นักวิจัย MIT คิดค้นเครื่องติดตามการนอนจากท่านอนด้วยสัญญาณวิทยุ

0

ทีมนักวิจัยจาก MIT ได้พัฒนาอุปกรณ์ติดผนังชื่อว่า BodyCompass ที่ใช้สังเกตดูท่านอนของผู้ใช้โดยไม่ต้องใช้กล้องหรือติดเซนเซอร์บนตัวผู้นอน แต่อาศัยการวิเคราะห์คลื่นสัญญาณวิทยุที่สะท้อนกับวัตถุในห้อง

Image credit: MIT CSAIL

นักวิจัยอธิบายว่า อุปกรณ์ที่สามารถสังเกตดูท่านอนได้นั้นมีประโยชน์หลายอย่าง โดยสามารถใช้ติดตามอาการของผู้เป็นโรคพาร์กินสันได้ เนื่องจากว่าคนที่เป็นโรคนี้จะสูญเสียความสามารถในการพลิกตัวบนเตียง

ในการแยกระหว่างสัญญาณวิทยุที่สะท้อนจากตัวคนและสัญญาณที่สะท้อนกับวัตถุในห้อง ระบบจะดูจากสัญญาณที่สะท้อนจากอกหรือท้อง ซึ่งก็คืออวัยวะส่วนที่ขยับขณะหายใจ จากนั้นก็จะส่งสัญญาณไปยังคลาวด์ เพื่อให้ระบบ BodyCompass วิเคราะห์ท่านอนของคน ๆ นั้น

Image credit: MIT CSAIL

ทีมวิจัยได้ฝึกโครงข่ายประสาทเทียมและทดสอบความแม่นยำโดยรวบรวมข้อมูลการนอน 200 ชั่วโมงจากกลุ่มทดลอง 26 รายที่ใส่เซนเซอร์ติดบนหน้าอกและท้องในตอนแรก หลังจากฝึกอุปกรณ์จากชุดข้อมูลเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระบบก็สามารถคาดการณ์ท่านอนของตัวบุคคลผู้ทดลองได้แม่นยำถึง 94 เปอร์เซ็นต์

ในอนาคต BodyCompass อาจนำไปจับคู่กับอุปกรณ์อื่น เช่น ที่นอนอัจฉริยะ เพื่อสะกิดผู้นอนให้เปลี่ยนท่านอนได้ ซึ่งสามารถช่วยเตือนผู้ที่เป็นโรคลมบ้าหมูหากเขานอนในท่าที่เป็นอันตราย ลดการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และแจ้งเตือนผู้ดูแลให้ขยับตัวผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะเกิดแผลกดทับ และช่วยให้ผู้นอนนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกด้วย