ระบบสุขภาพและการแพทย์ทุกวันนี้นั้นผลิตข้อมูลราวหนึ่งล้านล้านกิกะไบต์ต่อปีทั้งจากระบบการแพทย์ดั้งเดิม เช่น โรงพยาบาล และนวัตกรรมใหม่ๆ เช่นสายรัดข้อมือสุขภาพ ปริมาณข้อมูลที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลเช่นนี้สร้างโอกาสทางธุรกิจและความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีใหม่ๆมากมาย โดย ZS บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ได้สรุปเทรนด์ในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เกิดขึ้นจากปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลไว้ 4 ข้อ ดังนี้
1. การทำ Segmentation ผู้ป่วย
การทำ Segmentation นั้นเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญสำหรับการวางแผนการให้บริการ โดยแต่ก่อนนั้นเรามักได้ยินเรื่องราวของการแบ่งกลุ่มคนออกตามช่วงอายุ เพศ หรือพฤติกรรม แต่ในปัจจุบัน มีอีกเกณฑ์หนึ่งที่กำลังเป็นเทรนด์น่าจับตามอง คือการแบ่งกลุ่มคนตามความเสี่ยง
ตัวอย่างหนึ่งของบริษัทที่ใช้เกณฑ์นี้ก็คือ Anthem ซึ่งได้สร้างระบบวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย ทั้งประวัติการเข้ารักษา ประวัติการตรวจจากห้องทดลอง และอื่นๆ เพื่อคาดการณ์ว่าผู้ป่วยแต่ละรายมีความเสี่ยงที่จะต้องรับการรักษาฉุกเฉินหรือมีอาการป่วยเรื้อรังมากน้อยแค่ไหน การแบ่งกลุ่มเช่นนี้ช่วยให้พวกเขานำเสนอบริการทางการแพทย์และบริการอื่นๆ เช่น โครงการโค้ชสุขภาพ ให้กับผู้คนในแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. รูปแบบการให้บริการด้านสุขภาพ
เมื่อข้อมูลมีเพิ่มมากขึ้น รูปแบบการให้บริการด้านสุขภาพก็ได้เปลี่ยนจากเดิมที่เน้นการรักษาอาการเจ็บป่วย ไปเป็นการเสริมสร้างและดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ ดังนั้นผู้ให้บริการสุขภาพหลายรายจึงเน้นไปที่การพัฒนาโครงการเชิงสังคม เช่น การให้การศึกษา การป้องกัน และการแก้ไขเบื้องต้นด้วยตัวเอง
Cityblock บริษัทที่อยู่ภายใต้ร่มของ Alphabet (Google) ก็เป็นหนึ่งบริษัทที่โฟกัสไปที่จุดนี้ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลในชุมชนยากจนและด้อยโอกาสมาวิเคราะห์ออกมาเป็น Dashboard แสดงผลกับผู้รับผิดชอบด้านสาธารณสุขในชุมชนสามารถตรวจสอบและวางแผนได้โดยง่ายว่าบริการแบบใดจะสอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้อยู่อาศัย โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการป้องกันโรคภัยก่อนที่จะเจ็บป่วยจริง
3. ความร่วมมือระหว่างองค์กร
คุณค่าของข้อมูลที่เพิ่มมาในปัจจุบันนั้นทำให้หลายองค์กรที่เคยเป็นคู่แข่งต้องหันมาจับมือกันเพื่อความครบถ้วนและประสิทธิภาพสูงสุดของการให้บริการ เช่น Pfizer ที่ขอซื้อข้อมูลโรคมะเร็งจาก Flatiron ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Roche ที่เป็นคู่แข่งโดยตรง หรือการเปิดแพลตฟอร์ม Open Data ในโครงการ Yoda ของมหาวิทยาลัย Yale ที่มีคู่แข่งทางการค้าหลายรายเข้าร่วมแชร์ข้อมูล
4. สร้างคุณค่าให้ R&D ด้วยข้อมูล
ข้อมูลที่มีคุณภาพดีขึ้นนั้นสามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้มากขึ้นไปอีก และหลายๆองค์กรก็เริ่มมีการนำข้อมูลมาใช้ในรูปแบบใหม่ๆในทุกส่วนของขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยี Machine Learning ซึ่งมีพื้นฐานมาจากข้อมูล การจัดตั้งบริษัทเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัยทางการแพทย์อย่าง Insitro หรือการสร้างระบบจำลองทางชีววิทยาด้วยข้อมูลและกำลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ หรือการเก็บข้อมูลให้มากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจประสิทธิภาพของยาที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง เป็นต้น ความสามารถในการรวบรวม ทำความสะอาด เตรียมข้อมูลให้พร้อมใช้งาน และการหาแหล่งข้อมูลใหม่ และข้อมูลรูปแบบใหม่ๆ จะเข้ามาเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในอนาคต