สรุปงาน National Digital CTO Forum 2022: 10 ปีแห่งความสำเร็จของ AIS พร้อมก้าวต่อไปร่วมกับ Microsoft สร้างสรรค์วงการ Startup และ SaaS Business ไทย ไปไกลระดับโลก

0

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2021 ที่ผ่านมา AIS ร่วมกับ Microsoft ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ National Digital CTO Forum 2022: Co-creation SaaS Business with 5G and Cloud เพื่ออัปเดตถึงแนวโน้มทางด้านวงการ Startup ของไทยโดยเฉพาะ พร้อมประกาศความร่วมมือในโครงการ AIS Microsoft the Startup เพื่อขยายขีดความสามารถให้กับ Startup ไทยด้วยการผลักดันธุรกิจ Startup ในกลุ่ม B2B และ B2B2X พร้อมทั้งยังมีการเชิญเหล่าผู้คร่ำหวอดในวงการหลายรายมาให้ความเห็นในแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับทิศทางของ Startup ไทย และให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจริเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ ในช่วงนี้

ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้เข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ จึงขอนำสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทั้งหมดเอาไว้ในบทความนี้ค่ะ

National Digital Infrastructure in 2022

ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล แห่ง DEPA ได้เริ่มต้นเล่าถึงอันดับการแข่งขันด้าน Digital ของไทยได้ขึ้นจากอันดับที่ 40 ในปี 2019 มาสู่อันดับที่ 39 ในปี 2020 ที่ผ่านมา ถือว่ามีการพัฒนาขึ้นแต่ก็ยังคงเป็นรองสิงคโปร์และมาเลย์เซียอยู่ โดยมูลค่าของ Digital Service Industry ในไทยนั้นก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปี 2019 ที่มีมูลค่า 597,677 ล้านบาท มาสู่ 603,695 ล้านบาท และ 650,514 ล้านบาทในปี 2020 และ 2021 ตามลำดับ

จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือมูลค่าของอุตสาหกรรม Software และ SaaS ในไทยนั้น ที่มีการเติบโตบน Cloud มากถึง 56.68% และมีการหดตัวลงในกลุ่ม On-Premises 23.23% ซึ่งก็เป็นไปตามเทรนด์โลกที่ Cloud นั้นได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งจากคุณสมบัติของ Cloud เอง และการตอบโจทย์ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา

สำหรับอนาคตถัดจากนี้ไป ดร.ชินาวุธ ได้อ้างอิงถึงรายงาน Digital Engagement Report 2021 ถึงแนวโน้มในอนาคตว่า เทคโนโลยีกลุ่มที่ได้รับความสำคัญสูงนั้น ได้แก่ Industry 4.0, 5G, Cybersecurity, E-Government, Entrepreneurship และ AI ตามลำดับ ซึ่งการที่ไทยจะสามารถเข้าไปแข่งขันทางด้าน Digital ได้นี้ จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุง 3 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

  • Knowledge ต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่ออนาคต และมีโครงสร้างการศึกษาและการฝึกอบรมที่สอดคล้อง โดยปรับทิศทางของการศึกษาให้เน้นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนทำงานสามารถ Re-Skill ได้ง่าย และสร้างคนรุ่นใหม่ได้พร้อมต่ออนาคต ซึ่งที่ผ่านมาทาง DEPA และ AIS ก็ได้ร่วมกันจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีและงานวิจัยกันมาอย่างต่อเนื่อง
  • Technology ต้องมีการวางข้อกำหนดทางกฎหมาย, การสนับสนุนแหล่งเงินทุน และการสร้าง Framework ที่เหมาะสมต่อธุรกิจ ซึ่งไทยนั้นต้องมีการผลักดันเรื่องของ Risk Capital มากขึ้นไปอีก เพื่อให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ทาง DEPA และ AIS ได้ร่วมมือกันเพื่อสร้าง S-Curve ใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทั้ง E-Sports, Digital Content, Smart Agriculture และอื่น ๆ โดยบทบาทของภาครัฐที่เหมาะสมก็คือ การเป็นผู้ช่วยผลักดันผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมที่เข้มแข็งจากเอกชนไทยและ Startup ไทย
  • Future Readiness ต้องมีการปรับวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร, การเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจให้เป็นแบบ Agile และการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจให้มากขึ้น ตรงนี้ของไทยยังมีปัจจัยที่น่าห่วงเพราะดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลนั้นลดลงในไตรมาส 2 ของปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่ง DEPA และ AIS ต่างก็ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ EEC เพื่อเตรียมพร้อมดึงดูดภาคเอกชนและต่างชาติให้มาลงทุนสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ร่วมกัน
Image credit: depa

ในแง่ของภาครัฐ การเปลี่ยนจาก E-Government ที่เป็น Service Centric ไปสู่การเป็น Digital Government ที่เป็น Data Centric ถือเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาต่อยอดเพื่อวาง Customer Journey ใหม่, การนำข้อมูลมาใช้เพื่อส่งเสริมการทำงานของภาครัฐและการเติบโตของเอกชน รวมถึงการทำงานร่วมกับภาคเอกชนกันอย่างเต็มตัวเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาระดับประเทศร่วมกัน โดย ดร.ชินาวุธ ได้นำเสนอเครื่องมือที่น่าสนใจ ดังนี้

  • Outcome-based Procurement เปลี่ยนระบบการจัดซื้อจัดจ้างจาก TOR ที่ควบคุมวิธีการทำงาน ไปสู่การระบุผลลัพธ์ปลายทางที่ต้องการแทน
  • Public Service Hackathon เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนภายนอกเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมจากข้อมูลหรือเทคโนโลยีที่ภาครัฐมีอยู่
  • Regulatory Sandbox สร้างโอกาสให้ธุรกิจต่าง ๆ พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะพลิกโฉมการใช้ชีวิตหรือทำงานในเมืองไทยได้ ภายใต้กรอบที่ภาครัฐดูแลกำกับเบื้องต้นเพื่อศึกษาไปพร้อม ๆ กัน
  • Data Sandbox การเปิดข้อมูลภาครัฐให้เอกชนเข้าถึง หรือการผสานข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น
Image credit: depa

อีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การพัฒนา Government Data Service Framework ขึ้นมาเพื่อให้การรวบรวมและนำข้อมูลภาครัฐไปใช้งานนั้นเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้โดย GBDi ก็คือ การผสานรวมข้อมูลสาธารณสุขและข้อมูลการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถรับมือกับ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจากนี้สิ่งสำคัญก็คงหนีไม่พ้นว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไรหลังจากที่ทั่วโลกสามารถเริ่มรับมือกับ COVID-19 ได้แล้ว ซึ่งทาง ดร.ชินาวุธ ก็ได้เน้นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมร่วมกันต่อไปในอนาคต

CTO Agenda

คุณภูผา เอกะวิภาต CTO แห่ง Microsoft Thailand ได้มาถ่ายทอดถึงบทบาทของ CTO ในปัจจุบันที่จะต้องรับบทบาทของการเป็นผู้พัฒนาและผลักดันนวัตกรรมใหม่ ๆ ในธุรกิจที่เคยมีขนาดเล็กและเติบโตไปสู่การเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ว่าจะต้องมี 4 ส่วนด้วยกัน ดังนี้

  1. Culture, Team & Network การสร้างวัฒนธรรมใหม่ในองค์กร, การสร้างทีม และการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับคู่ค้าหรือลูกค้าภายนอก
  2. Technology & Transformation การทำความรู้จักเทคโนโลยีและนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้เปลี่ยนแปลงส่วนต่าง ๆ ภายในธุรกิจองค์กร
  3. Tools การมองหาเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาช่วยให้การทำงานและการดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  4. Timing การกำหนดจังหวะเวลาว่าเมื่อใดควรเริ่มทำสิ่งใดหรือควรเลิกทำสิ่งใด เทคโนโลยีใดควรมีช่วงอายุอย่างไร
Image credit: Microsoft

สำหรับเทรนด์ทางด้านเทคโนโลยีที่น่าสนใจในมุมของ Microsoft ในช่วงนี้จะแบ่งออกเป็น 10 ประเด็น ได้แก่

  1. Every Business is Digital Business Software กลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและการสร้างการเติบโต
  2. Only Write the Code that Only You Can Write การพัฒนา Software ต้องมุ่งเน้นเฉพาะงานที่สำคัญและโดดเด่นเท่านั้น และพยายามลดงานที่สามารถใช้เทคโนโลยีหรือส่วนอื่น ๆ เข้ามาช่วยได้ ไม่ต้องไปเสียเวลาพัฒนาระบบนั้น ๆ เองอีกต่อไป
  3. Data as Intelligence เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน Tech Stack ของวงการ Data ที่ย้ายออกจาก Hadoop, Data Marts หรือ Warehouse ไปสู่รูปแบบใหม่ ๆ เช่น การถามคำถามให้ระบบตอบ หรือนำข้อมูลมาตอบสนองต่อผู้ใช้ด้วยวิธีการใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่การ Query แบบเดิม ๆ
  4. IT Culture Transformation คน IT ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะความรู้ที่มีอยู่เดิมนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป และไม่มีใครที่รู้ได้หมดครบทุกเรื่องอีกแล้ว
  5. Ship the API การสร้าง API เพื่อให้นวัตกรรมกลายเป็นปลายเปิดจะเป็นวาระสำคัญของทุกธุรกิจในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ
  6. Microservices การพัฒนา Software จะหันมาสู่ Microservices มากขึ้นเพื่อให้บริการจัดการและพัฒนาต่อยอดได้ง่ายสำหรับทีมขนาดใหญ่
  7. DevSecOps ประเด็นด้าน Security จะมีความสำคัญมาก ๆ และ DevOps จะไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องเสริมด้วย DevSecOps เพื่อความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด
  8. SaaS All the Things แนวโน้มการบริโภค Software ในธุรกิจองค์กรจะหันไปสู่ SaaS มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยข้อดีทั้งด้านของความเร็วในการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ, การไม่ต้องดูแลรักษา และการคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงแบบรายเดือน
  9. Many Deployment, One Codebase การเลือกบริโภค Software จะต้องมีตัวเลือกหลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้งาน SaaS ทั่วไป, การแบ่ง Tenant เฉพาะไม่ปะปนกับคนอื่น และการนำระบบเดียวกันมาติดตั้งใน Cloud ที่องค์กรใช้ โดยมีบริการ Managed Services จากผู้พัฒนาคอยช่วยดูแลระบบ
  10. Multi-Tenancy การทำให้ลูกค้าที่ใช้ Software มั่นใจได้ว่าการทำ Multi-Tenancy นั้นมีการแบ่งส่วนอย่างถูกต้องจริง ๆ
Image credit: Microsoft

ทาง Microsoft นั้นมี Microsoft Cloud Adoption Framework for Azure เพื่อให้ธุรกิจองค์กรและผู้พัฒนา Software สามารถนำไปปรับใช้กำหนดกลยุทธ์ของตนเองได้ และยังมีเครื่องมือต่าง ๆ ทั้ง Visual Studio Code, Visual Studio, GitHub รวมถึงเครื่องมือบน Microsoft Azure ที่มีการพัฒนาความสามารถใหม่ ๆ นับหลายพันรายการอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การพัฒนา Software นั้นสามารถเป็นไปได้อย่างราบรื่นง่ายดาย ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจองค์กร รวมถึงยังมีความร่วมมือกับ AIS เพื่อเชื่อมต่อ ExpressRoute ตรงไปยัง Microsoft Azure และมี Edge Node ในไทย ทำให้ธุรกิจไทยสามารถใช้งาน Microsoft Azure ได้ด้วยประสิทธิภาพสูงสุด

Grab x Microsoft: เส้นทาง Transform Infrastructure จาก B2C สู่ B2B2X

คุณ Philipp Kandal ผู้ดำรงตำแหน่ง Head of Engineer และ GEO แห่ง Grab ได้ออกมาเล่าถึงความสำคัญของเทคโนโลยีแผนที่ที่จะกลายเป็นโครงสร้างสำคัญอันหนึ่งในการพัฒนาประเทศในฐานะเครื่องมือสำคัญสำหรับธุรกิจ Logistics, E-Commerce และธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย

ภายใน Grab เองนั้นมีการใช้งานแผนที่ภายใน Superapp ของตนเองในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการระบุจุดรับส่งของ, การนำทาง, การค้นหาร้านค้าในพื้นที่ใกล้เคียง และอื่น ๆ ซึ่งการพัฒนาระบบแผนที่ภายในแต่ละภูมิภาคก็มีความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความหลากหลายของการออกแบบห้างร้าน ในพื้นที่เดียวกันก็อาจมีหลายร้านจนสร้างความสับสนได้ อีกทั้งยังมีรูปแบบการเดินทางที่หลากหลายซึ่งประชากรในแต่ละพื้นที่ใช้พาหนะที่แตกต่างกัน และต้องมีเส้นทางการเดินทางที่ต่างกันออกไปบนแผนที่

Image credit: Grab

โจทย์เหล่านี้เองทำให้ Grab ต้องพัฒนาแผนที่ให้แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาค โดยมอง 3 ประเด็นเป็นหลัก ได้แก่

  • Coverage ความทั่วถึงและครอบคลุม ต้องมีข้อมูลแผนที่ในหลายพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
  • Accuracy มีความแม่นยำของข้อมูลในแต่ละพื้นที่อยู่เสมอ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Freshness ข้อมูลบนแผนที่ต้องมีความสดใหม่ อัปเดตอยู่ตลอดเวลา การเปิดร้านใหม่ การย้ายร้าน การเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง หรืออื่น ๆ ต้องมีข้อมูลล่าสุดในแผนที่ให้พร้อมใช้งาน

เบื้องหลังระบบแผนที่ของ Grab นี้ก็ประกอบไปด้วยข้อมูลสองส่วนทั้ง Structured Data ที่ระบุรายละเอียดต่าง ๆ และ Unstructured Data อย่างเช่นข้อมูลที่ลูกค้าส่งเข้ามาเพิ่มเติมทางแชต รวมถึงข้อมูลภาพที่นำมาประมวลผลด้วย Machine Learning เพื่อให้ Grab มีข้อมูลใหม่ ๆ เพิ่มเติมเข้ามาในระบบได้อย่างอัตโนมัติและแม่นยำ โดยหลังจากนี้ทาง Grab ก็มีแผนที่จะพัฒนาความสามารถใหม่ ๆ ให้กับแผนที่ของตนเองเพิ่มเติมต่อยอดต่อไปในอนาคต

Image credit: Grab

Grab ใช้บริการของ Microsoft Azure ในการพัฒนา Maps ของตนเองนี้ ด้วยการผสานเทคโนโลยี Azure Blob Storage, Azure Cognitive Service, Azure Spatial Anchor สำหรับการจัดการข้อมูล เข้ากับระบบด้าน Infrastructure อื่น ๆ เช่น Azure ND A100 Series GPU Chip, Azure Kubernetes Service, Azure Service Bus, Azure Citus, Azure Security และ Azure Application Gateway

เกิดอะไรขึ้นบ้างกับวงการ Startup และ Tech SMEs

คุณศรีหทัย พราหมณี ผู้จัดการส่วนงานเอไอเอส สตาร์ทอัพ ได้มาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ AIS ที่เริ่มมาผลักดัน Startup ไทยในงาน AIS Startup Weekend ตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งก็ได้กลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้วงการ Startup ไทยค่อย ๆ เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ และมีโครงการอื่น ๆ จาก AIS และ Microsoft เกิดขึ้นอีกมากมายภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน

ในมุมของ AIS นั้นประเทศไทยถือเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ Startup จากการที่เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียนในการจัดลำดับ Competitiveness Index โดย World Economic Forum 2019 ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทั้งพื้นที่ตั้งของประเทศ, การทำธุรกิจในไทย, ค่าครองชีพ และขนาดของตลาดที่มีขนาดองค์รวมใหญ่เพียงพอ แต่มีจำนวนความหลากหลายในความเฉพาะของแต่ละส่วนแบ่งตลาดที่มากเพียงพอ ให้ Startup ได้ทดสอบลูกค้าในรูปแบบที่แตกต่างกันในพื้นที่ที่เดียว

Image credit: AIS the Startup

ตัวอย่างหนึ่งธุรกิจ Startup ที่กล่าวถึงในงานนี้ก็คือ Shippop ซึ่งเป็นผู้พัฒนา E-Logistics Solution สำหรับธุรกิจ E-Commerce โดยเฉพาะ จากการที่มีโจทย์ชัดเจน, มีตลาดขนาดใหญ่, สามารถใช้เทคโนโลยีแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถต่อยอดเทคโนโลยีได้ดี โดยท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ทาง Shippop ก็ยังสามารถเติบโตและตอบโจทย์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้เป็นอย่างดี

แนวโน้มทางด้าน Startup ในไทยที่ AIS เห็นว่ากำลังเกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจแบบ B2C หรือ B2B มาสู่ภาพของ B2B2X ที่ Startup จะต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Infrastructure สำหรับรองรับเทคโนโลยีหรือธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกับธุรกิจอื่น ๆ เพื่อขยายฐานการเติบโตของธุรกิจได้อย่างมั่นคง

คุณ Emily Rich ผู้ดำรงตำแหน่ง Director of Microsoft for Startups ประจำภูมิภาค APAC ได้มาเล่าถึงโครงการสนับสนุนธุรกิจ Startup ที่ตนเองดูแลอยู่ซึ่งจะมุ่งเน้นการสนับสุนเทคโนโลยีเพื่อให้ธุรกิจ Startup สามารถเริ่มต้นและเติบโตได้อย่างมั่นคง ด้วยสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ Startup ที่เข้าร่วมโครงการดังนี้

  • ได้รับ Azure Credit สูงสุดถึง 120,000 USD ภายในระยะเวลา 2 ปี
  • สามารถใช้งาน Visual Studio และ GitHub Enterprise ได้ฟรี
  • สามารถใช้งาน M365 ได้ฟรี รวมถึง Microsoft Teams ด้วย
  • สามารถใช้งาน Dynamics365 และ Power Platforms ได้ฟรี
  • มีการสนับสนุนการใช้งานตลอด 24×7
  • สามารถเข้าถึงชุมชนของ Mentor ที่เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ได้ตลอด
  • ได้รับการสนับสนุนและผลักดันธุรกิจให้เติบโตจาก Microsoft
  • ได้รับโอกาสในการเข้าร่วม Event ต่าง ๆ ของ Microsoft มากกว่า 60 รายการ
Image credit: Microsoft

คุณศรีหทัยระบุว่าที่ผ่านมา AIS ได้รับเลือกให้เป็น Official Partner เจ้าแรกและเจ้าเดียวในไทย ที่ได้รับสิทธิ์เพื่อ Co-authorise ร่วมมือกับ Microsoft APAC ในการรับการสนับสนุนจากโครงการ Microsoft for Startups เพื่อสนับสนุนธุรกิจ Startup ไทยในกลุ่ม B2B และ B2B2x ด้วยเป้าหมายในการขยายขีดความสามารถให้กับ Startup  ไทยโดย AIS ส่งมอบ 4S ให้กับธุรกิจ Startup ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่

  • Speed สามารถเริ่มต้นหรือต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการได้อย่างรวดเร็วด้วยการใช้เทคโนโลยีบน Cloud
  • Saving สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นหรือต่อยอดธุรกิจเพื่อขยายในตลาดใหม่ได้อย่างมหาศาล
  • Solution สามารถพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้ด้วยความร่วมมือจาก AIS และ Microsoft
  • Sale & Marketing สามารถขยายตลาดได้เร็วโดยมีทีมงานของ AIS ช่วยขยายตลาดในไทยและภูมิภาค ในขณะที่ Microsoft จะช่วยขยายตลาดไปสู่ระดับโลก

ความร่วมมือกับ Microsoft และ AIS นี้ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับธุรกิจ Startup ไทย เพราะโดยทั่วไปแล้วนักลงทุนนั้นนอกจากจะพิจารณาถึงความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สร้างขึ้นมาแล้ว ปัจจัยด้านความมั่นคงของระบบ IT Infrastructure, ความสามารถในการเพิ่มขยายระบบในเชิงเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเติบโต และการสนับสนุนจากธุรกิจขนาดใหญ่นั้นก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนกับธุรกิจ Startup ด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://thestartup.ais.co.th หรือสอบถามข้อมูลที่ [email protected] หรือ Facebook AISTheStartup https://www.facebook.com/AISTheStartup

โอกาสสำหรับ Startup และ Tech SMEs ในอนาคต

ใน Discussion Panel นี้ได้นำวิทยากรชั้นนำจากทั่วไทยมาพูดคุยถึงแง่มุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจในวงการ Startup ไทย ว่าอนาคตหลังจากนี้จะมีโอกาสอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ Startup บ้าง

คุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้มาเล่าถึงสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังเตรียมเปิดกระดานที่ 3 ในตลาดหลักทรัพย์ภายในปีนี้เพิ่มเติมจาก SET สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่และ mai สำหรับธุรกิจขนาดกลาง โดยกระดานที่ 3 นี้จะเกิดขึ้นมาภายใต้ชื่อ LiVE Exchange เพื่อธุรกิจ Startup และ SME โดยเฉพาะ แต่อาจมีข้อกำหนดที่ผ่อนคลายกว่า mai  เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กและ Startup สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยเงื่อนไขการเข้าในกระดานนี้คือ ต้องมี VC ลงทุนหรือมีรายได้ตามข้อกำหนด ซึ่งอาจจะมีกำไรหรือยังไม่มีก็ได้

การเกิดขึ้นของกระดานที่ 3 นี้จะทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ กับธุรกิจจำนวนมาก แต่สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะดูแลก็คือ การตรวจสอบและการกำหนดเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดสมดุลในตลาดและการลงทุน รวมถึงให้ความรู้แก่ธุรกิจและนักลงทุน พร้อมทั้งช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง

คุณพิพัฒน์ พิเชฐจำเริญ อุปนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยและผู้ก่อตั้ง Witsawa ธุรกิจผู้พัฒนา Software ให้กับ Startup ที่ขาดทีม Developer ได้มาให้ความเห็นต่อโครงการ AIS Microsoft the Startup ว่าจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของ CTO ในธุรกิจ Startup ลงได้เป็นอย่างมาก เพราะบริการ Cloud นั้นจะช่วยแบ่งเบาหน้าที่ในการดูแลรักษาระบบ IT เบื้องหลังลงไปได้อย่างมหาศาล ในขณะที่บริการที่หลากหลายบน Cloud ก็จะทำให้ CTO ไม่ต้องเสียเวลาพัฒนา Software หลายส่วนด้วยตนเอง ในขณะที่การคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงก็จะทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องสูงขึ้น โดยตัวช่วยอื่น ๆ ที่ Microsoft ได้หยิบยื่นให้กับ Startup อย่างเช่น M365 หรือ Dynamics 365 ก็จะทำให้ธุรกิจโตต่อไปได้อย่างมั่นคง และทีมงาน AIS เองก็จะสามารถช่วยสนับสนุนเชิงเทคนิคให้กับธุรกิจ Startup ไทยได้โดยทีมงานวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยที่พร้อมให้คำปรึกษาด้านการใช้งานโซลูชันต่าง ๆ ของ Microsoft

คุณสถาพน พัฒนคูหา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่งบริษัทสมาร์ทคอนแทรคท์ บลอกเชน สตูดิโอ ได้มาเล่าถึงประสบการณ์ของการร่วมงานกับ Microsoft ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Blockchain ในประเทศไทย ว่าการสนับสนุน Cloud Credit จาก Microsoft นั้นทำให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุนในการ Demo ระบบให้กับลูกค้าลงไปได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เครื่องมือ Low-Code หรือ No-Code จาก Microsoft ก็ทำให้ธุรกิจสามารถพัฒนาโซลูชันใหม่ ๆ ไปนำเสนอหรือให้ลูกค้าทดลองใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่การใช้เทคโนโลยีจาก Microsoft ก็ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจได้ไปด้วยอีกทาง

คุณอมฤต ฟรานเซน กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง AppMan ได้มาแชร์ประสบการณ์ของบริษัทที่ทำธุรกิจโดยเน้นลูกค้ากลุ่มประกันและเติบโตพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ต่อยอดอย่างเช่น AI, OCR และอื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์การทำงานแบบ Paperless และ Automation ให้กับภาคธุรกิจว่า การใช้ Microsoft Azure นี้ทำให้ AppMan สามารถพัฒนาระบบ AI ที่รองรับภาษาไทยได้อย่างแม่นยำขึ้นมาได้ และสามารถนำระบบไปให้บริการแก่สถาบันการเงินหรือประกันที่มีความเข้มงวดด้าน Security สูงได้ ทำให้ทุกวันนี้ AppMan กลายเป็นผู้ให้บริการ SaaS สำหรับภาคธุรกิจองค์กรไทยได้อย่างมั่นคง ด้วยเทคโนโลยีจาก Microsoft และการผลักดันโดย AIS ให้สามารถเติบโตได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

เปิดทิศทางการสร้าง Infrastructure ด้วย 5G และ Digital Technology เพื่อการขยายธุรกิจ

คุณธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กรแห่ง AIS ได้มากล่าวปิดท้ายถึงโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจไทยและ Startup จากการมาของ 5G ที่ไม่ได้เพียงแต่จะทำให้การเชื่อมต่อ Internet มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ 5G ยังถูกออกแบบมาสำหรับรองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ ๆ ในเชิงธุรกิจได้ เช่น การเชื่อมต่อพูดคุยระหว่าง Sensor จำนวนมหาศาลภายในพื้นที่ขนาดเล็ก หรือการเชื่อมต่อเครือข่ายได้แบบ Low Latency จากทุกที่ทุกเวลา

ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ 5G จึงกลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิด Application รูปแบบใหม่ ๆ ในประเทศไทยได้ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ, การผ่าตัดทางไกล, การใช้ Sensor ปริมาณมหาศาล, การทำ Live Streaming จากอุปกรณ์ต่าง ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย และ Application ใหม่ ๆ เหล่านี้เองที่จะกลายเป็นพื้นที่แข่งขันทางนวัตกรรมแห่งอนาคต

อีกสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีหนึ่งที่เกิดขึ้นจาก 5G ก็คือ การมาของ Edge Computing ที่สามารถย้ายพลังประมวลผลเข้าไปใกล้กับ Edge ได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งจะช่วยสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทางด้าน IoT และ AI ให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย

Image credit: AIS

AIS ระบุว่าการใช้งาน 5G ในเชิงธุรกิจ B2B หรือภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกนั้นจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2022 – 2023 โดยในปี 2025 ตลาดของ 5G ในไทยจะมีมูลค่าสูง 950,000 – 1,200,000 ล้านเหรียญเลยทีเดียว ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นโอกาสในการที่ธุรกิจ Startup จะเริ่มเรียนรู้ถึงเทคโนโลยีและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จาก 5G ในปีนี้และปีหน้า

คุณธนพงษ์ได้ยกตัวอย่างของธุรกิจ Startup และธุรกิจต่าง ๆ ที่น่าสนใจซึ่งใช้ 5G เป็นเทคโนโลยีสำคัญ เช่น

  • BadVR พัฒนาระบบ Immersive Analytics Platform ใช้ AR แสดงผลข้อมูลแบบ Realtime
  • Seadronix พัฒนาเรือไร้คนขับที่ใช้ AI และ 5G ในการขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ
  • L’oreal ใช้ AR และ 5G ในการส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าเพื่อตรวจวัดคุณภาพผิวของลูกค้าและแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมได้อย่างแม่นยำ
  • ท่าเรือแหลมฉบัง ใช้ 5G เชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งหมดในท่าเรือเข้าด้วยกัน และควบคุมเครื่องจักรได้จากระยะไกลได้
Image credit: AIS

ในมุมของ AIS Business นั้นที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือกับธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้าง Use Case ใหม่ ๆ ทางด้าน 5G มาโดยตลอด เรียกได้ว่า 5G จะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่ธุรกิจจะขาดไม่ได้อีกต่อไป ซึ่ง AIS เองก็เชิญชวนให้ธุรกิจ Startup ต่าง ๆ ที่มีไอเดียการประยุกต์ใช้ 5G เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของตนเอง มาลองพูดคุยกับ AIS เพื่อพัฒนาโซลูชันใหม่ ๆ ร่วมกัน

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://thestartup.ais.co.th หรือสอบถามข้อมูลที่ [email protected] หรือ Facebook AISTheStartup https://www.facebook.com/AISTheStartup