Facebook ตรวจพบเครือข่ายบัญชีผู้ใช้ปลอมจากจีนและฟิลิปปินส์ซึ่งถูกใช้ในปฏิบัติการข่าวสาร

0

Facebook ประกาศเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ถึงการตรวจพบและระงับบัญชีของเครือข่าย 2 เครือข่ายที่มีที่มาจากจีนและฟิลิปปินส์ เนื่องจากละเมิดนโยบายด้านการแทรกแซงจากรัฐบาลหรือต่างชาติ และด้านการร่วมกันปลอมแปลงพฤติกรรม (Coordinated Inauthentic Behaviour) เพื่อรัฐบาลหรือต่างขาติ

เครือข่ายแรกที่ Facebook ตรวจพบนั้น เป็นเครือข่ายที่สามารถสืบค้นต้นตอไปยังมณฑลฝูเจี้ยนในประเทศจีน เครือข่ายดังกล่าวประกอบไปด้วยบัญชีผู้ใช้งาน 155 บัญชี เฟซบุ๊กเพจ 11 เพจ กลุ่มเฟซบุ๊ก 9 กลุ่ม และบัญชี Instragram 6 บัญชี บัญชีเหล่านี้มีผู้ติดตามราว 133,000 ราย และในกลุ่มเฟซบุ๊กมีผู้เข้าร่วมราว 61,000 ราย

เครือข่ายนี้เน้นการปฏิบัติงานในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบัญชีเหล่านี้ถูกใช้เพื่อปลอมตัวเป็นคนในท้องถิ่นและกระจายคอนเทนต์ของตัวเอง จัดการเพจ กดไลค์ และคอมเมนท์ในโพสต์ของผู้ใช้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับปฏิบัติการทหารทางทะเลในทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ เครือข่ายดังกล่าวยังมีการโพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์และข่าวสารรอบโลก ความสนใจของจีนที่มีต่อทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในฮ่องกง โพสต์สนับสนุนประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ของฟิลิปปินส์ และสนับสนุน Sarah Duterte ภรรยาของเขาที่อาจลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2022 รวมไปถึงโพสต์วิจารณ์สำนักข่าว Rappler ซึ่งเป็นสำนักข่าวอิสระของฟิลิปปินส์ และกล่าวชมรวมถึงวิจารณ์รัฐบาลจีนด้วย

เครือข่ายที่สองนั้นเป็นเครือข่ายที่มีต้นทางมาจากประเทศฟิลิปปินส์และมีเป้าหมายเป็นผู้ใช้ในประเทศฟิลิปปินส์ ประกอบไปด้วย 57 บัญชี 31 เพจ และบัญชี Instragram 20 บัญชีซึ่งถูกใช้ในการโพสต์คอนเทนต์ เขียนคอมเมนท์ และจัดการเพจ ซึ่งเพจในเครือข่ายนี้มีผู้ติดตามทั้งสิ้นราว 276,000 บัญชี และบัญชี Instagram มีผู้ติดตามราว 5,550 ราย

ปฏิบัติการของเครือข่ายนี้มีมากขึ้นในช่วงปี 2019 และ 2020 โดยมีการโพสต์ในภาษาฟิลิปปินส์และอังกฤษเกี่ยวกับข่าวท้องถิ่น เช่น การเมือง ปฏิบัติการทางทหารเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ร่างกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย คำวิจารณ์ระบอบคอมมิวนิสต์ การเรียกร้องทางการเมืองของเยาวชน และพรรคฝ่ายค้าน

เมื่อทำการสืบค้นหาผู้กระทำการ Facebook พบว่าบัญชีในเครือข่ายนี้มีจุดเชื่อมโยงไปยังทหารและตำรวจของฟิลิปปินส์

แม้การเปิดกว้างของอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโซเชียลจะทำให้การควบคุมข่าวสารในปัจจุบันเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ยังเห็นได้บ่อยครั้งถึงความพยายามของฝ่ายต่างๆในการเข้ามาแทรกแซงและหันเหทิศทางของข่าวสารไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองจนกลายมาเป็นหนึ่งในประเด็นสังคมที่มีการพูดถึงและหารือกันอยู่เสมอ

ผู้ให้บริการเครือข่ายโซเชียลและเว็บไซต์ต่างๆนั้นมีนโยบายในการระงับบัญชีและเนื้อหาที่ห้ามเผยแพร่แตกต่างกันออกไป และยังเป็นที่ถกเถียงเสมอว่าพวกเขาควรใช้หลักการใดอย่างไรบ้าง เช่นในกรณีนี้ของ Facebook ที่ระงับเครือข่ายบัญชีปลอมไม่ใช่เพราะเนื้อหาที่บัญชีเหล่านั้นโพสต์ แต่เพราะพฤติกรรมของการปลอมแปลงทำให้ผู้ใช้รายอื่นเข้าใจผิด