นักวิจัยจาก Stanford University ได้ออกแบบแว่น autofocals ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของนัยน์ตาและปรับโฟกัสตามสิ่งที่คุณมองดูได้อัตโนมัติ ซึ่งอาจเป็นทางออกที่ดีกว่าเลนส์ทรานซิชั่นหรือเลนส์โปรเกรสซีฟ
ผู้เขียนงานวิจัยนี้หมายเหตุไว้ว่า ความสามารถของมนุษย์ในการปรับโฟกัสระยะใกล้ค่อยๆ แย่ลงเพราะเลนส์ตาแข็งขึ้น หรือที่เรียกว่า ภาวะสายตายาว ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงวัย 45 ปี และส่งผลต่อคนนับหลายพันล้าน จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลายๆ คนในช่วงวัยกลางคนต้องเริ่มใส่แว่นอ่านหนังสือ เลนส์โปรเกรสซีฟ หรือแว่นโมโนวิชั่น
แต่เลนส์ประเภทเหล่านั้นก็ยังไม่ใช่ทางออกซะทีเดียว บางทีก็ทำให้ผู้สวมแว่นต้องคอยขยับศีรษะอย่างไม่เป็นธรรมชาติ เช่น ต้องเอียงคอเพื่อมองกระจกข้างขณะขับรถเนื่องจากว่าเลนส์โปรเกรสซีฟไม่ครอบคลุมการมองเห็นจากด้านข้าง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่ผู้สวมแว่นจะบาดเจ็บจากการล้มได้ นักวิจัยจึงแนะว่า แว่น autofocals นี้จะเป็นคำตอบที่ดีกว่า
แว่นชนิดนี้อาศัยนัยจากการทำงานของเลนส์ตา โดยเลนส์ของแว่นนั้นมีของเหลวที่ขยายและหดตามการเปลี่ยนแปลงของนัยน์ตา และมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของนัยน์ตาเพื่อดูว่าผู้สวมแว่นมองดูอะไร นักวิจัยยังสร้างซอฟต์แวร์ที่ดึงข้อมูลการเคลื่อนไหวของดวงตาเพื่อทำให้แน่ใจว่าตัวเลนส์จะโฟกัสตรงกับที่ผู้สวมแว่นจ้องอยู่
กลุ่มผู้มีสายตายาวจำนวน 56 คน ได้ทดลองใส่แว่น autofocal และพบว่าแว่นดังกล่าวมีประสิทธิภาพกว่าแว่นอ่านหนังสือเลนส์โปรเกรสซีฟ แต่ด้วยขนาดและน้ำหนักของตัวแว่นพร้อมระบบภายในจึงดูเหมือนชุดหูฟัง VR มากกว่าแว่นสวมใส่ปกติทั่วไป ดังนั้น คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าแว่น autofocal จะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ขนาดกะทัดรัด ประหยัดพลังงาน และสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน