คงไม่มีอะไรจะชวนหงุดหงิดไปกว่าการพยายามดูวีดีโอขณะที่ต้องแย่งอินเทอร์เน็ตกับผู้ใช้งานคนอื่นอีกแล้ว ยิ่งตอนที่คนในบ้านเดียวกันพยายามโหลดคลิปดูวีดีโอในเวลาเดียวกัน การกดข้าม รอโหลด และดูภาพแตก ทั้งหมดนี้ทำลายประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์จนหมดสนุก แต่ทีมวิจัยจาก MIT มีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้งานหลายๆ คนร่วมใช้การเชื่อมต่อ WiFi ที่มีจำกัดได้
ทีมวิจัยจาก Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory (CSAIL) ได้พัฒนาระบบ Minerva ซึ่งช่วยวิเคราะห์วีดีโอก่อนเล่นเพื่อตรวจดูว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหนหากเล่นด้วยคุณภาพที่ต่ำลง
โปรโตคอลดั้งเดิมสำหรับการแชร์ WiFi นั้นจะแบ่งช่วงความถี่ (bandwidth) ตามจำนวนผู้ใช้ ดังนั้นหากคุณกำลังพยายามชมการแข่งกีฬาแบบ HD ทางโทรทัศน์และลูกของคุณก็พยายามดูการ์ตูนบนมือถืออยู่ ก็ต้องแบ่งช่วงความถี่ที่มีอยู่กันคนละครึ่ง สำหรับเด็กอาจจะไม่เป็นไร แต่สำหรับคุณอาจจะแย่หน่อย เพราะวีดีโอที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วอย่างการแข่งขันกีฬาต้องใช้ช่วงความถี่สูงกว่าวีดีโอประเภทอื่นอย่างการ์ตูน จึงทำให้การรับชมวีดีโอนั้นสะดุดได้
แต่ Minerva สามารถวิเคราะห์วีดีโอทั้งสองประเภทนี้ได้แบบออฟไลน์เพื่อดูว่าวีดีโอใดควรได้รับช่วงความถี่มากกว่า และวีดีโอใดสามารถใช้ช่วงความถี่ที่ต่ำกว่าได้โดยไม่กระทบกับคุณภาพวีดีโอ จากนั้นโปรโตคอลจะกำหนดช่วงความถี่ให้ตามความต้องการของผู้ใช้ที่ต่างกัน และคอยปรับตามแต่ละเวลาให้ตรงกับเนื้อหาวีดีโอที่เล่นอยู่
จากการทดลองใช้งานจริง Minerva สามารถลดเวลาบัฟเฟอร์ได้เกือบครึ่ง และในหนึ่งในสามของการทดสอบก็สามารถพัฒนาคุณภาพการเล่นวีดีโอได้เทียบเท่ากับการเปลี่ยนจากความคมชัด 720p เป็น 1080p นอกจากนี้ระบบยังไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะในครัวเรือนเท่านั้น แต่หลักการนี้สามารถนำไปใช้กับจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบใช้งานร่วมกันได้ทั่วพื้นที่ ซึ่งเหมาะสำหรับบริษัทอย่าง Netflix และ Hulu ที่ต้องให้บริการวีดีโอแก่ผู้ใช้จำนวนมหาศาล
ระบบสามารถใช้งานกับผู้ให้บริการวีดีโอได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ใดๆ ซึ่งสามารถแทนที่ตัวโปรโตคอลแบบ TCP/IP มาตรฐานได้เลย