ที่ผ่านมา บล็อกเชนอาจจะได้รับการพูดถึงในแง่ของการเป็นเทคโนโลยีด้านการเงินการธนาคาร จนทำให้หลายคนคิดว่า บล็อกเชน เป็นเรื่องเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน การธนาคาร เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว บล็อกเชนสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีกหลายอุตสาหกรรม รวมไปถึงในอุตสาหกรรมพลังงาน
แต่บล็อกเชนที่นำมาใช้ในกิจการด้านพลังงาน จะเป็น Blockchain 2.0 ในส่วนของ Smart Contract ไม่ใช่ Blockchain 1.0 ที่เราคุ้นเคยกัน ดังนั้น เราจึงควรจะต้องมาทำความรู้จักกับ Smart Contract กันก่อน เพื่อให้เข้าใจว่า บล็อกเชน สามารถนำมาใช้กับอุตสาหกรรม อื่นได้อย่างไร
Blockchain 1.0 คือฟังก์ชันการเก็บข้อมูล ที่ใช้กับการเก็บ รักษาเงินสกุลคริปโต แต่ Blockchain 2.0 คือฟังก์ชันที่ทำให้บล็อกเชน นำมาใช้งานได้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เรื่อง Smart Contract
อะไรคือ Smart Contract
เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้มากขึ้น เราจะสมมุติเปรียบเทียบกับการเล่นเกมเป่ายิงฉุบ ในการเล่นเกม จะมีกรรมการ 1 คน ซึ่งกรรมการจะได้รับกติกาเป่ายิงฉุบที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน คือ ค้อนชนะกรรไกร กรรไกรชนะกระดาษ กระดาษชนะค้อน
- มีผู้เล่นชื่อ A กับ B มาแข่งกัน การแข่งแต่ละครั้ง กรรมการก็ จดไว้ว่าใครแพ้ชนะหรือเสมอ สมมุติว่าเล่นกัน 700 ครั้ง A จำได้ ว่า A ชนะไป 250 ครั้ง เสมอ 300
- แต่ทาง B ก็บอกว่า B ต่างหากที่ชนะ 250 ครั้ง ในขณะที่กรรมการเอง ข้อมูลที่จดมาไม่ตรงกับทั้งที่ A และ B บอก ทีนี้เราจะรู้ได้ยังไงว่า ผู้ชนะเป็นใครกันแน่ ใครที่เป็นคนจดผิด หรือจำผิด เราจะใช้อะไรเป็นตัวตัดสินเรื่องนี้ได้
- ถ้าเราเปลี่ยนใหม่เป็น มีการจัดตั้งกรรมการมา 5 คน ทุกครั้งที่ A กับ B เป่ายิงฉุบ กรรมการทุกคนต้องบอกกันว่า A ออกอะไร B ออกอะไร แล้วใครแพ้ หรือชนะ ถ้าเสียงข้างมากเห็นตรงกัน ทุกคนก็จะต้องจดลงไปในสมุดบันทึกของตัวเองให้เหมือนกันทั้งหมด ว่าใคร ออกอะไร แล้วใครแพ้ใครชนะ พอครบ 700 ครั้ง กรรมการทุกคนก็นำเอาผลรวมคะแนนมายืนยันให้ดูกัน ถ้าส่วนใหญ่ได้ตรงกัน นั่นก็คือผลอย่างเป็นทางการ
เมื่อนำมาเทียบเพื่อทำความเข้าใจกับบล็อกเชน กติกาการเป่ายิงฉุบก็คือ Smart Contract ที่ทำมาสำหรับการเป่ายิงฉุบ โดยเฉพาะ input คือการออกค้อน กรรไกร กระดาษของ A และ B ส่วน output คือแพ้ ชนะ หรือเสมอ กรรมการแต่ละคนก็คือ Node ในบล็อกเชน เวลากรรมการจะมาตัดสินใจร่วมกันว่า จะบันทึกลงไปในสมุดของตัวเองหรือไม่ นั่นเรียกว่า Consensus
ทุกครั้งที่มีการบันทึกผลลงไปในสมุด ถ้ามันไม่มีทางลบได้ หรือไปแก้ไขทีหลังได้ ระบบก็มีความปลอดภัยมากขึ้น และนั่นคือ จุดเด่นของบล็อกเชน
ดังนั้น บทบาทของ Smart Contract ในบล็อกเชน ภายใต้อุตสาหกรรมพลังงานนั้น สามารถทำได้ในระบบ Energy Trading เพราะในอนาคตจะมีปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าแบบดั้งเดิม สู่โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในรูปแบบใหม่
โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าแบบดั้งเดิมนั้น ทิศทางการไหลของไฟฟ้าในระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิม เริ่มจาก การผลิตไฟฟ้า จากแหล่งพลังงานที่มาจากทั้งถ่านหิน เชื้อเพลิง พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ จากนั้นพลังงานไฟฟ้า จะถูกส่งผ่าน ระบบส่งไฟฟ้ากำลัง (Transmission System) โดยส่งไฟฟ้าแรงดันสูง เพื่อไปยังระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Distribution System) ผู้ค้าปลีกไฟฟ้า และสุดท้ายจะถูกส่งไปยังลูกค้า อุตสาหกรรม ลูกค้าธุรกิจ และลูกค้าครัวเรือน
สำหรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เนื่องจากแหล่งผลิตพลังงานที่มีราคาถูกลงเกิดขึ้น เช่น ต้นทุนการติดตั้งระบบ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกลง แบตเตอรี่ และเซลล์เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกลง ทำให้ลูกค้าอุตสาหกรรม ลูกค้า ธุรกิจ และลูกค้าครัวเรือน มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้า และกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยตนเอง หรือที่เรียกว่า Prosumer
ดังนั้น พลังงานที่เหลือจากการใช้งาน ทำให้เกิดธุรกิจแพลตฟอร์ม ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ ไปให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นได้ ซึ่งสามารถขายได้ทั้งภายในไมโครกริด และระหว่างไมโครกริด (ระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่ดูแลตัวเองได้ครบทุกด้าน เช่น มหาวิทยาลัยหรือนิคมอุตสาหกรรมหรือหมู่บ้านที่ติดโซลาร์จำนวนมาก) หรือผู้ค้าพลังงาน หากพลังงาน ภายในไมโครกริดเหลือใช้ โดยมีผู้ควบคุมไมโครกริด (Microgrid Operator) ทำหน้าที่จัดการและบริหารการซื้อขายไฟฟ้า ระหว่างไมโครกริด
ในจุดนี้เองที่บล็อกเชนจะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ เพื่อเก็บสัญญาการซื้อขายไฟแต่ละช่วงเวลาที่ต้องส่งพลังงาน รวมทั้งข้อ กำหนดร่วมกัน เช่น หากไม่สามารถส่งไฟได้ตามกำหนด จะมีค่าปรับเท่าไหร่ หรือการกำหนดให้คนขายและซื้อไฟ ต้องฝากเงินไว้ในระบบ เมื่อมีการซื้อขายก็สามารถจะตัดเงินออกจากบัญชีได้อัตโนมัติ ไม่ต้องกังวล ว่าจะไม่มี เงินจ่ายค่าไฟหรือค่าปรับ
การออกคาร์บอนเครดิต หรือ Renewable Energy Credit (REC) ก็เริ่มเกิดขึ้น โดยทั่วไปแล้ว REC และคาร์บอนเครดิต สามารถ ซื้อขายได้ REC เมื่อซื้อขายแล้วจะสามารถเปลี่ยนเป็น Carbon credit ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนแล้ว ไม่สามารถนำกลับมาขาย REC ได้อีก พูดง่าย ๆ คือห้ามขาย พร้อมกันทั้งสองอย่าง หรือที่เรียกว่า double count เป็นการป้องกันการขายซ้ำ
วิธีหนึ่งที่ป้องกันการขายซ้ำได้ คือ ทุกครั้งที่ออก REC สามารถนำเลขมิเตอร์มาผูกไว้บน Smart Contract แล้วหากมีการ convert ให้เป็นคาร์บอนเครดิต ตัว Smart Contract ก็จะบันทึกไว้ว่า REC นี้ได้ถูกนับไปแล้ว ใช้ต่อไม่ได้
ระบบซื้อขายที่เข้าใจ Smart Contract ก็จะไม่ยอมให้มีการซื้อขาย REC ที่โดน convert แล้วกลับมานับซ้ำ เพื่อนำไปใช้ใน จุดประสงค์อื่นอีก ดังนั้น Smart Contract จะช่วยให้ทุกฝ่ายมั่นใจในกติกานี้ แม้จะไม่เห็นคาร์บอนเครดิตหรือ REC ด้วยตา เปล่าได้ก็ตาม
ในอนาคตรูปแบบโครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างอุตสาหกรรมจะถูกปฎิวัติ โดยตัวกลางต่าง ๆ จะถูกลดบทบาทลง ผู้ขายและผู้ซื้อ สามารถติดต่อกันตรง โดยผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะช่วยให้ทุกธุรกรรมที่สื่อสารกันนั้น เชื่อถือได้ รวดเร็ว โปร่งใส โดยไม่ ต้องผ่านคนกลาง
เทคโนโลยีบล็อกเชนนั้น เข้ามาเพื่อช่วยให้สิ่งที่เคยเป็นไปไม่ได้ อย่างการเทรดพลังงาน เกิดขึ้นได้ในวันนี้ เพียงแค่เราเข้าใจ ถึงคุณสมบัติและการใช้งานก็จะสามารถนำไปต่อยอด และพัฒนาในอุตสาหกรรมอื่นในอนาคตต่อไปได้