ทีมนักวิจัยจาก MIT ได้พัฒนาระบบ AI ที่สามารถอัปเดตข้อความในบทความ Wikipedia ที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงปัจจุบันโดยยังคงสำนวนภาษามนุษย์อยู่ ซึ่งช่วยลดเวลาการทำงานของบรรณาธิการในการตรวจสอบข้อมูลเอง
Wikipedia มีบทความนับหลายล้านบทความที่ต้องได้รับการอัปเดตอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้มีข้อมูลสดใหม่อยู่เสมอ ซึ่งนั่นต้องข้องเกี่ยวกับการขยายบทความเพิ่ม การปรับเขียนใหม่ หรือการปรับเปลี่ยนข้อมูลปกติ เช่น การอัปเดตจำนวนตัวเลข วันที่ ชื่อ และสถานที่ ทั้งหมดนี้เป็นงานที่อาสาสมัครทั่วโลกใช้เวลาแก้ไขข้อมูลเหล่านี้
ในงานวิจัยนำเสนอที่งานประชุม AAAI Conference นักวิจัยได้อธิบายระบบสร้างข้อความที่ระบุและแทนที่ข้อมูลจำเพาะในประโยคที่เกี่ยวข้อง โดยยังคงลักษณะภาษาให้เหมือนกับที่คนเขียนและแก้ไข
แนวคิดคือ คนจะพิมพ์ข้อความแบบไม่มีโครงร่างที่มีข้อมูลล่าสุดโดยไม่กังวลเรื่องสำนวนภาษาและไวยากรณ์ จากนั้นระบบจะค้นหาใน Wikipedia ระบุหน้าและข้อความที่มีข้อมูลเก่า แล้วเขียนขึ้นมาใหม่แบบภาษามนุษย์
ระบบยังสามารถนำไปใช้แทนชุดข้อมูลที่ใช้ฝึกตรวจจับข่าวปลอมได้ ซึ่งน่าจะช่วยลดอคติและเพิ่มความแม่นยำ อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีนี้อาจยังไม่พร้อมใช้เสียทีเดียว ผู้ที่ให้คะแนนความแม่นยำของ AI ได้ให้คะแนนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4 จาก 5 ในเรื่องการอัปเดตข้อเท็จจริง และ 3.85 จาก 5 ในเรื่องไวยากรณ์ ซึ่งดีกว่าระบบอื่นๆ ที่สร้างข้อความ แต่ความแตกต่างก็ยังคงเห็นได้บ้าง
ทั้งนี้ นักวิจัยกล่าวว่าในอนาคตน่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบที่ระบุและใช้ข้อมูลล่าสุดจากเว็บทั่วไปได้เลยเพื่อเขียนประโยคใหม่ขึ้นมาในบทความ Wikipedia ให้สอดคล้องกับข้อมูลอัปเดต