจจับและระบุลักษณะเสียงร้องของเด็กทารกพร้อมใช้เทคนิคที่เรียกว่า การตรวจจับแบบบีบอัด (compressed sensing) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถสร้างสัญญาณขึ้นมาใหม่จากข้อมูลที่กระจายตัว โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงพื้นหลังในระดับสูง

อัลกอริธึมวิเคราะห์คลื่นเสียงของเสียงร้องของเด็กเพื่อมองหาคุณสมบัติเรื่องความดัง ระดับเสียง และน้ำเสียง ที่ตรงกับฐานข้อมูลของเสียงร้องทารกที่บันทึกและระบุไว้ก่อนหน้านี้โดยพยาบาลเด็กแรกเกิดและผู้ดูแลที่มีประสบการณ์ ตัวอย่างเช่น เสียง “เน” แปลว่า “หิว” เพราะปกติแล้วทารกจะมีปฏิกิริยาการดูด และลิ้นจะไปแตะเพดานปาก จึงสร้างเสียง “เน” ขึ้นมา เช่นเดียวกัน เสียง “เอ” มีความหมายว่า เด็กต้องการเรอ ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังให้นมเสร็จ

Prof. Lichuan Liu กล่าวว่า “เสียงร้องเด็กทารกก็เหมือนอีกภาษาหนึ่งที่ต้องมีข้อมูลที่สื่อถึงสุขภาพในแต่ละเสียงร้อง ความต่างของแต่ละเสียงก็มีความหมาย ความแตกต่างนี้ก็แสดงออกมาผ่านคุณสมบัติของเสียงร้องที่ต่างกันออกไป การที่จะระบุและใช้ประโยชน์ข้อมูลนั้นได้ เราก็ต้องแยกคุณสมบัติเหล่านั้นออกมาและเก็บข้อมูลที่ได้”

ทีมนักวิจัยกล่าวว่า วิธีนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อทั้งพ่อแม่ที่บ้านและแพทย์ผู้วินิจฉัยอาการป่วยของเด็กทารกได้ และหวังว่าวิธีนี้จะนำไปใช้อย่างกว้างขวางเพื่อช่วยวงการแพทย์ด้านอื่นๆ ที่ต้องพึ่งประสบการณ์ในการช่วยตัดสินใจ โดย Prof. Liu เสริมว่า “เป้าหมายสูงสุดคือ อยากให้มีเด็กทารกที่สุขภาพดีขึ้นและพ่อแม่และผู้ดูแลก็มีความกดดันน้อยลง ทั้งนี้ เราก็คาดหวังความร่วมมือจากโรงพยาบาลและสถานวิจัยทางการแพทย์เพื่อเก็บข้อมูลมากขึ้น”