IBM เผย เทรนด์การใช้ AI นำไปสู่ความยั่งยืน

0

งานวิจัยใหม่ที่งานประชุม Think ประจำปีโดย IBM เผยว่า แม้ AI จะยังไม่ได้อยู่ในทุกหนแห่ง แต่การนำไปใช้งานก็เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจาก IBM Global AI Adoption Index 2022 ได้วิเคราะห์ผลสำรวจจากผู้นำด้าน IT ทั่วโลกกว่า 7,500 ชุด พบว่า องค์กร 35% ใช้ AI อยู่ ในขณะที่อีก 42% กำลังศึกษาการนำไปใช้งาน ซึ่งการนำ AI มาใช้งานจะช่วยสนับสนุนด้านความยั่งยืนและอุดช่องว่างทักษะสำคัญ (Skill gap)

Seth Dobrin ตำแหน่ง Chief AI Officer ประจำ IBM กล่าวว่า “ผลศึกษาที่น่าสนใจคือ มากกว่าครึ่งขององค์กรได้เร่งนำ AI มาใช้งานในช่วงสองปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีการใช้งาน AI เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปี ผมเชื่อว่าเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ และการนำ AI มาใช้จะไม่ใช่แบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างเมื่อก่อน”

ทำไมถึงมีการใช้งาน AI มากขึ้น?

คำอธิบายหลักว่าทำไมถึงมีการนำ AI มาใช้เพิ่มขึ้นนั้นก็เนื่องมาจากความต้องการใช้กลยุทธ์ที่สามารถดำเนินการและประยุกต์ใช้ AI กับเป้าหมายทางธุรกิจได้สำเร็จ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอย่างเป็นระบบและมุ่งเน้นผลลัพธ์ในระยะยาวย่อมใช้เวลา จากผลสำรวจพบว่า ปัจจุบันนี้มีองค์กรเพียง 28% ที่มีกลยุทธ์ AI แบบองค์รวมอยู่แล้ว ส่วนอีก 37% กำลังพัฒนากลยุทธ์ AI ของบริษัทอยู่

Source: IBM Global AI Adoption Index 2022

อีกเหตุผลหนึ่งคือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้เครื่องมืออัตโนมัติ เพื่อช่วยจัดการกับปัญหาช่องว่างทักษะและการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งก็เข้ามาตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที

“การ Upskill และ Reskill พนักงานเป็นเรื่องสำคัญในระยะกลางและระยะยาว แต่ในระยะสั้น AI ถือว่าเป็นทางออกที่ทรงพลัง โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงงานสำคัญอย่างการดำเนินการด้าน IT และความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งเป็นสายงานที่ต้องใช้ทักษะที่มีความซับซ้อน” Dobrin กล่าว

รายงานฉบับดังกล่าวยังเผยว่า บริษัทราว 1 ใน 4 นำ AI มาใช้เนื่องด้วยการขาดแคลนแรงงานและทักษะ และผู้เชี่ยวชาญด้าน IT ทั่วโลก 30% ระบุว่า พนักงานในองค์กรของบริษัทตนประหยัดเวลาด้วยการนำซอฟต์แวร์ AI และเครื่องมือระบบอัตโนมัติมาใช้

Source: IBM Global AI Adoption Index 2022

อุปสรรคต่อการนำ AI มาใช้

แม้ว่าการนำ AI มาใช้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีความท้าทายด้วยเช่นกัน ดังที่รายงาน IBM ระบุถึง 5 ประเด็นหลักที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้งาน AI ได้แก่

  • ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ความรู้ด้าน AI ที่จำกัด
  • ราคาต้นทุนสูง
  • การขาดแคลนเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่ใช้พัฒนาโมเดล
  • อุปสรรคในการบูรณาการ (Integration) และการขยายขนาด (Scaling)
  • ข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากเกินไป
Source: IBM Global AI Adoption Index 2022

Dobrin ชี้ว่า “ขั้นตอนสำคัญในการก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ คือ การวางกลยุทธ์ AI แต่การสร้างกลยุทธ์ AI ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี เราเชื่อว่าองค์กรต้องให้ความสำคัญกับพนักงานในการค้นหาและเลือกกรณีการใช้งาน AI ที่สร้างขึ้นเพื่อมนุษย์ที่ใช้งาน ด้วยวิธีนี้เอง เทคโนโลยีที่นำมาใช้งานจะคืนมูลค่าที่จับต้องได้ให้กับองค์กรด้วยการสร้างคุณค่าให้กับผู้คน”

อนาคตของ AI

ในชณะที่การใช้งาน AI ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่คือ วิธีที่องค์กรต่าง ๆ ใช้ AI เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน

Source: IBM Global AI Adoption Index 2022

รายงาน IBM พบว่า หลาย ๆ บริษัทจริงจังกับประเด็นเรื่องสภาพอากาศ ซึ่งรวมไปถึงการให้คำมั่นที่จะบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) จุดนี้เองที่ข้อมูลและ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ บริษัทราว 2 ใน 3 (66%) กำลังดำเนินการหรือวางแผนประยุกต์ใช้ AI เพื่อเป้าหมายด้านความยั่งยืน จากผลสำรวจพบว่า หลาย ๆ บริษัทต่างกำลังศึกษา AI เพื่อช่วยให้สามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (37%) ให้ข้อมูลที่ตรวจสอบได้เกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม (33%) และเก็บข้อมูลและสร้างรายงานอัตโนมัติ (29%)

“เราคาดว่าเทรนด์นี้จะเริ่มในปีหน้าเมื่อหลาย ๆ องค์กรเริ่มตระหนักถึงปริมาณข้อมูลความยั่งยืนที่บริษัทถือครองอยู่และลงทุนกับซอฟต์แวร์ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อเปลี่ยนข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลเชิงลึกพร้อมใช้งานที่จะช่วยในการตัดสินใจด้านความยั่งยืนได้มากขึ้นกว่าเดิมในแต่ละวัน” Dobrin กล่าว