โครงการ KI4LSA จากประเทศเยอรมนี ได้ทดลองนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลการสัญจรและควบคุมสัญญาณไฟจราจร โดยพบว่าเทคโนโลยีนี้อาจช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการสัญจรได้ 10-15%
KI4LSA เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง Fraunhofer Institute for Optronics, System Technologies and Image Exploitation (IOSB) บริษัทเอกชน และเมือง Lemgo ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงดิจิทัลและการคมนาคมของเยอรมนี (BMDV) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยสร้างระบบไฟสัญญาณอัฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสัญจร
โดยปกติแล้วไฟจราจรนั้นจะดำเนินการด้วยกฎเกณฑ์หลวมๆที่ตายตัว ซึ่งแม้จะทำงานได้แต่ก็ไช่การควบคุมการจราจรที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในโครงการนี้ นักวิจัยจากสาขา Industrial Automation (INA) ของ Fraunhofer IOSB ได้นำระบบ AI เข้ามาใช้งานร่วมกับกล้องคุณภาพสูงและเซ็นเซอร์เรดาร์ ด้วยระบบนี้ พวกเขาสามารถเก็บข้อมูลการสัญจรอย่างแม่นยำ เช่น ระยะเวลาที่รถติดไฟแดง และความเร็วโดยเฉลี่ยของรถที่ผ่านสี่แยก
เมื่อได้ข้อมูลอย่างละเอียดมาแล้ว พวกเขาก็ทำการเทรนโมเดล AI ด้วยเทคนิค Deep Reinforcement Learning ซึ่งทำให้โมเดลตัวนี้สามารถเรียนรู้จากข้อมูล และคิดหาวิธีการควบคุมไฟสัญญาณจราจรที่จะทำให้ระยะเวลารถติดสั้นที่สุดที่สี่แยก ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดเวลาให้กับผู้ใช้รถแล้ว ยังเป็นการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษทางเสียงด้วย
นักวิจัยได้นำโมเดลนี้ไปทดลองควบคุมไฟจราจรในระบบจำลองการสัญจรภายในเมือง พบว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้สามารถช่วยให้การสัญจรมีความคล่องตัวขึ้นราว 10-15% โดยในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะมีการนำโมเดลนี้ไปทดลองใช้งานจริงกับไฟจราจรภายในเมือง ซึ่งนักวิจัยคาดว่าอาจจะยังไม่ได้ประสิทธิภาพเท่ากับในระบบจำลอง และต้องมีช่วงปรับตัวในการทำงาน แต่หากสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วจะสามารถช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการจราจรได้อีกมาก
ข้อมูลจากสหภาพยุโรปเผยว่าภาวะรถติดนั้นส่งผลเสียต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปตีเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านยูโรต่อปี ซึ่งหากสามารถลดปัญหานี้ได้ นอกจากระยะเวลาในการเดินทางและสุขภาพจิตแล้ว ยังสามารถยกระดับเศรษฐกิจและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย