ครูอาจารย์ไม่ได้ทราบเสมอไปว่าวิธีการสอนของตนนั้นมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ โดยครูมักจะถามคำถาม ส่งแบบทดสอบให้ทำ แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าเป็นความผิดของใครที่เนื้อหาที่สอนไปนั้นส่งไปไม่ถึงผู้เรียน จุดนี้เองที่ AI อาจมีบทบาทเข้ามาช่วยได้ โดยนักวิจัยจาก Dartmouth College ได้สร้างอัลกอริธึมระบบเรียนรู้ที่วัดการทำงานในสมองเพื่อดูว่าผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาที่เรียนได้ดีระดับไหน
ทีมวิจัยเริ่มจากนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ระดับต้นและกลางทำแบบทดสอบมาตรฐานและตอบคำถามเกี่ยวกับรูปภาพขณะนั่งอยู่ในเครื่องสแกนเนอร์ fMRI จากตรงนั้นเอง ทีมวิจัยก็ใช้อัลกอริธึมสร้าง “คะแนนระบบประสาท” ที่คาดการณ์ความสามารถของนักศึกษา ยิ่งส่วนของสมองปรากฏการทำงานมากขึ้น ยิ่งง่ายต่อการบอกได้ว่านักศึกษาเข้าใจเนื้อหาหรือไม่
แน่นอนว่าจะไม่มีการสแกนสมองระหว่างการเรียนการสอน และงานวิจัยที่มีอยู่ก็ยังมีข้อจำกัด ข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือ Dartmouth เจาะจงงานวิจัยเฉพาะการเรียนแบบ STEM จึงไม่แน่ชัดว่าสมองจะมีปฏิกิริยาตอบสนองแบบเดียวกันหรือไม่ในชั้นเรียนวรรณคดี คะแนนระบบประสาทก็ประยุกต์ใช้กับการแสดงความรู้ในวงแคบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นี่อาจช่วยครูผู้สอนให้ปรับการเรียนการสอนที่เหมาะกับนักเรียนส่วนใหญ่ก่อนสอบจริงได้