7 เทรนด์ AI ต้องจับตาแห่งปี 2022

0

นับตั้งแต่ทศวรรษนี้ เราได้เห็นว่า AI กลายเป็นเทคโนโลยีก้าวล้ำที่สุดที่มนุษยชาติเคยพัฒนาขึ้นมา แม้คำกล่าวของ Sundar Pichai แห่ง Google ที่ว่า AI จะสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่กว่าไฟฟ้านั้น อาจฟังดูเกินความจริงไปบ้าง แต่พอหันมาดูถึงสิ่งที่ AI ทำได้นั้น ก็ถือว่าสร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งเรื่องการรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การสำรวจอวกาศ และการรักษามะเร็ง เป็นต้น

เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับว่า AI มีความสามารถในการตัดสินใจได้รวดเร็วและแม่นยำกว่ามนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเปิดรับคือ ในช่วงปีนี้จะเป็นปีแห่งความก้าวหน้าและการพัฒนาด้านใหม่ ๆ จากการทดลองมาสู่การใช้งานจริง ลองมาดูกันผ่านมุมมองของ Forbes ว่า AI จะก้าวไปในทิศทางใดในปี 2022 นี้

Augmented Workforce: AI เสริมทัพแรงงาน

มีความเชื่อว่า จักรกลและหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์และอาจทำให้มีตำแหน่งงานทับซ้อนกันได้ ทว่าในขณะที่หลาย ๆ บริษัทต่างปรับเปลี่ยนกระบวนการไปสู่การนำ AI และข้อมูลมาผนวกรวมในการทำงาน เราก็จะยิ่งได้เห็นการทำงานร่วมกันหรือควบคู่ไปกับ AI ที่ใช้ความสามารถเสริมทักษะของเราเอง

ยกตัวอย่างเช่นงานด้านการตลาดที่เราสามารถนำเครื่องมือ AI มาช่วยติดตาม Lead และคาดการณ์ถึงคุณค่าที่จะได้รับจากลูกค้า หรือในด้านวิศวกรรมที่เครื่องมือ AI สามารถคาดการณ์เวลาในการบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่งช่วยให้พนักงานรู้ล่วงหน้าว่าเครื่องจักรต้องได้รับการบำรุงรักษาซ่อมแซมเมื่อใด ดังนั้น ในทุกสาขาอาชีพ เครื่องมืออัจฉริยะเหล่านี้จะเข้ามาช่วยให้งานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในปี 2022 ก็จะมีการยอมรับว่า AI เป็นส่วนสำคัญในการทำงานมากขึ้นด้วย

Image credit: Shutterstock

Language Modeling ที่เหนือกว่าเดิม

การสร้างแบบจำลองภาษา (Language modeling) เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ระบบ AI เข้าใจและสื่อสารกับมนุษย์ได้ด้วยภาษาธรรมชาติแบบที่เราเข้าใจ หรือแม้แต่การแปลภาษามนุษย์ไปสู่ภาษาคอมพิวเตอร์ที่สั่งการโปรแกรมและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ 

เมื่อไม่นานนี้เองมีการเปิดตัว GPT-3 ซึ่งเป็นโมเดลภาษาที่ก้าวล้ำที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา ซึ่งประกอบด้วยพารามิเตอร์กว่า 1.75 แสนล้านตัวแปรที่ระบบใช้ประมวลภาษา โดย GPT-3 พัฒนาขึ้นโดย OpenAI ซึ่งขณะนี้เองก็กำลังพัฒนาต่อยอดให้เป็น GPT-4 ให้ทรงพลังยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีพารามิเตอร์เพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 100 ล้านล้านตัว หรือมากกว่า GPT-3 ถึง 500 เท่า และในทางทฤษฎีก็จะเป็นก้าวสำคัญไปสู่การสร้างภาษาและรองรับบทสนทนาเทียบเท่ากับของมนุษย์ อีกทั้งจะมีความสามารถด้านการสร้างโค้ดคอมพิวเตอร์เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย

Image credit: Shutterstock

AI กับ Cybersecurity

งาน World Economic Forum เมื่อปี 2021 ได้กำหนด “ภัยไซเบอร์” เป็นภัยความเสี่ยงต่อสังคมยิ่งกว่าการก่อการร้ายเสียอีก ยิ่งจักรกลเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นเท่าไร การแฮ็กและถูกโจรกรรมข้อมูลก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้เพราะทุกอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายนั้นเป็น Point-of-failure ที่ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถใช้โจมตีได้ ยิ่งเครือข่ายของอุปกรณ์มีการเชื่อมต่อกันซับซ้อนเพียงใด ก็ยิ่งทำให้การระบุ Point-of-failure ทำได้ยากขึ้นเท่านั้น จุดนี้เองที่ AI จะเข้ามามีส่วนช่วยให้ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ได้มากขึ้น ด้วยการวิเคราะห์ปริมาณการใช้เครือข่าย (Network traffic) และการจับรูปแบบ (Pattern) ที่ส่อเจตนาร้าย ซึ่งเราจะได้เห็นการพัฒนา AI เพื่อความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นในปี 2022 นี้

Image credit: Shutterstock

AI กับ Metaverse

Metaverse เป็นชื่อของพื้นที่ดิจิทัลที่ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตได้ เป็นโลกเสมือนคล้ายอินเทอร์เน็ตที่เสริมประสบการณ์สมจริงยิ่งขึ้น แนวคิดดังกล่าวได้กลายเป็นกระแสหลังจากที่ Mark Zuckerberg มีแผนสร้าง Metaverse โดยการผสานรวมเทคโนโลยี VR เข้ากับแพลตฟอร์ม Facebook พร้อมกับเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta

แน่นอนว่า AI จะกลายเป็นแก่นสำคัญของโลก Metaverse เพราะมันจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ทำให้คนรู้สึกสบายใจในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ เราจะคุ้นชินกับการใช้ชีวิตบน Metaverse ร่วมกับ AI ที่คอยช่วยเราทำงานต่าง ๆ หรือแม้แต่เป็นคู่หูเล่นเกมเวลาเราต้องการปลดปล่อยพักผ่อนอย่างการเล่นหมากรุกหรือเล่นเทนนิส เป็นต้น

Image credit: Shutterstock

Low-code และ No-code AI

อุปสรรคใหญ่ของการรับนำ AI มาใช้ขับเคลื่อนประสิทธิภาพในหลาย ๆ บริษัท คือ การขาดแคลนวิศวกร AI ที่มีทักษะในการสร้างเครื่องมือและอัลกอริธึมที่จำเป็น ดังนั้น โซลูชัน No-code และ Low-code จะเข้ามาแก้ปัญหาส่วนนี้ด้วยหน้าจอ UI (User Interface) ที่ใช้งานง่ายและสามารถสร้างระบบ AI ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ลักษณะเดียวกับการออกแบบเว็บที่ใช้เครื่องมือสร้าง UI แบบลากวาง (Drag and drop) โดยไม่ต้องเขียนโค้ด เพื่อประกอบกราฟิกต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

ระบบ AI จะสามารถช่วยสร้างโปรแกรมอัจฉริยะด้วยการประกอบโมดูลที่สร้างขึ้นมาก่อนในแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แล้วนำเอาข้อมูลจากโดเมนที่ต้องการใช้งานมาใส่ให้ระบบ AI เรียนรู้ได้เร็วขึ้น และในเร็ว ๆ นี้ ด้วยเทคโนโลยีอย่างการประมวลภาษาธรรมชาติและการสร้างแบบจำลองภาษาจะช่วยให้เราสั่งการผ่านเสียงหรือข้อความโดยไม่ต้องเขียนโค้ดด้วยซ้ำ สิ่งนี้เองที่จะมีบทบาทสำคัญในการการทำให้ AI เข้าถึงและใช้งานได้ง่ายสำหรับทุกคน (Democratization of AI)

Image credit: Shutterstock

ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

AI คือ “สมอง” ที่ควบคุมยานยนต์อัตโนมัติ ทั้งรถยนต์ เรือ และเครื่องบิน ซึ่งจะปฏิวัติวิถีการเดินทางในทศวรรษที่จะถึงนี้ ในปี 2022 จะกลายเป็นปีที่เราย้อนกลับมามองและรู้สึกสะเทือนใจกับอุบัติเหตุทางถนนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1.3 ล้านคนต่อปี ซึ่ง 90% ล้วนเป็นความผิดพลาดของมนุษย์เอง

ด้าน Tesla เองก็แสดงประสิทธิภาพของยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ แม้ว่าจะยังไม่พร้อมใช้งานโดยทั่วไปก็ตาม คู่แข่งอย่าง Waymo จาก Google, Apple, GM, Ford และผู้ผลิตรายอื่นต่างก็ได้รับความคาดหมายในการประกาศก้าวสำคัญต่อไปในปีนี้ ซึ่งเราน่าจะได้เห็น Mayflower Autonomous Ship (MAS) เรือขับเคลื่อนอัตโนมัติจาก IBM ร่วมกับ ProMare ล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งแรกหลังจากที่เคยลองเดินทางเมื่อปีก่อนแต่ถูกสั่งให้ล้มเลิกไป

Image credit: Shutterstock

Creative AI

เป็นที่รู้กันดีว่า AI นำมาใช้สร้างงานศิลปะ ดนตรี กลอน บทละคร รวมถึงวิดีโอเกมด้วย ในปี 2022 เราน่าจะได้เห็นงานสร้างสรรค์ที่ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นจาก AI และจะไม่ได้เป็นเพียงการสาธิตความสามารถเฉย ๆ แต่ในปี 2022 จะยิ่งเห็นการนำมาใช้งานจริง เช่น การเขียนพาดหัวข่าวและบทความ การออกแบบโลโก้และอินโฟกราฟิก

ความคิดสร้างสรรค์มักถูกมองว่าเป็นทักษะเฉพาะของมนุษย์ แต่หลังจากนี้เราจะได้เห็นความสามารถดังกล่าวในจักรกลด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า ในแง่ของการทำงาน ปัญญาประดิษฐ์ “เทียม” กำลังมาถึงจุดที่ใกล้เคียงกับ “ปัญญา” ที่แท้จริงในไม่ช้า

Image credit: Possessed Photography via Unsplash