กังหันลมถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาดชั้นเยี่ยม แต่ด้วยความเรียบง่ายนั้นก็มาพร้อมกับระบบอันซับซ้อนที่เสื่อมลงได้เช่นเดียวกับระบบอื่นๆ และต้องเผชิญกับความล้มเหลวในการทำงานในที่สุด นักวิจัยจาก Sandia National Labs จึงได้สร้างหุ่นยนต์ที่สามารถตรวจสอบใบพัดขนาดใหญ่ได้อัตโนมัติ เพื่อช่วยคงสภาพการทำงานของระบบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดได้
กังหันลมที่ตั้งตระหง่านอยู่ต้องเผชิญกับอากาศแปรปรวน อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงฉับพลัน หรือแม้แต่ถูกฟ้าผ่า จึงทำให้เกิดความเสียหายได้เนื่องจากใช้งานมาเป็นเวลานาน และแน่นอนว่ากังหันลมต้องได้รับการตรวจสอบซ่อมบำรุงอย่างสม่ำเสมอ แต่การกระทำเช่นนั้นได้นั้นยากและทำได้เพียงระดับผิวเผิน ประการหนึ่งคือ ตัวใบพัดขนาดใหญ่นี้ติดตั้งอยู่ในที่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยาก เช่น บริเวณห่างจากชายฝั่ง นอกจากนี้ยังต้องปีนขึ้นไปสูงหลายฟุตเพื่อตรวจสอบ ซึ่งนับว่าอันตรายเป็นอย่างมาก อีกทั้งผู้ตรวจสอบยังเห็นความเสียหายได้เพียงแค่ระดับผิวเผิน บางครั้งอาจเห็นแค่รอยแตกของใบพัด แต่ความจริงแล้วอาจมีความเสียหายที่รุนแรงกว่านั้นอยู่ก็เป็นได้
ดังนั้น การตรวจสอบอย่างละเอียดกว่าจึงจำเป็น และนั่นก็เป็นจุดที่ทีมนักวิจัยร่วมกับ International Climbing Machines and Dophitech ได้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ ผลลัพธ์คือ หุ่นยนต์คลานได้ที่สามารถเคลื่อนตัวไปตามใบพัดอย่างช้าๆ แต่สามารถเก็บรายละเอียดได้ทั้งจากการมองเห็นและการถ่ายภาพอัลตราโซนิก
การตรวจสอบด้วยการถ่ายภาพแบบปกติจะช่วยให้เห็นรอยแตกหรือรอยขูดบนใบพัดได้ แต่ระบบอัลตราโซนิกจะเจาะลึกเข้าไปยังตัวใบพัด ทำให้สามารถตรวจพบความเสียหายชั้นภายในได้ดีกว่าที่เห็นแค่เพียงภายนอก หุ่นยนต์ยังสามารถเคลื่อนตัวได้อัตโนมัติโดยขยับทีละนิดคล้ายๆ กับเครื่องตัดหญ้า จากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง จากบนลงล่าง
แม้ว่าหุ่นยนต์นี้จะทำงานได้ช้า และต้องมีคนคอยคุมการทำงาน แต่ในอนาคตทีมวิจัยอาจสร้างหุ่นเพิ่มใช้ติดกับตัวใบพัดแต่ละอันและปล่อยให้มันทำงานไปตามปกติ แล้วคนค่อยกลับมาตรวจดูหลังจากผ่านไปสองสามชั่วโมงหรือหลายวัน
อีกวิธีหนึ่งที่นักวิจัยคิดขึ้นมาคือ การใช้หุ่นโดรนบินสำรวจที่มาพร้อมกับกล้องความละเอียดคมชัดสูงและเซ็นเซอร์อินฟราเรดเพื่อตรวจจับความร้อนในใบพัด แนวคิดคือเมื่อความร้อนจากแสงอาทิตย์กระจายไปยังวัสดุของใบพัด จุดที่มีความเสียหายใต้พื้นผิวใบพัดก็จะเกิดการกระจายความร้อนที่ผิดปกติ จึงสามารถตรวจพบส่วนที่เสียหายได้ง่ายขึ้น
จากการใช้หุ่นยนต์เข้าช่วยตรวจสอบนี้ ก็สามารถทำให้ทีมงานรู้และเห็นภาพได้ว่าส่วนไหนของกังหันลมต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด และไม่ต้องถึงขั้นเสี่ยงชีวิตเพื่อเข้าไปตรวจสอบด้วยตัวเอง