หุ่นยนต์ในวันนี้โดยภาพรวมจะมาใน 2 ลักษณะคือแบบแข็ง (rigid) กับแบบนิ่ม (soft) โดยคนส่วนใหญ่มักจะนึกกันว่าหุ่นยนต์น่าจะเป็นลักษณะแบบแข็งๆ ทั้งสิ้น อย่างหุ่น Spot ของ Boston Dynamics หรืออะไรที่อยู่ในสายงานผลิตตามโรงงานเป็นต้น ส่วนหุ่นยนต์นิ่ม (Soft Robot) นั้นจะเป็นการเลียนแบบสิ่งมีชีวิตทางชีวภาพ ซึ่งทำให้หุ่นมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ง่ายต่อการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ทำงานได้ปลอดภัยขึ้นกับมนุษย์ และด้วยการออกแบบโครงสร้างกระดูกหุ่นยนต์ล่าสุดที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัย North Carolina State University นั้นขับเคลื่อนได้เร็วกว่าที่ผ่านมา โดยทำให้วิ่งได้เร็วเหมือนเสือชีตาห์แล้ว
เสือชีตาห์นั้นสามารถวิ่งได้เร็วเฉลี่ย 58 mph (~93 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขณะที่กำลังวิ่งอยู่ ความเร็วนี้คือวิวัฒนาการที่แตกต่างของพวกมัน ด้วยกระดูกสันหลังที่ยืดหยุ่นสุดๆ ทำให้มันสามารถโก่งหลังได้อย่างมากตอนที่วิ่ง สิ่งนี้เองจึงทำให้ ผศ.ดร. Jie Yin อาจารย์ที่มหาวิทยาลัย North Carolina State University ในด้านวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน ได้พัฒนาโครงกระดูกสันหลัง LEAP (Leveraging Elastic instabilities for Amplified Performance) ขึ้นมา โดยนำเอาความยืดหยุ่นทางธรรมชาติของเสือชีตาห์มาประยุกต์พัฒนา
โดยทั่วไป หุ่นยนต์นิ่มจะเคลื่อนที่บนพื้นผิวที่แข็งโดยทั้งสี่เท้าจะยืนอย่างมั่นคงบนพื้น หากแต่ความเร็วในการเคลื่อนไหวจะจำกัดอยู่ที่ราวๆ 0.8 ความยาวลำตัวต่อวินาที แต่อย่างไรก็ดี หุ่นยนต์นิ่มตัวทดสอบ proof-of-concept โครงสร้าง LEAP นั้น ด้วยความยาว 7 มิลลิเมตร หนัก 45 กรัมที่วิ่งได้ทีละสองขาไม่เกินนั้นสามารถวิ่งได้ถึง 2.7 ความยาวลำตัวต่อวินาที ซึ่งมากกว่าเดิมถึง 3 เท่าเลยทีเดียว
แม้ว่าหุ่นยนต์ขนาดทดลองจะได้ผลที่น่าประทับใจ แต่สิ่งที่ตามมาอาจจะปฏิวัติวงการเลยก็ได้ เพราะกลไกของ LEAP นั้นสามารถขยายปรับขนาดได้ ซึ่งดร. Yin หวังว่าจะสามารถสร้างเวอร์ชันที่ใหญ่กว่าและเล็กกว่าที่ทำทดลองนี้ได้ดวย “พวกมันสามารถขยายให้ใหญ่ขึ้นเป็นขนาดเท่ากับสัตว์จริงๆ หรือว่าขนาดเท่ากับร่างกายมนุษย์” คุณ Yin อธิบาย “มันยังสามารถหั่นให้ขนาดเล็กลงไปเท่ากับหุ่นยนต์ขนาดนาโนหรือไมโครได้เลย”
วันหนึ่งอาจจะได้เห็นหุ่นยนต์สุนัขทั้งหลายสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วที่เทียบเท่ากับเสือชีตาห์ได้ หรือว่าอาจจะมีหุ่นยนต์นิ่มขนาดจิ่วที่สามารถเคลื่อนไปในร่างกายเราเพื่อค้นหาโรคได้อย่างรวดเร็ว