สวัสดีชาวออฟฟิศทุกท่านด้วยนะครับ ในช่วงเวลาแห่งการทำงานที่บ้านที่ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ เชื่อว่าหลายท่านอาจจะเริ่มมีสัญญานแห่งความเมื่อยล้า เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มออฟฟิศซินโดรมเรียบร้อยแล้ว ทีมงาน TechTalkThai เองเราก็มีวงจรการทำงานคล้ายกับทุกท่าน ซึ่งล่าสุดทีมงานเพิ่งจะได้ลองใช้โต๊ะปรับระดับแบบจริงจังเราจึงอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้ทุกท่านทราบ เป็นไอเดียในการตัดสินใจกันครับ ต้องขอออกตัวก่อนเลยครับว่าบทความนี้ไม่โฆษณาแต่อย่างใด มารับชมกันได้เลยครับ
ในปัจจุบันปฎิเสธไม่ได้ว่าชีวิตการทำงานของมนุษย์ออฟฟิศโดยส่วนใหญ่นั้นมักต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ตลอดการทำงาน เช่น โปรแกรมเมอร์ นักออกแบบกราฟฟิค นักการตลาดออนไลน์ และอื่นๆ ในช่วงเริ่มแรกของการทำงานเรามักตรากตรำอดทนกับอาการปวดคอ ขา หลัง เอว ข้อมือ ซึ่งนั่นคือสัญญานแรกเริ่มของกลุ่มโรคที่รักษาได้ยากอย่าง ออฟฟิศซินโดรม ความน่ากังวลของอาการเหล่านี้อาจดูไม่อันตรายนักในวัยที่เรายังอายุน้อย แต่ในบางรายอาจมีอาการถึงขั้นกระดูกทับเส้นประสาท ทำให้ชาตามจุดต่างๆ รบกวนการใช้ชีวิตของท่านเป็นอย่างยิ่ง และจากประสบการณ์การรักษาเหล่านี้อาจไม่ครอบคลุมประกันอีกด้วย อีกทั้งการรักษาให้หายขาดยังทำได้ยาก ซับซ้อน และใช้เวลานาน
ด้วยเหตุที่กล่าวมาการป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ ย่อมดีกว่าการมารักษาภายหลัง และแม้ว่าจะเกิดเหตุแล้วก็ยังควรป้องกันไม่ให้ความรุนแรงนั้นลุกลาม ซึ่งแนวทางที่ดีที่สุดคือใส่ใจกับท่าทางการนั่งของเราให้ถูกต้อง เข้าใจถึงขีดจำกัดของกล้ามเนื้อ โดยควรมีการเปลี่ยนอิริยาบทบ่อย ยืดผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นระยะ ประกอบกับออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้การใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยสนับสนุนจัดท่าทางให้เรานั่งทำงานได้อย่างถูกต้องตามหลักของ Ergonomics ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ ทั้งนี้หนึ่งในองค์ประกอบที่หลายท่านคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็คือโต๊ะทำงาน วันนี้เราจะมาพูดถึงโต๊ะทำงานที่ปรับระดับได้กันครับ
ทำไมโต๊ะทำงานของท่านจึงควรปรับระดับได้?
หากเราพิจารณาการนั่งที่ถูกต้องจะเห็นได้ว่าการนั่งที่ดีควรจะสามารถวางแขนทำมุมตั้งฉากกับลำตัว ประเด็นคือสรีระของคนมีความหลากหลายอย่างมาก ด้วยเหตุนี้การนั่งที่เหมาะสมอาจไม่เท่ากันเช่น คนที่ตัวเล็กก็อาจต้องการโต๊ะที่ไม่สูงนัก ยกตัวอย่างเช่นตัวของผู้เขียนเองสูง 173 เซนติเมตรเมื่อใช้งานกับเก้าอี้ Ergonomics ที่คิดว่าระยะวางข้อศอกพอดีคือ 68 เซนติเมตร แต่โต๊ะกินข้าวหรือโต๊ะทำงานธรรมดาอาจสูงตั้งแต่ 70 เซนติเมตรขึ้นไป ดังนั้นเมื่อทำงานไปหลายชั่วโมงอาจเกิดอาการบาดเจ็บจากการกดทับข้อมือได้ หรือแม้จะปรับที่เท้าแขนให้สูงขี้นก็อาจจะทำให้ไหล่ยกและตึงบ่าอยู่ดี เช่นกันอาจมีบางท่านที่เหมาะกับโต๊ะที่ต่ำกว่าที่ผู้เขียนใช้
เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น จากนั่งเป็นยืนทำงาน โต๊ะปรับระดับคือสิ่งที่จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เพราะเรากำลังพูดถึงโต๊ะที่มีความสามารถยืดสูงได้ถึง 100-140 เซนติเมตร (สินค้าในท้องตลาด) ดังนั้นเมื่อรวมกับการใช้งานขาตั้งจอทำให้ระดับสายตาในการยืนทำงานเกิดขึ้นได้จริง
อย่างไรก็ดีทุกวันนี้โต๊ะปรับระดับก็มีให้เลือกค่อนข้างหลากหลายเช่น การเลือกใช้ขาโต๊ะที่ปรับระดับได้ โต๊ะปรับระดับแบบมือหมุน แต่ที่เราจะนำเสนอในบทความนี้คือโต๊ะปรับระดับไฟฟ้าอัตโนมัติที่มีมอเตอร์อยู่ภายในจาก IKEA
แกะกล่องโต๊ะปรับระดับ IKEA
เนื่องด้วยจากการที่หลงเชื่อคำบอกเล่าของพนักงานขายว่าประกอบไม่ยาก ผู้เขียนจึงเลือกแค่ให้จัดส่งสินค้าเท่านั้น ซึ่งเมื่อสินค้ามาส่งพบว่าพนักงานพูดจริง เพราะกล่องที่เห็นก็พอจะเดาได้ทันทีว่าอุปกรณ์แพ็คมามีไม่มากและอีกกล่องใหญ่คือแผ่นไม้โต๊ะ และเมื่อจัดเรียงทั้งหมดแล้วการประกอบสินค้าก็ดูไม่น่ายากนัก
หลักการประกอบก็คือทำที่ส่วนโครงขาโต๊ะก่อน โดยขาโต๊ะใช้เหล็กค่อนข้างหนาจึงทำให้มีน้ำหนักมากพอสมควร แต่แน่นอนว่าได้มาซึ่งความแกร่งทนทาน ห่อหุ้มส่วนมอเตอร์ไว้อย่างมั่นใจ หลังจากขึ้นโครงแล้วก็มาแปะวัสดุโครงคานเข้ากับแผ่นไม้ พร้อมกับชุดเก็บสาย ชุดปุ่มกดปรับระดับ และส่วนจ่ายไฟ เมื่อเสร็จแล้วก็ยึดโครงขาโต๊ะเข้ากับแผ่นไม้ หากไม่มีความผิดพลาดคาดว่าจะเสร็จได้ในครึ่งชั่วโมง สิ่งที่ต้องเตรียมเองคือค้อนและไขควงสี่แฉก อย่างไรก็ดีน้ำหนักโต๊ะที่ต้องยกก็น่าจะราว 15 กิโลกรัม หากใครไม่ไหวก็หาคนช่วยสักคนนะครับ
หลังจากประกอบเสร็จแล้วให้ดูภาพเบื้องหลังฉากก่อนใช้งาน
สำหรับไม้ที่ IKEA นำมาใช้นั้นหากคนที่เคยซื้อสินค้าจาก IKEA มาก่อนจะรู้ดีว่าเป็นไม้อัด บุด้วยแผ่นลามิเนต จากขั้นตอนการประกอบมีจุดที่ต้องไขน็อตปลายแหลม ซึ่งสามารถใช้แรงหมุนลงไปได้ แต่ถ้าเป็นไม้เนื้อแข็งที่ดูทนทานกว่าอาจจะต้องใช้สว่านนำไปก่อน รวมถึงต้องระมัดระวังเรื่องการแช่น้ำด้วยนะครับ อย่างไรก็ดีสีของลามิเนตที่ทำขึ้นก็ดูเนียนตาไม่น้อย ให้ความรู้สึกแทบไม่ต่างกันกับไม้จริง ซึ่งหากใครที่ไม่ได้ชอบลายไม้ท่านสามารถเลือกสีดำ ขาว หรือน้ำเงินแทน
ขนาดที่เลือกมาใช้งานที่เห็นกันนี้คือขนาด 160 x 80 ซม. เพราะคิดว่าจะรองรับการใช้จอมอนิเตอร์ได้ 2-3 ตัว แถมยังเหลือพื้นที่วางของอื่นได้สบาย โดยไม่เบียดบังแป้นพิมพ์และเม้าส์ แต่หากท่านใดมีพื้นที่จำกัดก็สามารถเลือกโต๊ะขนาดย่อมลงมาที่ 120 x 80 ซม.
การปรับระดับที่เป็นฟังก์ชันหลักของโต๊ะที่ควรคาดหวังได้คือต้องสามารถยืดได้สูงพอ ซึ่งโต๊ะจาก IKEA ทำได้สูงสุดที่ 125 ซม. แต่ก็เพียงพอแล้ว เพราะจากการทดลองร่วมกับขาตั้งจอขณะยืนก็ผู้เขียนใช้ที่ 110 cm เท่านั้น ไม่งั้นการยกแขนพิมพ์จะดูไม่สบายแล้ว ส่วนระดับความต่ำสุดของโต๊ะอยู่ที่ 65 ซม. ซึ่งถือว่าสำคัญเหมือนกันเพราะบางยี่ห้อไม่สามารถปรับลงได้เท่านี้
ปุ่มควบคุมของโต๊ะดูไม่ค่อยว้าวนักมีกลไกแค่ขึ้นกับลงเท่านั้น โดยการกดปุ่มค้างไว้จนได้ระดับที่พอใจ แต่ก็ดูเข้าใจง่ายดีเหมือนกัน ส่วนระบบการจ่ายไฟก็ใช้ไฟบ้านตามปกติ แต่ที่น่าใส่ใจคือพนักงานแจ้งว่าไม่รับประกันมอเตอร์จากไฟกระชาก ดังนั้นก็ระวังเรื่องไฟตกด้วยนะครับ
ข้อดี
- การันตีคุณภาพ โดยอาจกล่าวได้ว่าสินค้าของ IKEA อาจจะไม่ได้มีคุณภาพสูงสุดในตลาด Ergonomics แต่ด้วยความน่าเชื่อถือ ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าสินค้าสามารถส่งเคลมได้แน่นอน (ตามเงื่อนไขการรับประกัน)
- หากมีของส่งได้ทันทีในไม่กี่วัน ซึ่งนี้เป็นอีกหนึ่งในข้อดีของตลาดที่ทำมาปริมาณมาก เนื่องจากเจ้าอื่นอาจต้องรอของสั่งทำหลายสัปดาห์
- การเป็นไม้ชิ้นเดียวถือเป็นข้อได้เปรียบเนื่องจากบางเจ้ามีการนำเสนอแผ่นไม้ 2 ชิ้นประกบกันทำให้อาจลดทอน ความแกร่งของวัสดุลง
- ปรับแต่งได้สูงทั้งเรื่องสีขาโต๊ะ สีแผ่นไม้ หากพิจารณาดีๆ สำหรับคนที่เชี่ยวชาญเรื่องงานไม้อาจจะซื้อแค่ขามาประกบกับงานไม้ตัวเองได้ ช่วยประหยัดหรือเพิ่มความทนทานได้ดีกว่า
- สำหรับสายชอบหาทำเอง ชอบท้าทายสินค้าจาก IKEA ดูจะตอบโจทย์เพราะอุปกรณ์ไม่ค่อยพลาด และคู่มือมั่นใจได้ว่าไม่ผิด
- ความสูงต่ำสุดทำได้ค่อนข้างลึกที่ 65 ซม. ทีมงานเพิ่งจะทราบว่าบางยี่ห้อปรับได้ไม่เท่านี้
ข้อเสีย
- ลูกเล่นของระบบมีไม่มากเช่น บางยี่ห้ออาจสามารถตรวจสอบสิ่งกีดขวางเพื่อหยุดการปรับระดับได้ รวมถึงอาจจะมีหน้าจอแสดงความสูงขณะนั้นหรือ จดจำความสูงได้หลายระยะ หรืออื่นๆ
- ตามคู่มือแล้วน้ำหนักที่แนะนำคือไม่เกิน 70 กิโลกรัม ซึ่งแม้ว่าเพียงพอกับการเป็นโต๊ะทำงาน แต่หากเผลอมีคนขึ้นไปใช้ยืน อาจมีผลกับมอเตอร์ที่อาจสู้ไม่ไหว
- อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าคุณภาพแผ่นไม้ไม่ได้แข็งแรงหรือทนทานนัก ต้องระวังการใช้งานให้ดี
สรุป
การใช้งานสินค้าในลักษณะนี้แม้จะทำออนไลน์ได้ทันทีแต่อย่างไรเสีย หากเป็นไปได้ก็ควรจะไปทดลอง ตั้งโจทย์การใช้งานให้ดีนะครับ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อิงกับลักษณะทางกายภาพแต่ละท่านด้วย ลักษณะการใช้งานตามอุปนิสัย จำนวนอุปกรณ์บางคนของมากน้อยไม่เท่ากัน หากซื้อมาแล้วไม่ถูกใจก็ถือเป็นสิ่งที่จัดเก็บยากด้วย
ดังนั้นหากบางคนไม่ได้ทำงานนั่งโต๊ะมากก็อาจจะไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง โดยราคาหน้าเว็บของสินค้าที่เรานำมารีวิวครั้งนี้อยู่ที่ 17,990 บาท โครงขาโต๊ะราว 13,990 บาท ที่สำคัญในเชิงเทคนิคของโต๊ะประเภทนี้ หัวใจสำคัญคือมอเตอร์ ดังนั้นควรตรวจสอบให้ดีว่ามีเงื่อนไขการรับประกันอย่างไรนานกี่ปี หรือพิจารณาให้ดีว่าซ่อมยากแค่ไหน