McKinsey แนะ 7 ข้อที่องค์กรทำได้ทันทีเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID-19

0

ในเดือนที่ผ่านมาเราเริ่มได้เห็นกันชัดเจนแล้วว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานั้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมและจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยภายในปี 2020 นี้เป็นอย่างต่ำ McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังได้ออกมาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ในกรณีต่างๆ รวมถึงแนะนำแนวทางการตอบสนองของธุรกิจที่สามารถเริ่มทันได้ทันที ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรก็ตาม

McKinsey วิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยแนะนำให้ธุรกิจพิจารณาความเป็นไปได้ 3 แบบ ได้แก่

  • Quick Recovery – ทั่วโลกสามารถควบคุมโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว จีนและเอเชียกลับสู่ปกติภายในไตรมาสที่1 และทั่วโลกควบคุมทุกอย่างได้ภายในไตรมาสที่ 2 ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจส่วนมากจะถูกจำกัดอยู่ในไตรมาสที่ 1 อย่างไรก็ตาม Scenario นี้มีความเป็นไปได้ต่ำสุด
  • Base Case – การแพร่ระบาดและความซับซ้อนของโรคมีมากขึ้นจนถึงช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ก่อนจะมีตัวเลขการแพร่กระจายลดลง ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง และยุโรป อุปสงค์ของผู้บริโภคลดลงแม้เข้าไตรมาสที่ 3 ก่อให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งปี 2020
  • Pessimistic – การระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงกลางปี และแพร่ออกไปในภูมิภาคอื่นๆที่ยังไม่มีรายงาน มีการจำกัดการเดินทางจนถึงช่วงปลายปี อุปสงค์ของผู้บริโภคต่ำ ทำให้ทั้งโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2020

ในการนี้ McKinsey ก็ได้แนะนำ 7 ข้อที่ธุรกิจสามารถทำได้ทันทีมาเป็นแนวทางในการรับมือสำหรับทุกอุตสาหกรรม ดังนี้

1. ปกป้องพนักงานในองค์กร

สถานการณ์ COVID-19 จะส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์และเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนมาก องค์กรควรเตรียมแผนและออกนโยบายซัพพอร์ตสมาชิกขององค์กรในสถานการณ์นี้ และอาจมีการเปรียบเทียบนโยบายการซัพพอร์ตกับองค์กรอื่นๆเพื่อประเมินระดับของกาารซัพพอร์ตที่ควรให้ และผู้นำองค์กรควรสื่อสารกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ

2. ตั้งทีม COVID-19

องค์กรควรมีทีมที่ประกอบไปด้วยผู้คนจากหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับมือกับสถานการณ์ไวรัสนี้โดยเฉพาะ โดยสายงานที่ทีมรับมือไวรัสนี้ต้องดูแลก็มีเช่น งานดูแลสุขภาพและสวัสดิการพนักงาน Stress-test การเงินและวางแผนทางการเงินเพื่อรับมือ การตรวจสอบ Supply chain และแก้ปัญหา Supply chain ทั้งในระยะสั้นและยาว การพิจารณาการตลาดและการขายจากอุปสงค์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เป็นต้น ซึ่งทีม COVID-19 ควรตรวจสอบสถานการณ์เหล่านี้ขององค์กร ตั้งเป้าหมายใหม่ทุกๆ 48 ชั่วโมง และปรับเปลี่ยนแผนการรับมือตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

3. ตรวจสอบสภาพคล่องของบริษัท

ธุรกิจต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับรายได้และรายจ่ายของการดำเนินการ และใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลหรือความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญประเมินออกมาว่าสถานกาารณ์ทางการเงินขององค์กร ซึ่งรวมถึง Cash flow, P&L, และงบดุลนั้นเป็นอย่างไรในกรณีความเป็นไปได้ต่างๆ และในการประเมินต้องระบุให้ได้ว่าปัจจัยใดจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อของธุรกิจ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปประกอบการวางแผนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์เลวร้ายทางการเงินได้

4. สร้างความมั่นคงให้กับ Supply Chain

ธุรกิจต้องประเมินสถานการณ์ Supply Chain ของตัวเองว่าบริษัทคู่ค้านั้นอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ จะกระทบกับธุรกิจอย่างไร และของที่คงคลังอยู่มีในระดับไหน โดยอาจพิจารณาถึงการสร้างความมั่นคงให้กับ Supply Chain ในทันทีเนื่องจากหลายโรงงานในประเทศจีนเริ่มกลับมาทำงานแล้ว รวมไปถึงการตุนของที่ต้องใช้งาน การนำอะไหล่เสริมมาใช้ก่อนชั่วคราว การจองบริการขนส่งล่วงหน้า

5. อยู่กับลูกค้าเสมอ

แม้ในช่วงแพร่ระบาดของโรค อุปสงค์ของผู้คนจะลดลงไป แต่ในบางครั้งอุปสงค์นั้นไม่ได้หายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนไปอยู่ในช่องทางอื่นๆเท่านั้น เช่นในจีนที่ผู้คนมีการจับจ่ายออนไลน์มากขึ้นสำหรับสินค้าทุกประเภทซึ่งรวมไปถึงของชำและเนื้อสัตว์ ธุรกิจจึงควรลงทุนในระบบออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางให้ธุรกิจได้กลับมาใกล้ชิดกับลูกค้า

6. ซ้อมแผนก่อนใช้งานจริง

การหารืออย่างจริงจังและการจำลองเหตุการณ์จะช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินการตามแผนในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไม่ติดขัด ซึ่งในการทำเช่นนี้ ธุรกิจจะต้องกำหนดผู้ตัดสินใจในกรณีต่างๆและแบ่งบทบาทของสมาชิกภายในองค์กรให้ชัดเจน กำจัดสิ่งที่อาจทำให้แผนการต้องล่าช้าหรือผิดพลาดออกไป และทำความเข้าใจร่วมกันถึงแผนที่วางไว้และเงินลงทุนที่ใช้ได้หากจำเป็น

7. แสดงเจตนาต่อชุมชน

ความแข็งแกร่งของธุรกิจขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของชุมชนที่ธุรกิจนั้นอาศัยอยู่ ดังนั้นธุรกิจก็ควรพิจารณาถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชน เช่น การบริจาคเงิน อุปกรณ์ หรือความรู้ความเชี่ยวชาญด้วย