สำหรับธุรกิจโรงงานหรือก่อสร้างที่กำลังมองหาเครื่องคอมพิวเตอร์ให้วิศวกรใช้จัดการแบบ หรือธุรกิจอื่นๆ ที่กำลังมองหาเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับทำงานกราฟฟิกให้นักออกแบบ ASUS ExpertCenter D500MA คือคำตอบที่คุ้มค่าคุ้มราคาสำหรับการลงทุน และบทความนี้เราก็จะพาทุกท่านไปรู้จักกับเครื่อง Commercial PC ที่เกือบจะเป็น Workstation แล้วเครื่องนี้จาก ASUS กันครับ
เลือก PC สำหรับทำงาน “ขนาด” ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหารีวิวกัน ต้องขอโอกาสเล่าก่อนนิดนึงถึงเรื่อง “ขนาด” ของ Commercial PC ที่มีให้ใช้ใน ASUS ExpertCenter กันก่อนครับ
โดยทั่วไปแล้ว ASUS ExpertCenter นี้ จะมีการระบุขนาดของเครื่องในหน่วย “ลิตร” ให้เราประเมินได้ง่ายๆ กันครับว่าเครื่องไหนเล็กหรือเครื่องไหนใหญ่กว่ากัน ในขณะเดียวกันแต่ละเครื่องเองนั้นก็มีการระบุ Form Factor หรือการออกแบบเครื่องให้มีขนาดต่างๆ กันด้วย ดังนี้
- Tower เครื่องขนาดใหญ่ที่สุดที่มีขนาดตั้งแต่ 20 ลิตรไปจนถึง 27 ลิตร
- Mini Tower เครื่องขนาดปานกลางที่มีขนาดประมาณ 15 ลิตร
- Small Form Factor (SFF) เครื่องขนาดเล็กที่มีขนาดประมาณ 9 ลิตร
จะเห็นได้ว่าด้วยการระบุหน่วยเป็นลิตรนี้ จะทำให้เราเห็นภาพขนาดของเครื่องได้ง่ายขึ้นกว่าการระบุ Dimension กว้างxยาวxสูงค่อนข้างมากทีเดียว และขนาดของเครื่องนี้เองก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้งานปัจจัยหนึ่งครับ เช่น สำหรับ PC ที่พนักงานใช้ทำงานทั่วไป เราก็อาจไม่สนใจขนาดมากนัก แต่สำหรับออฟฟิศที่มีพื้นที่จำกัด การเลือกใช้เครื่องเล็กๆ ก็อาจทำให้มีพื้นที่ใช้สอยทำงานได้มากขึ้น หรือสำหรับการทำงานที่ต้องพบปะกับลูกค้า การเลือกเครื่อง Small Form Factor ก็อาจทำให้พื้นที่บริเวณนั้นโล่ง สะอาดตา สวยงามมากขึ้น เป็นต้นครับ
ASUS ExpertCenter D500MA เล็กกว่าด้วยเครื่องแบบ Mini Tower แต่แรงกว่าด้วย Intel และ NVIDIA

ASUS ExpertCenter D500MA นี้ถือเป็นอีกเครื่องที่ออกแบบและวางตำแหน่งในตลาดมาได้ค่อนข้างดีทีเดียว ด้วยการออกแบบมาให้มีขนาดเล็กลงด้วยการเป็น Mini Tower แต่กลับอัปเกรด Hardware สูงสุดได้เหนือกว่ารุ่นที่เล็กกว่าอย่าง ASUS ExpertCenter D300TA ทำให้เห็นความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจน และตัดสินใจง่ายขึ้นหากภาคธุรกิจองค์กรกำลังมองหาเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับรองรับงานกราฟฟิกและงานวิศวกรรม โดยสามารถรองรับ Hardware ได้ดังนี้
- CPU: Intel Pentium, Celeron, Core i3/i5/i7 โดยรองรับรุ่นสูงสุดคือ Intel® Core™ i7-10700 Processor 2.9 GHz (16M Cache, up to 4.8 GHz, 8 cores/16 threads)
- RAM: DDR4 รองรับสูงสุด 64GB
- Disk: รองรับสูงสุด 3TB HDD + 2TB SSD
- GPU: เลือกได้ระหว่าง NVIDIA® GeForce® GT710 หรือ NVIDIA® GeForce® GTX1030 หรือ NVIDIA® GeForce® RTX2060
- LAN: RJ45 Gigabit Ethernet
- WLAN: Wi-Fi 6 (802.11ax)/Wi-Fi 5 (802.11ac) + Bluetooth 5.0/4.2
- OS: เลือกได้ระหว่าง Windows 10 Pro, Windows 10 Home, Endless หรือไม่ติดตั้ง OS มาเลยก็ได้
- Power Supply: ประหยัดไฟด้วยมาตรฐาน 80 PLUS Platinum
ด้วยการรองรับ SSD ความจุมากถึง 2TB และการอัปเกรดการ์ดจอสูงสุดได้ถึง NVIDIA GeForce RTX2060 ก็ทำให้งานประมวลผลทางด้านวิดีโอ, อนิเมชัน, 3D Model และงานออกแบบกราฟฟิกนั้นสามารถทำได้อย่างลื่นไหล อีกทั้ง ASUS ExpertCenter D500MA นี้ก็ยังผ่านการทดสอบจนได้รับ ISV Certification ในการใช้งานร่วมกับ Software จาก Adobe และ AutoDesk ได้อย่างมั่นใจอีกด้วย
ในแง่ของความทนทาน เครื่องรุ่นนี้มีการใช้ Motherboard ของ ASUS รุ่นที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานได้แบบ 24×7 ในตัว อีกทั้งยังเลือกใช้ Solid Capacitor บน Mainboard ทั้งหมดเพื่อความทนทานที่สูงกว่าปกติ และยังผ่านการทดสอบจนได้รับมาตรฐานสำหรับการใช้งานทางทหารอย่าง MIL-STD-810G ที่กำหนดว่าเครื่องจะต้องทนทานต่อการสั่นสะเทือน, การกระแทก และสภาวะอุณหภูมิที่หลากหลาย

ทั้งนี้เพื่อให้การใช้ทำงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ASUS ได้ตัดสินใจเลือกใช้ Power Supply ที่ผ่านมาตรฐาน 80 PLUS ระดับ Platinum ในเครื่องรุ่นนี้ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยให้ประหยัดไฟฟ้าและลดความร้อนที่เกิดขึ้นได้ แม้จะเปิดใช้งานเครื่องนี้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาก็ตาม
ตัวเครื่องที่มีขนาดเล็กด้วยการออกแบบมาเป็น Mini Tower นี้ ทำให้การใช้งานจริงสามารถนำเครื่องมาวางบนโต๊ะได้ และทำให้เข้าถึงพอร์ตต่างๆ ที่มีมาให้ได้ง่ายโดยไม่ต้องมีสายพ่วงต่อเสริมความยาวแต่อย่างใด อีกทั้งตัวเครื่องนี้ก็ยังมีพอร์ต SD-Card Reader มาให้เลือกใช้ได้ด้วยในกรณีที่ต้องทำงานกราฟฟิก ส่วนด้านหลังเครื่องนั้นก็สามารถเลือกเสริมพอร์ต Parallel หรือ Serial เข้ามาได้หากต้องการใช้งานกับ Hardware เฉพาะทางที่เคยมีอยู่แต่เดิม

สำหรับความมั่นคงปลอดภัย ตัวอุปกรณ์มีการรองรับ Trusted Platform Module (TPM) สำหรับจัดเก็บรหัสผ่านและกุญแจเข้ารหัส, มี Kensington Security Slot และ Padlock Slot สำหรับป้องกันการถูกเคลื่อนย้าย รวมถึงยังสามารถควบคุมการเขียนอ่านข้อมูลและการเชื่อมต่อผ่าน USB ได้ด้วยโซลูชันของ ASUS เอง
สำหรับการรับประกัน ตัวเครื่องมาพร้อมกับประกัน Onsite Service 3 ปี, ประกัน Global Warranty ครอบคลุม 83 ประเทศทั่วโลกอีก 3 ปี และยังมีประกันอุบัติเหตุสำหรับปีแรกที่ใช้งานให้
ราคาเริ่มต้นของรุ่นนี้ที่ติดตั้ง 10th Gen Intel Core i5 จะอยู่ที่ประมาณ 14,000 – 15,000 บาท โดยสามารถปรับแต่งสเป็คได้ตามต้องการ และราคาก็จะขึ้นอยู่กับสเป็คที่เลือกนั่นเอง ก็เรียกได้ว่าราคาไม่ได้ต่างจากรุ่นก่อนหน้าอย่าง ASUS ExpertCenter D300TA เท่าใดนัก แต่สามารถอัปเกรด Hardware ให้ใหญ่กว่าเพื่อรองรับ Workload ได้หลากหลายขึ้น อีกทั้งเครื่องยังมีขนาดเล็กลง สามารถใช้งานได้ง่ายอีกด้วย
ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ASUS ExpertCenter D500MA สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asus.com/th/Displays-Desktops/Tower-PCs/ExpertCenter/ExpertCenter-D5-Mini-Tower-D500MA/
เลือกใช้หน่วยประมวลผล Intel ให้เหมาะสมกับงานและงบประมาณ
ASUS ExpertCenter D500MA นี้เปิดให้เราสามารถเลือกใช้ CPU จาก Intel ได้จำนวนหลายรุ่นเช่นเดียวกับ ASUS ExpertCenter D300TA ที่เคยรีวิวไปก่อนหน้า ได้แก่
- Intel® Core™ i7-10700 Processor 2.9 GHz (16M Cache, up to 4.8 GHz, 8 cores)
- Intel® Core™ i5-10500 Processor 3.1 GHz (12M Cache, up to 4.5 GHz, 6 cores)
- Intel® Core™ i5-10400F Processor 2.9 GHz (12M Cache, up to 4.3 GHz, 6 cores)
- Intel® Core™ i5-10400 Processor 2.9 GHz (12M Cache, up to 4.3 GHz, 6 cores)
- Intel® Core™ i3-10100 Processor 3.6 GHz (6M Cache, up to 4.3 GHz, 4 cores)
- Intel® Pentium® G6400 Processor 4.0 GHz (4M Cache, up to 4.0 GHz, 2 cores)
- Intel® Celeron® G5900 Processor 3.4 GHz (2M Cache, up to 3.4 GHz, 2 cores)
จะเห็นได้ว่าถึงแม้ CPU ที่รองรับใน ASUS ExpertCenter D500MA นี้จะไม่ต่างจากรุ่นที่เล็กกว่า แต่ในเชิงการใช้งานจริงนั้น ASUS ExpertCenter D500MA ก็สามารถรองรับ Workload ที่ต้องการประสิทธิภาพสูงกว่าได้ ด้วยการรองรับ SSD ที่มากกว่า และสามารถติดตั้ง GPU รุ่นที่ใหญ่กว่าอย่าง NVIDIA GeForce RTX 2060 ได้นั่นเอง
แกะกล่อง ลองใช้งานของจริง
มาถึงช่วงของการแกะกล่องกันแล้ว ในครั้งนี้ทีมงาน TechTalkThai ได้รับเครื่องนี้มาทดสอบพร้อมๆ กับ ASUS ExpertCenter D300TA จึงได้เห็นความแตกต่างกันพอสมควร ทั้งขนาดของเครื่อง ASUS ExpertCenter D500MA นี้ที่เป็นแบบ Mini Tower ซึ่งมีขนาดเพียงแค่ 15 ลิตร ซึ่งถือว่าเล็กกว่า ASUS ExpertCenter D300TA ที่เป็นแบบ Tower และมีขนาด 20 ลิตรอย่างเห็นได้ชัด โดยนอกจากตัวเครื่องจะสูงน้อยกว่าแล้ว ก็ยังมีขนาดที่สั้นกว่าด้วย ทำให้ในการใช้งานจริงนั้นสามารถเลือกติดตั้งในพื้นที่เล็กๆ ได้ง่ายดายกว่ามาก

ตัวบอดี้ของเครื่องทำมาแข็งแรงทนทานด้วยสีดำที่ดุดันแต่ก็สุภาพ น้ำหนักของตัวเครื่องนี้ถือว่าไม่หนักมากอยู่ที่ประมาณ 6 กิโลกรัม สามารถยกไปติดตั้งได้สบายๆ

ก่อนจะเปิดเครื่องมาใช้งาน เรามาลองเปิดฝาเครื่องกันดูก่อน เนื่องจากเครื่องนี้ออกแบบมาให้เป็น Tool-less ดังนั้นจึงสามารถใช้มือหมุนสกรูด้านหลังเครื่องออกมาได้เลย แต่การเปิดครั้งแรกก็อาจต้องใช้ไขควงช่วยเล็กน้อยเพราะที่โรงงานจะขันสกรูมาให้แน่นพอสมควรครับ

พอเปิดเครื่องออกมาแล้วก็พบว่าข้างในค่อนข้างเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ตอนอัปเกรดก็ไม่น่าติดปัญหาอะไร มีจุดสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือเครื่องนี้จะต่างจาก Commercial PC รุ่นอื่นๆ ของ ASUS ที่เคยทดสอบมา เนื่องจากมีการออกแบบให้ติดตั้งเสา Wi-Fi เอาไว้ใต้หน้ากากที่ด้านหน้าเครื่อง เก็บเสาเอาไว้เรียบร้อยสวยงามมองจากภายนอกไม่เห็น ในขณะที่เครื่องรุ่นอื่นๆ ที่เคยรีวิวนั้นจะเป็นเสานอกที่ต้องเชื่อมจากหลังเครื่องออกมาอีกที ทำให้ในแง่ของการใช้งาน เครื่อง ASUS ExpertCenter D500MA จะเรียบร้อยกว่าเครื่องอื่นที่ผ่านๆ มาค่อนข้างมากครับ

คราวนี้พอลองเปิดเครื่องมาใช้งานดู ก็ใช้งานได้ปกติดี โดยมีสเป็คของเครื่องที่ได้รับมาทดสอบดังนี้ครับ

- CPU: Intel Core i5-10500 @ 3.1GHz (6 Cores/12 Threads)
- RAM: 16GB
- Disk: 2TB HDD
- GPU: NVIDIA GeForce GT710 2GB DDR5
ก็เรียกได้ว่าด้วยสเป็คนี้ CPU, RAM, GPU นั้นไม่ใช่คอขวดเลย แต่อยู่ที่ Disk ซึ่งไม่ได้ใช้ SSD แต่ใช้แค่ HDD ดังนั้นในการใช้งานจริงเมื่อมีจังหวะที่ต้องอ่านหรือเขียนข้อมูลก็อาจมีช่วงที่ต้องรอเล็กน้อย โดยรวมก็ไม่ได้ช้ามากนัก ยกเว้นตอนอัปเดต Windows ครับ ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้ใช้ SSD ด้วยเพราะจะทำให้ทำงานได้เร็วขึ้นอีกมากทีเดียว
สำหรับประสบการณ์การใช้งานจริงก็มีดังนี้ครับ
- ตัวเครื่องทำงานได้เงียบเชียบดี แม้ว่าจะทดสอบให้ CPU และ GPU ทำงานเต็มประสิทธิภาพก็ตาม แต่ทั้งนี้เราก็ขอแนะนำให้ขอยืมอุปกรณ์จาก ASUS ไปทดสอบการใช้งานจริงด้วยหากต้องการใช้ Workload ที่เน้นประสิทธิภาพหนักๆ เพราะจะได้เลือกออกแบบ CPU, RAM, Disk, GPU ได้อย่างเหมาะสมครับ และจะได้เห็นด้วยว่าเครื่องทำงานเสียงดังหรือไม่ในการใช้งานจริง
- ช่อง SD Card ที่มีให้ถือว่าใช้งานได้สะดวกมาก สามารถนำภาพหรือวิดีโอจากกล้องมาลงเครื่องได้สะดวกดีมากครับ
- พอร์ตถือว่ามีให้ค่อนข้างครบ แต่ยังขาด USB-C อยู่ครับ นอกนั้นไม่ติดอะไร
- เช่นเดียวกับเครื่อง Commercial รุ่นอื่นๆ ของ ASUS เครื่องนี้ติดตั้ง Driver และ Microsoft Office มาให้พร้อมใช้งานได้เลย
- เสา Wi-Fi ที่ซ่อนอยู่ในหน้ากากหน้าเครื่องทำงานได้ปกติดี ไม่มีผลกระทบทางประสิทธิภาพในระดับที่สังเกตได้ เมื่อรวมกับการที่เครื่องมีขนาดเล็กกว่า Tower ปกติพอสมควรแล้ว ก็ถือว่าทำให้พื้นที่ทำงานดูสวยงามเรียบร้อยมากครับ
- ตัวเครื่องถึงจะมีขนาดเล็กลง แต่ก็ยังระบายความร้อนได้ดี
เท่าที่ลองใช้งานมานอกจากประเด็นเรื่องการใช้แต่ HDD กับการที่ขาด USB-C แล้วก็ถือว่าไม่ติดขัดอะไรครับ ชอบที่เครื่องมีขนาดเล็กกะทัดรัดลงกว่าเดิม เหมาะสำหรับธุรกิจองค์กรที่ไม่ได้ถึงขั้นต้องลงทุนใช้เครื่องแบบ Small Form Factor แต่ก็ไม่ได้อยากได้เครื่องใหญ่เท่า Tower เพื่อให้ออฟฟิศดูเรียบร้อยสวยงามขึ้น และยังอัปเกรดรองรับสเป็คได้หลากหลาย ให้พนักงานทั้งองค์กรใช้เครื่อง PC ที่รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนกันได้ แต่ข้างในก็สามารถเลือกสเป็คให้เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละคนได้ครับ พอได้ลองใช้เครื่อง Mini Tower แล้วชอบกว่า Tower ปกติมากจริงๆ
สรุปข้อดีข้อเสีย
ข้อดี
- เครื่องขนาดเล็กกว่า Tower ปกติพอสมควร ติดตั้งได้ง่าย สวยงาม
- ซ่อนเสา Wi-Fi เอาไว้ใต้หน้ากากหน้าเครื่อง ทำให้เครื่องดูเรียบร้อยขึ้นกว่าเดิม
- อัปเกรดเพื่อใช้ SSD ได้ถึง 2TB และ GPU ได้ถึง NVIDIA GeForce RTX2060 รองรับการใช้งานเชิงกราฟฟิกและวิศวกรรมได้ดี
- มี SD Card Reader ให้เลือกใช้งานได้หน้าเครื่อง ทำให้ Workflow ในการทำงานทางด้านกราฟฟิกและวิดีโอค่อนข้างสะดวก
- เปิดฝาเครื่องได้แบบ Tool-less ง่ายต่อการดูแลรักษาหรืออัปเกรด
- เครื่องทำงานได้เงียบดี มีเสียงบ้างในจังหวะที่ HDD ทำงาน หรือ CPU/GPU ทำงานหนักมากจริงๆ
- เลือกออปชันให้มีพอร์ตเก่าๆ ได้ครบ
ข้อเสีย
- เครื่องนี้ใช้ HDD ในการทดสอบทำให้ช้ากว่า SSD ในบางจังหวะอยู่บ้าง ดังนั้นการใช้งานจริงถ้าเน้นประสิทธิภาพก็แนะนำให้ใช้ SSD เป็นหลัก และอาจจะมี HDD เสริมสำหรับเก็บข้อมูลเพิ่มเติมได้
- ไม่มีพอร์ต USB-C ทำให้การเชื่อมต่อกับ Smartphone รุ่นใหม่ๆ หรือ External SSD นั้นต้องมีหัวแปลงหรือสายแปลง แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นประเด็นใหญ่นัก
ติดต่อทีมงาน ASUS ประเทศไทย

สำหรับผู้ที่สนใจสินค้าของ ASUS และต้องการข้อมูลรายละเอียดต่างๆ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.asus.com/th/business/