จากการศึกษาโดยโครงการ States of Change การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 นี้เป็นครั้งแรกของการเลือกตั้งสหรัฐที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง Millennials และ Gen Z มีสัดส่วนเป็น 40% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ดังนั้น เราจึงได้เห็นกลยุทธ์การหาเสียง และการเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ออกไปเลือกตั้งด้วยวิธีที่แปลกใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการใช้แพลตฟอร์ม Tik Tok เข้ามาช่วย
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Feel Good Voting ที่ไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด ออกแบบแคมเปญเชิญชวนผู้คนออกไปเลือกตั้งด้วยการจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากใน Tik Tok และจ้างให้พวกเขาสร้างคอนเทนต์เชิญชวนให้ผู้รับชมออกไปเลือกตั้ง Feel Good Voting ร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์มากกว่า 300 ราย และมีค่าตอบแทนให้พวกเขาโพสต์ละ 100 ถึง 1500 เหรียญสหรัฐ ซึ่งกว่า 40% ของอินฟลูเอนเซอร์ผู้ร่วมงาน ปฏิเสธที่จะรับค่าจ้าง
Jeremy Scheck เป็นหนึ่งในผู้สร้างคอนเทนต์ใน Tik Tok ที่เข้าร่วมแคมเปญนี้ ช่อง Tik Tok ที่เกี่ยวกับการตกแต่งเค้ก พาสต้า และอาหารของเขามีผู้ติดตามกว่า 1.6 ล้านราย และคอนเทนต์ที่เขาร่วมมือกับ Feel Good Voting ในเดือนสิงหาคมนั้นก็ประสบความสำเร็จในการเชิญชวนผู้คนมากกว่า 500 รายไปลงทะเบียนเพื่อเลือกตั้งได้
Feel Good Voting ใช้งบประมาณมากกว่า 76,000 เหรียญสหรัฐไปกับอินฟลูเอนเซอร์เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนไปเลือกตั้ง และเมื่อคำนวณออกมาแล้ว พวกเขาเสียเงินเพียง 1.74 เหรียญ ต่อ 1 คนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งในเว็บ Vote.org
Texas Rising ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีไอเดียคล้ายกันในการสื่อสารกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง Gen Z โดยพวกเขาได้ร่วมมือกับผู้สร้างคอนเทนต์ท้องถิ่น เช่น Miss Macy ที่มีผู้ติดตามากกว่า 400,000 ราย ทำคอนเทนต์โปรโมตให้ผู้มีสิทธิ์ออกไปใช้เสียง โดย Miss Macy กล่าวว่าผู้ชมวิดีโอของเธอส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-25 ปี
จากการสำรวจโดย CIRCLE ที่ได้สำรวจประชากรอายุ 18 ถึง 24 ปี ถึงการเห็นข้อมูลการเลือกตั้งในแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ พบว่ามีผู้ที่ได้เห็นข้อมูลการเลือกตั้งผ่านสื่อโซเชียลมากขึ้นเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งส.ส.และส.ว.กลางเทอมเมื่อปี 2018 โดยแพลตฟอร์มที่ผู้ถูกสำรวจได้เห็นข้อมูลการเลือกตั้งมากที่สุด 3 แพลตฟอร์ม คือ Instragram, Twitter, และ Facebook ตามลำดับ แตกต่างจากเมื่อปี 2018 ที่ Facebook นำ Twitter และ Instagram อย่างมาก

ด้าน NextGen America คณะกรรมการดำเนินการที่จัดตั้งโดยอดีตผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี Tom Steyer แห่งพรรค Democratic ก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนพื้นที่สีแดงของพรรค Republican ให้เป็นพื้นที่สีน้ำเงินในเขต Rio Grande และ El Paso โดย NextGen America ใช้เงินลงทุนหกหลักไปกับอินฟลูเอนเซอร์ 1,600 รายบนแพลตฟอร์ม Instagram และ Tik Tok และผู้อำนวยการของ NextGen กล่าวว่า พวกเขาได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยยะสำคัญต่อชุมชนในชนบทที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุน้อยมักถูกมองข้าม
Feel Good Voting กล่าวว่าการทำแคมเปญของพวกเขานั้นเป็นไปได้ แม้หลายๆแพลตฟอร์มโซเชียลจะมีนโยบายที่เคร่งครัดเกี่ยวกับโฆษณาการเมือง และ Tik Tok ห้ามไม่ให้มีโฆษณาการเมืองโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ก็เพราะองค์กรของพวกเขาไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และมุ่งเน้นไปที่การเชิญชวนให้ผู้คนออกมาเลือกตั้งโดยไม่สนับสนุนผู้สมัครรายใด
ในปัจจุบัน เส้นแบ่งระหว่างการโฆษณาหาเสียง และการใช้อินฟลูเอนเซอร์นั้นยังไม่ถูกขีดอย่างแน่ชัด และไม่มีกฎกำกับดูแลนอกเหนือไปจากกฎและนโยบายบนแพลตฟอร์มโซเชียล ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งโจทย์ที่สังคมและนักกฎหมายอาจจะต้องมาขบคิดเพื่อวางแนวทางกันต่อไป
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์รายย่อยนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าสามารถสื่อสารกับเป้าหมายได้อย่างเป็นกันเอง และ Organic กว่ากลยุทธ์การตลาดในรูปแบบอื่นๆ และแคมเปญต่างๆในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของวิธีดังกล่าวที่มีต่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุน้อย และได้ปูทางให้กับกลยุทธ์การใช้อินฟลูเอนเซอร์ในแคมเปญทางการเมือง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในอนาคต