นักวิจัย Cornell พัฒนาเซนเซอร์ผิวหนังยืดหยุ่นได้เพิ่มสัมผัสใน VR

0

Virtual reality หรือ VR อาจจะไม่ “สมจริง” เท่าไรนักเมื่อปราศจากความรู้สึกจากการสัมผัส แต่ก็คงจะไม่เป็นประเด็นอีกต่อไป เมื่อนักวิจัยจาก Cornell University ได้พัฒนาเซนเซอร์ผิวหนังยืดหยุ่นได้รูปแบบใหม่ที่ใช้ไฟเบอร์ออปติกส์ในการให้ความรู้สึกสัมผัส

เซนเซอร์ผิวหนังนี้เป็นเซนเซอร์ไฟเบอร์ที่ทำมาจากซิลิกา ซึ่งนำมาใช้ในการมองหาความเปลี่ยนแปลงความยาวคลื่นเพียงเล็กน้อยในการวัดองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ในถุงมือตัวต้นแบบนี้ แต่ละนิ้วมีตัวนำแสง (lightguide) ยืดหยุ่นได้ที่รวมเอาแกนโพลียูรีเธนโปร่งแสงกับแกนที่เชื่อมกับ LED ที่มีสีย้อมดูดซับในตัว เมื่อขยับนิ้วเปลี่ยนรูปร่างหรือเจอกับแรงกด สีย้อมจะทำหน้าที่เป็นตัวเข้ารหัสเชิงพื้นที่ (spatial encoders) ที่จะเปล่งแสงขึ้นมาและแสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

เทคโนโลยีดังกล่าวยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น โดยตัวถุงมือเป็นแบบพิมพ์สามมิติพร้อมบลูทูธ แบตเตอรีและวงจรแบบพื้นฐาน แต่การนำไปใช้ประโยชน์นั้นชัดเจน คือ ถุงมือ VR ในอนาคตอาจให้การตอบสนองเมื่อผู้ใช้งานสัมผัสและจับวัตถุจำลองได้ แม้ว่าจะไม่สามารถเลียนแบบของจริงได้อย่างไร้ที่ติ แต่อย่างน้อยก็ทำให้รับรู้การสัมผัสได้ นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มความรู้สึกสัมผัสให้แก่หุ่นยนต์เพื่อช่วยให้มันมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้และจับวัตถุบอบบางได้ดียิ่งขึ้น