ในช่วง work from home เช่นนี้ คงหนีไม่พ้นการนำคอมพิวเตอร์ของออฟฟิศกลับมาทำงานที่บ้าน จากเดิมที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป มือถือ หรืออุปกรณ์ IT ต่าง ๆ แยกวัตถุประสงค์การใช้งานชัดเจนระหว่างการใช้เพื่อทำงานจริงกับการใช้งานส่วนตัว แต่กลับกลายเป็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้งานเครื่องของที่ทำงานปนไปกับการใช้งานส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลส่วนตัว แชทกับเพื่อน เล่นเฟส ส่อง IG ช้อปออนไลน์ หรือถึงขั้นลงเกมบนเครื่องออฟฟิศ หารู้ไม่ว่าสิ่งที่ต้องแลกมากับความสะดวกที่ไม่ต้องสลับเครื่องใช้งานไปมานั้นกลับนำไปสู่ภัยอันคาดไม่ถึง
ผลสำรวจชี้ พนักงานเกินครึ่งใช้คอมออฟฟิศปนกับการใช้งานส่วนตัว
- ผลสำรวจจาก Malwarebytes บริษัทผู้จำหน่ายแอนตี้ไวรัสเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 สอบถามรูปแบบการใช้งานอุปกรณ์ IT ของที่ทำงาน ซึ่งบริษัทพบว่ามีผู้ร่วมตอบแบบสอบคำถามถึง 53% ใช้รับส่งอีเมลส่วนตัว 52% อ่านข่าว 38% ซื้อของออนไลน์ 25% ใช้งานโซเชียลมีเดีย และ 22% ดาวน์โหลดและติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท
- นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก Morphisec บริษัทด้าน Cybersecurity เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 พบว่า พนักงาน 56% ใช้คอมส่วนตัวเป็นอุปกรณ์ทำงาน
- อีกทั้ง Kaspersky ผู้ผลิตซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสก็พบว่า ผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 57% เช็คอีเมลงานบนสมาร์ทโฟนส่วนตัว และ 36% ทำงานบนแล็ปท็อปส่วนตัว มีเพียง 30% เท่านั้นมีเผยว่าไม่เคยใช้อุปกรณ์ของที่ทำงานไปกับกิจส่วนตัว
เจ้านายอาจจับตาดู เพื่อนร่วมงานอาจแอบสอดแนม
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เมื่อพนักงานทำงานที่บ้านมากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่นายจ้างจะคอยสอดส่องติดตามกิจกรรมการใช้อุปกรณ์ขององค์กรอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น หากอิงจากงานวิจัยของ Skillcast และ YouGov ก็พบว่า มีบริษัท 1 ใน 5 แห่งที่ใช้เทคโนโลยีติดตามกิจกรรมออนไลน์ของพนักงาน หรือมีแผนจะดำเนินการในอนาคต อีกงานวิจัยจากศูนย์สหภาพแรงงานแห่งสหราชอาณาจักร (Trades Union Congress หรือ TUC) ก็พบว่า มีพนักงาน 1 ใน 7 รายงานว่า ที่ทำงานเคร่งครัดติดตามสอดส่องเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาด

ปวดหัวกับการล้างเครื่องก่อนย้ายงาน
ต่อให้ยังไม่มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นก็ตาม ก็ยังคงมีเรื่องปวดหัวอยู่ดีกับการย้ายข้อมูล สมมติว่าคุณได้แล็ปท็อปเครื่องใหม่หรือต้องเปลี่ยนงาน ก็ต้องเสียเวลาล้างข้อมูลส่วนตัวออกจากเครื่องของออฟฟิศก่อนคืนให้กับบริษัท ซ้ำยังมีเรื่องปริมาณข้อมูลที่เก็บไว้กับการจัดระเบียบไฟล์บนเครื่องอีกที่ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนและกินเวลาย้ายข้อมูลเข้าไปใหญ่
แค่โอนย้ายและลบข้อมูลส่วนตัวก็ไม่ได้ปกป้องความเป็นส่วนตัวอีกด้วย หากต้องการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวให้ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวจริง ก็ต้องล้างฮาร์ดไดรฟ์หรือไม่ก็ทำลายไดรฟ์ทิ้งทั้งหมด อาจถึงขั้นสูญเสียการเข้าถึงข้อมูลอย่างถาวร ซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาหนักอกสำหรับแผนก IT ไปอีก
บทเรียนจากกรณีของอดีตผู้อำนวยการ CIA… พบใช้คอมที่ทำงานเข้าเว็บโป๊
เมื่อปี 2539 ตอนที่ John Deutch กำลังออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency หรือ CIA) เขาได้ขอเก็บคอมพิวเตอร์ที่รัฐบาลออกให้เนื่องจากมีข้อมูลทางการเงินส่วนตัวของเขา และตัวเขาเองก็ไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่จะเคลื่อนย้ายข้อมูลได้ ทางรัฐยินยอมให้ยืมคอมพิวเตอร์แก่ Deutch ภายใต้เงื่อนไขว่า เขาต้องเป็นที่ปรึกษาให้รัฐแบบไม่รับเงินจ้าง ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อกิจส่วนตัว และซื้อคอมพิวเตอร์ของตัวเอง
ผ่านไปไม่กี่ปี คอมพิวเตอร์ของรัฐนั้นก็ยังอยู่ที่บ้านของ Deutch ใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยโดยที่ยังมีข้อมูลลับอยู่ในฮาร์ดไดรฟ์ สมาชิกในบ้านคนอื่น ๆ ทั้งภรรยาและลูกชายก็ใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ด้วย แต่ที่หนักสุดก็คือ ลูกชายที่อ้างว่าใช้คอมเข้าถึงห้องสมุดมหาวิทยาลัยนั้น กลับมีประวัติเข้าชมเว็บอนาจารหลายเว็บ ซึ่งทิ้ง cookies ไว้บนเครื่องด้วย
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ Deutch ถูกเพิกถอนการรักษาความปลอดภัย พร้อมกับสารภาพข้อหาลบและเก็บเอกสารลับโดยไม่ได้รับอนุญาต และถูกปรับ 5,000 ดอลลาร์ ท้ายที่สุดเขาก็ได้รับอภัยโทษก่อนขึ้นศาล แต่บอกได้เลยว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนชวนปวดหัวครั้งใหญ่สำหรับทั้ง Deutch และ CIA เลย
โซลูชัน Tech ควบเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว… ไปต่อหรือพอแค่นี้?
ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์หลายเจ้าต่างทำการตลาดโดยนำเสนอจุดเด่นเรื่องความปลอดภัย รองรับการใช้งานทั้งเรื่องเล่น ๆ กับเรื่องจริงจัง ถึงกระนั้นแม้จะมีโซลูชันเช่นนี้ออกมา ก็มีทางเดียวที่เราจะรอดจากเหตุมิคาดฝันได้ นั่นก็คือ การแยกอุปกรณ์ตามวัตถุประสงค์การใช้งานอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการเกิดผลลัพธ์อันน่ากลุ้มที่อาจตามมาได้จากปัญหาที่เกริ่นไว้ข้างต้น