เทคโนโลยีรถขับเคลื่อนด้วยตัวเองพัฒนามาได้ไกลแล้ว แต่ก็ยังสะดุดเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศย่ำแย่ แต่ทีมวิจัยจาก MIT CSAIL อาจมีทางออกสำหรับปัญหานั้นด้วยการพัฒนาวิธีที่ช่วยให้ยานยนต์อัตโนมัติ “มองเห็น” ทางโดยวาดแผนที่สิ่งที่อยู่ใต้ถนนด้วยเครื่องหยั่งความลึกด้วยสัญญาณเรดาร์ (Ground Penetrating Radar หรือ GPR)
ยานยนต์อัตโนมัติส่วนใหญ่ใช้เซนเซอร์ LIDAR และ/หรือกล้องเพื่อดูตำแหน่งของรถบนถนน แต่กล้องอาจถูกบดบังทัศนียภาพด้วยสภาพแสงหรือป้ายและเครื่องหมายบอกเลนบนถนนถูกหิมะปกคลุม และ LIDAR ก็มักจะแม่นยำน้อยลงในสภาพอากาศรุนแรง ในทางกลับกัน GPR นั้นจะส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปยังพื้นผิวเพื่อวัดค่าดิน หินและรากไม้รวมกัน ข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกแปลงเป็นแผนที่สำหรับยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองต่อไป
ระบบที่ใช้ GPR ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Localizing Ground Penetrating Radar พัฒนาใน MIT Lincoln Laboratory นั้นมีข้อได้เปรียบอยู่บ้าง ประการแรกคือ ระบบจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ หากถนนปกคลุมไปด้วยหิมะหรือมีหมอกบดบังวิสัยทัศน์ อีกอย่างหนึ่งก็คือ สภาพใต้ท้องถนนมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนน้อยกว่าคุณสมบัติอื่นๆ อย่างเครื่องหมายบอกเลน
ณ ตอนนี้ ทีม CSAIL เพียงทดสอบระบบด้วยความเร็วรถต่ำบนถนนปิดแถบชนบท แต่นักวิจัยเชื่อว่ามันน่าจะขยายไปใช้งานบนถนนทางหลวงและพื้นที่ความเร็วสูงที่อื่นได้ง่าย ทีมวิจัยยอมรับว่า ระบบอาจจะยังทำงานได้ไม่ดีกับกรณีฝนตกเนื่องจากน้ำฝนจะซึมลงพื้นผิวถนน จึงยังไม่น่าพร้อมใช้งานจริงและอาจต้องใช้ผสมผสานกับเทคโนโลยีอื่นๆ เข้าด้วย
งานวิจัยนี้จะเผยแพร่ในวารสาร IEEE Robotics and Automation Letters ช่วงปลายเดือนนี้ ทางทีมวิจัยวางแผนพัฒนาปรับแต่งฮาร์ดแวร์เพื่อให้ขนาดเล็กลง เพราะตอนนี้ระบบมีขนาดกว้างถึง 6 ฟุต และจะพัฒนาเทคนิคแผนที่ LGPR ต่อไป