การสืบหาผู้ที่มีสัมผัสใกล้ชิดหรือ Contact Tracing นั้นเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้ที่มีสัมผัสใกล้ชิดนั้นอาจไม่ใช่เพียงคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง แต่ยังรวมไปถึงคนแปลกหน้าที่ยืนข้างกันบนรถขนส่งสาธารณะ หรือพนักงานในร้านที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย หากบุคคลเหล่านี้ติดเชื้อ จะมีวิธีใดบ้างช่วยแจ้งเตือนคนรอบข้างที่ไม่รู้จักกันได้? ทีมนักวิจัยที่นำโดยนักวิจัยจาก MIT เสนอไอเดียนำสัญญาณ Bluetooth มาใช้เก็บข้อมูลการสัมผัสใกล้ชิด โดยที่ยังรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อยู่
เป็นที่ทราบกันว่าสมาร์ทโฟนในปัจจุบันนั้นสามารถเชื่อมต่อ ค้นหา และมองเห็นสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นๆผ่านสัญญาณ Bluetooth ได้ โดยมีระบบที่ใช้ประโยชน์จากความสามารถนี้ เช่น Find My จาก Apple ที่เมื่อเปิดใช้งาน อุปกรณ์เครื่องนั้นๆจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่าน Bluetooth ออกมา และเมื่ออุปกรณ์อื่นๆสามารถรับสัญญาณพิเศษนี้ ก็จะแจ้งไปยังระบบของ Apple
ในทำนองเดียวกัน คณะนักวิจัยได้พัฒนาระบบ Contact Tracing นี้ขึ้นเพื่อให้สมาร์ทโฟนส่งสัญญาณ Bluetooth แบบพิเศษที่มีไอดีส่วนตัวของผู้ใช้เอาไว้ให้กับสมาร์ทโฟนที่อยู่รอบข้าง เมื่อสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นจับสัญญาณนี้ได้ ก็จะบันทึกการพบเจอเข้าไปใน Log และเมื่อผู้ใช้คนใดคนหนึ่งติดเชื้อ ก็จะได้รับ QR Code จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เมื่อสแกนแล้วจะทำการอัพโหลดบันทึกการพบเจอผู้คนทั้งหมดไปบนเซิฟเวอร์ จากนั้นผู้ใช้แอปคนอื่นๆก็สามารถมาสแกนหาจากในฐานข้อมูลของการพบเจอนี้ได้ ว่าตนมีความเสี่ยงหรือไม่
ด้านหน่วยงานสาธารณสุขก็อาจออกคำแนะนำหรือวิธีปฏิบัติตัวเสริมเข้ามาเมื่อผู้ใช้มีสัมผัสใกล้ชิดกับคนติดเชื้อ เช่นเมื่อสแกนเจอว่ามีความเสี่ยง ก็อาจจะแนะนำให้กักตัว หรือเข้าไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยระบบพยายามออกแบบให้เจ้าหน้าที่มีความยืดหยุ่นในการจัดการขั้นตอนในจุดนี้ ด้วยเข้าใจว่าขั้นตอนอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป
วิธีการเช่นนี้ แอปพลิเคชันไม่จำเป็นต้องเก็บตำแหน่งที่อยู่ สัญญาณ GPS หรือข้อมูลส่วนตัวใดๆ เพียงแค่มีไอดีที่แอปสุ่มมาว่าเป็นของตัวเองเท่านั้น จึงทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าร่วมระบบ Contact Tracing เพื่อควบคุมโรคได้ โดยไม่ต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัว
วิศวกรจาก Lincoln Laboratory ได้เริ่มพัฒนาตัวต้นแบบของระบบนี้ และพิสูจน์เรียบร้อยแล้วว่าสามารถทำให้การส่งสัญญาณ Bluetooth พิเศษไปยังสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นนั้นสามารถทำได้ไม่ว่าโทรศัพท์นั้นจะใช้ระบบ Android หรือ iOS
ในขั้นตอนต่อไป ทีมนักวิจัยต้องเขา้ไปหารือกับผู้ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Google, หรือ Microsoft เพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่าระบบการส่งสัญญาณเช่นนี้ใช้งานได้จริงและโน้มน้าวให้พวกเขานำระบบ Bluetooth นี้ไป Implement ในระบบของสมาร์ทโฟน
ในขณะเดียวกัน ทีมนักวิจัยก็มีการเข้าไปหารือกับรัฐบาลกลางของสหรัฐเพื่อแสดงศักยภาพของระบบ และพยายามขยายความร่วมมือไปยังพื้นที่อื่นๆของสหรัฐรวมถึงยุโรปด้วย
ระบบสัญญาณ Bluetooth โควด 19 นี้เป็นความร่วมมือระหว่างหลายสถาบัน ได้แก่ Massachusetts General Hospital Center for Global Health, ห้องแล็ป CSAIL, MIT Lincoln Laboratory, Boston University, Brown University, MIT Media Lab, Weizmann Institute of Science, และ SRI International