Ericsson รายงาน ปี 2022 มียอดผู้ใช้ 5G ทั่วโลก 1 พันล้านราย คาดแตะ 4.4 พันล้าน ภายในปี 2027

0

Ericsson ออกรายงาน Ericsson Mobility Report ประจำปี 2022 คาดการณ์ว่า ยอดผู้ใช้งาน 5G ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะเติบโตสูงขึ้นสองเท่าจาก 15 ล้านบัญชีเมื่อปี 2021 และภายในปี 2022 จะมียอดผู้ใช้ 5G ทั่วโลกถึง 1 พันล้านราย

เนื้อหาสำคัญจากรายงาน Ericsson Mobility Report ชี้ว่า ปริมาณการใช้งานดาต้าบนมือถือทั่วโลกเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 มีจำนวนผู้ใช้ 5G มากถึง 620 ล้านราย และคาดว่าในปี 2027 จะมียอดผู้ใช้งาน 5G ถึง 4.4 พันล้านบัญชี ในขณะที่ยอดใช้งาน 4G ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และน่าจะเติบโตสูงสุดที่ 5 พันล้านบัญชีในปีนี้

Image credit: Ericsson

เมื่อเทียบการเติบโตของยอดผู้ใช้งานระหว่าง 4G กับ 5G แล้ว พบว่า ยอดผู้ใช้งาน 5G เติบโตมากขึ้นเร็วกว่า 4G รวมไปถึงเทคโนโลยีด้านเครือข่ายเคลื่อนที่รุ่นก่อนหน้าด้วย ซึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการนำ 5G มาใช้งานเร็วขึ้นก็คือ การใช้งานสมาร์ตโฟนและเครือข่ายบรอดแบนด์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลขององค์กรแม้จะเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ก็ตาม

รายงานยังเผยอีกว่า ประชากรโลกราว 1 ใน 4 สามารถเข้าถึงเครือข่าย 5G ได้ ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 มียอดผู้ใช้งาน 5G เพิ่มขึ้นอีกราว 70 ล้านราย และคาดว่า ประชากรโลกราว 3 ใน 4 จะสามารถเข้าถึง 5G ได้มากขึ้นภายในปี 2027

Image credit: Ericsson

มร. อิกอร์ มอเรล  ประธานบริษัท อีริคสัน ประเทศไทย กล่าวว่า “ในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดทั้งในด้านจำนวนผู้ใช้บริการและปริมาณการใช้งาน 5G โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะมียอดการใช้ดาต้าต่อสมาร์ทโฟนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แตะระดับ 45 GB ต่อเดือน ภายในปี 2027 หรือเติบโตเฉลี่ยที่ 30% ต่อปี จากตลาดในประเทศไทยที่มีความไดนามิกสูงมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มที่เป็น Tech Savvy ระดับต้น ๆ ของโลก”

ในรายงานยังได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการเชื่อมต่อความเร็วสูงแบบ Fixed Wireless Access (FWA) ที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต โดย Ericsson คาดการณ์ว่า ในปี 2022 นี้ จะมีการเชื่อมต่อแบบ FWA เกิน 100 ล้านจุด และจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวภายในปี 2027 แตะระดับ 230 ล้านจุด

Image credit: Ericsson

ในแง่ของ Internet of Thing  (IoT) ตามรายงานระบุว่าในปี 2021 บรอดแบนด์ IoT (4G/5G) แซงหน้า 2G และ 3G กลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่ใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่เชื่อมสัญญาณเซลลูลาร์แบบ IoT มากที่สุด หรือคิดเป็น 44% ของการเชื่อมต่อทั้งหมด

เทคโนโลยีเชื่อมต่อ IoT (NB-IoT, Cat-M) เพิ่มขึ้นเกือบ 80% ช่วงปี 2021 โดยมีการเชื่อมต่อแตะ 330 ล้านจุด และคาดว่าจำนวนอุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้จะแซงหน้าเทคโนโลยี 2G/3G ภายในปี 2023

Image credit: Ericsson

อ่านรายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับเต็มได้ที่นี่