เมื่อบางบริษัทอาจปรับลดเงินเดือนพนักงานที่ Work From Home และข้อถกเถียงที่ตามมา

0

กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันเป็นอย่างมาก หลังจากที่สำนักข่าว Reuters รายงานถึงแผนการปรับลดเงินเดือนของ Google สำหรับพนักงานที่ตัดสินใจทำงานที่บ้านหลังจบสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งนอกจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายนี้แล้ว Facebook และ Twitter ก็ยังมีแผนการปรับลดเงินเดือนในทำนองเดียวกัน ฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายคัดค้านแผนการนี้มีเหตุผลอย่างไร? ADPT สรุปมาให้ทุกท่านได้อ่านกันในบทความนี้

เรื่องมันมีอยู่ว่า

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า Google มีแผนที่จะปรับลดเงินเดือนพนักงานที่เลือก Work From Home ถาวร โดยมีเกณฑ์ในการปรับลดคือพื้นที่ที่พนักงานเลือกไปทำงานอยู่ ซึ่ง Google ให้เหตุผลว่าแต่เดิมนั้นค่าตอบแทนพนักงานของพวกเขาก็ใช้โลเคชั่นในการทำงานมาเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณ และพวกเขาให้ค่าตอบแทนพนักงานในระดับที่สูงในพื้นที่นั้นๆเสมอ

Google ได้เผยเครื่องมือคำนวณเงินเดือนที่จะโดนปรับลดลงให้พนักงานได้ลองคำนวณและตัดสินใจว่าจะเลือก Work From Home ต่อไปหรือกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอย่างเก่า โดยเงินเดือนที่ถูกลดนั้นมีตั้งแต่ 5-25%

ในทางกลับกันผู้ที่เลือก Work From Home แต่มีที่อยู่อาศัยในพื้นที่หรือเมืองที่เป็นที่ตั้งของออฟฟิศ จะไม่เข้าเกณฑ์ถูกปรับลดเงินเดือนแต่อย่างใด

นอกจาก Google แล้ว Facebook และ Twitter ก็มีนโยบายลดเงินเดือนสำหรับพนักงานที่ทำงานแบบ Remote ในทำนองเดียวกัน ในขณะที่บางบริษัท เช่น Reddit และ Zillow ได้ปรับโมเดลเงินเดือนในบริษัทให้ไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่ทำงานไปโดยสิ้นเชิง

Work from anywhere is The New Normal

แน่นอนว่าปฏิกิริยาแรกของผู้คนหลังจากที่มีข่าวออกมาคือความไม่พอใจ ในทางเศรษฐศาสตร์ มีทฤษฎีเกี่ยวกับค่าตอบแทนซึ่งเรียกว่า Sticky Wage Theory ซึ่งกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าตอบแทนซึ่งชักช้าไม่ทันการณ์ต่อสภาพเศรษฐกิจหรือผลประกอบการของบริษัท โดยทฤษฎีนี้ได้กล่าวถึงการปรับลดค่าตอบแทนว่าจะเผชิญหน้ากับการต่อต้านของแรงงาน ไม่ว่าการปรับลดนั้นจะสมเหตุสมผลก็ตาม สิ่งที่บริษัทต้องคำนึงถึงไม่ใช่เพียงความสมเหตุสมผลเท่านั้น แต่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับความพึงพอใจของพนักงานด้วย

“บริษัทพวกนี้กำไรสองต่อจาก remote work: ประหยัดค่าออฟฟิศกับประหยัดเงินเดินพนักงาน แล้วก็มาสงสัยว่าทำไมพนักงานถึงลาออกกัน” – Dan Price – CEO แห่ง Gravity Payments

ประการที่สองคือมุมมองของการทำงานในตำแหน่งเดิม ภาระหน้าที่เดิม แต่ได้ค่าตอบแทนน้อยลง มีการถกเถียงกันถึงมูลค่าของผลตอบแทนในการทำงานว่าคำนวณมาจากสิ่งใดกันแน่ สะท้อนถึงคุณค่าที่พนักงานมอบให้กับบริษัทหรือมีองค์ประกอบอื่นที่มีอิทธิพลมากกว่านั้น เช่น ระดับของผลตอบแทนในตลาด ตำแหน่งที่ตั้งของบริษัท ความขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น

ในประเทศไทยเองก็เคยมีการถกเถียงเรื่องค่าตอบแทนในการ Work From Home ว่าสมควรจะปรับเพิ่มหรือลดค่าตอบแทนหรือไม่ เพราะการทำงานจากที่บ้านของพนักงานบางคนอาจหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น เช่น ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอุปกรณ์ในการทำงาน รวมถึงการเสียโอกาสในการใช้สถานที่และสวัสดิการของบริษัท แต่ในทางกลับกันก็มีบริษัทบางส่วนที่เห็นว่าพนักงานสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และมีต้นทุนในการจัดการต่างๆเพิ่มขึ้น โดยที่ประสิทธิภาพในการทำงานไม่เท่าเดิม

บางองค์กรในไทยและต่างประเทศได้ใช้จังหวะของวิกฤตโควิด 19 นี้ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของสถานที่ทำงาน บางองค์กรมีการลดขนาดออฟฟิศลง และให้พนักงานสับเปลี่ยนกันมาทำงานที่ออฟฟิศเพียงบางวัน โดยยกเลิกระบบโต๊ะส่วนตัวและหันไปลงทุนกับที่เก็บของและพื้นที่นั่งทำงานที่ใครก็สามารถเข้ามาใช้งานได้แทน บางองค์กรกำลังพิจารณาไอเดียให้ออฟฟิศมีขนาดเล็กลง ไม่จำเป็นต้องอยู่ตามเมืองใหญ่หรือย่านธุรกิจ แต่กระจายตัวมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งหลายแนวทางนั้นช่วยให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้จำนวนไม่น้อย

นอกจากนี้ ยังมีข้อโต้แย้งด้านประโยชน์ในด้านอื่นๆของการทำงานที่บ้าน เช่น การมี Work-life balance ที่ดีขึ้น การได้ใช้เวลากับครอบครัว การให้อิสระในการจัดสรรเวลาแก่พนักงาน การบรรเทาปัญหาอสังหาริมทรัพย์ราคาแพงในเขตที่มีบริษัทตั้งอยู่เยอะ การบรรเทาปัญหาความแออัดในเมืองใหญ่ และการลดการเดินทางซึ่งดีต่อสุขภาพ สภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม

แต่….ลดเงินเดือน???

อ่านมาถึงตรงนี้ คงได้เห็นแล้วว่าการทำงานที่บ้านหรือ Remote Work นั้นมีข้อดีและเสียงสนับสนุนมากมาย ทว่าเป็นที่น่าสนใจว่าฝ่ายที่เห็นด้วยกับมาตรการลดเงินเดือนนี้ก็มีเหตุผลที่ฟังขึ้นเช่นกัน

ประการแรก ปัจจุบันค่าตอบแทนนั้นเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่โดยทั่วไป ไม่ใช่แค่เฉพาะในรัฐต่างๆของสหรัฐเท่านั้น แต่เราจะเห็นความต่างของเงินเดือนเช่นนี้ทั่วโลก เงินเดือนของตำแหน่งเดียวกันในสหรัฐไม่เท่ากับเงินเดือนในสหราชอาณาจักร หรือสิงค์โปร เงินเดือนที่กรุงเทพไม่เท่ากับเงินเดือนในเชียงใหม่

หากพนักงานสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ องค์กรหลายแห่ง โดยเฉพาะองค์กรที่มีสาขาอยู่ในหลายเมืองหรือหลายประเทศ ย่อมประสบปัญหา”ความรู้สึกไม่เท่าเทียม”ระหว่างพนักงานด้วยกัน เมื่อพนักงานในตำแหน่ง A คนหนึ่งของสาขากรุงเทพฯ ย้ายไปทำงานที่บ้านเกิดในต่างจังหวัด พนักงานตำแหน่ง A ในจังหวัดนั้นย่อมเกิดคำถามถึงเงินเดือนที่ตนได้รับน้อยกว่า ปัญหานี้จะสร้างความปวดหัวให้กับบริษัทในมุมมองของการบริหาร และอาจนำไปสู่การที่บริษัทต้องจ่ายเงินเดือนในอัตราเดียวกันทั่วทั้งบริษัททุกสาขา ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อย

ในบริษัทที่มีสาขาหลายประเทศ การจ่ายเงินเดือนด้วยอัตราเดียวกันสำหรับผู้ที่ทำงานที่บ้านอาจกลายเป็นปัญหาที่ลุกลามไปยังระบบเงินเดือนของบริษัทในประเทศอื่นด้วย บริษัทจะตอบคำถามอย่างไรกับพนักงานในสาขาต่างประเทศที่ต้องการขึ้นเงินเดือนให้ทัดเทียมกับพนักงานในสหรัฐที่สามารถทำงานที่ใดก็ได้

อีกทั้งยังมีปัญหาในมุมกลับว่า หากบริษัทต้องจ่ายเงินเดือนโดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เลย จะส่งผลอย่างไรกับแรงงานในประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่า เมื่อสามารถจ้างพนักงานที่ค่าแรงถูกกว่าในต่างประเทศได้ (ทว่าก็มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย) เช่นกรณีค่าตอบแทนพนักงานระดับกลางในประเทศพัฒนาแล้วนั้นสามารถจ้างพนักงานระดับหัวกะทิของประเทศที่ยากจนกว่าได้

ประการที่สอง แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากจนสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังมีปัจจัยบางอย่างที่การทำงานในอินเทอร์เน็ตไม่สามารถให้ได้ โดยเฉพาะปัจจัยด้านความสัมพันธ์ของมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการร่วมงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในที่นี้ไม่หมายถึงมิตรภาพ แต่เป็นปัจจัย เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน เป็นต้น

การสื่อสารระหว่างก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายบริษัทพบว่าตนยังทำได้ไม่ดีนักในช่วงโควิด 19 เพราะการเปลี่ยนมาทำงานแบบ Remote นั้นเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และไม่ได้มีการวางแผนระบบงานที่ครอบคลุมเพื่อการนี้โดยเฉพาะ การทำงานแบบ Remote อย่างเต็มรูปแบบนั้นต้องการทั้งเครื่องมือที่พร้อม กระบวนการทำงานแบบใหม่ และความเข้าใจข้อจำกัดและรูปแบบการทำงานของทุกคนในองค์กร จึงไม่น่าแปลกใจว่าพนักงานหลายรายและองค์กรหลายแห่งโหยหาการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอยู่บ้าง

คำถามที่ยากไม่มีคำตอบที่ง่าย

เหตุผลของทั้งสองฝ่ายที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเหตุผลที่สามารถโต้แย้งได้ มีปัจจัยแวดล้อมและปัญหาที่ซ้อนทับคาบเกี่ยวกันมากมาย และมีประโยชน์และโทษแตกต่างออกไปเมื่อมองจากมุมมองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของตัวพนักงานเอง บริษัทเอกชน รัฐ นักสิ่งแวดล้อม หรือมุมมองอื่นๆ ดังนั้นจึงยากที่จะสรุปว่าฝ่ายใดถูก ฝ่ายใดผิด และสมดุลของความแฟร์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้นอยู่ที่ใด

กรณีการถกเถียงเรื่องการปรับลดเงินเดือนสำหรับการ Work From Home นี้เป็นหนึ่งตัวอย่างของปัญหาส่วนมากในปัจจุบัน ที่มีรายละเอียดมากมายและมุมมองจากหลายฝ่ายให้ทำความเข้าใจ ก่อนจะนำไปประกอบเป็นความคิดเห็นส่วนตัว และคิดหาหนทางแก้ไขหรือการประนีประนอม


อ้างอิง