ทีมนักวิจัยจาก MIT พัฒนาระบบที่ใช้สัญญาณวิทยุไร้สายติดตามการเคลื่อนไหวและกิจกรรมของคนโดยไม่ต้องบันทึกวิดีโอ ซึ่งระบบอาจช่วยผู้ดูแลติดตามกิจวัตรของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุในบ้านได้โดยยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวอยู่
ระบบ RF-Diary สามารถออกคำบรรยายกิจกรรมของบุคคลในบ้านได้ รวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับวัตถุต่าง ๆ เป็นการอัปเดตชีวิตประจำวันของคนที่อยู่ที่บ้านและคนที่อยู่ไกลบ้าน ทำให้รู้สึกสบายใจได้ว่าคนที่บ้านยังอยู่สุขสบาย มีความเป็นอยู่ที่ดี
ทีมนักวิจัยเคยใช้ระบบดังกล่าวในโรงพยาบาลและห้องอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตสำหรับติดตามผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และโรค COVID-19 นักวิจัยได้พัฒนาระบบโดยใช้ระบบเรียนรู้เชิงลึกให้สามารถระบุกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะกำลังนอน อ่านหนังสือ ทำอาหาร ดูทีวีหรือเล่นคอมอยู่ ซึ่ง RF-Diary ก็แยกกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบ้านมากกว่า 30 กิจกรรม ได้อย่างแม่นยำมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
ระบบใช้แผนผังบ้านระบุกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของบ้าน และวัตถุที่คนในบ้านใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในการติดตั้งระบบนั้น บุคคลที่ RF-Diary ติดตามอยู่นั้นต้องทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง แล้วระบบจะสังเกตการเดินในพื้นที่นั้น เพื่อให้แน่ใจว่าระบบไม่ได้ติดตามพื้นที่ที่บุคคลนั้นเข้าไม่ถึง ทั้งนี้เป็นเพราะสัญญาณวิทยุสามารถทะลุกำแพงได้นั่นเอง
นอกจากความเป็นส่วนตัวแล้ว การทดสอบแสดงให้เห็นว่าระบบยังมีประสิทธิภาพมากกว่าในการติดตามกิจกรรมของบุคคลนั้นในที่มืดและถูกปิดกั้นเมื่อเทียบกับระบบติดตามด้วยวิดีโอ เพราะสัญญาณวิทยุไม่จำเป็นต้องพึ่งแสง นักวิจัยจึงมีแผนจะนำระบบไปประยุกต์ใช้ตามบ้านและโรงพยาบาลต่อไป