การสร้างธุรกิจ Startup ที่เติบโตในระดับโลกให้สำเร็จได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ Amity บริษัท Startup สัญชาติไทยสามารถคว้าความสำเร็จนี้มาได้อย่างสวยงามจนแม้แต่ Financial Times ยังจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคยุโรป
ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? และ Amity มีเคล็ดลับอย่างไร? ในบทความนี้ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณอาร์ต ทัชพล ไกรสิงขร ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ดำรงตำแหน่ง CTO & Head of Professional Services แห่ง Amity ถึงปัจจัยในความสำเร็จนี้ และเทคโนโลยีที่ทำให้ Amity สามารถขยายตลาดสู่ระดับโลกและมีลูกค้าหลายร้อยองค์กรทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียได้ภายในเวลาเพียงแค่ 2 ไตรมาสเท่านั้น
Amity บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทยที่เติบโตรวดเร็ว จน Financial Times จัดอันดับให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในยุโรป
ในการพูดคุยครั้งนี้ คุณอาร์ตได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Amity เติบโตอย่างรวดเร็ว มีลูกค้าในตลาดระดับโลกได้หลายร้อยองค์กรจน Financial Times จัดอันดับให้เป็นบริษัทที่เติบโตรวดเร็วที่สุดเป็นอันดับที่ 132 ของยุโรปใน FT1000 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากการเติบโตถึง 1,020% ว่าเบื้องหลังความสำเร็จนั้นคือการพัฒนาโซลูชันเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ Pain Point ของธุรกิจองค์กรได้เป็นวงกว้าง
ก่อนหน้านี้ Amity ซึ่งเดิมมีชื่อว่า Eko ได้เข้าซื้อ ConvoLab สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแชทบอทโซลูชัน ในปี 2020 โดยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้เปลี่ยนชื่อรีแบรนด์ใหม่มาเป็น Amity นำเสนอผลิตภัณฑ์ Social Features โซลูชันแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น Feeds, Groups, Profiles, Chat ไปจนถึง Video Stories และ Live Streaming เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจระดับองค์กรขนาดกลางจนถึงใหญ่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ flagship เรียกว่า Amity Social Cloud (ASC) ประกอบไปด้วย Amity Social, Amity Chat, Amity Video และ Amity Bots ซึ่งก็ถือเป็นก้าวแรกๆ ที่ทำให้ Amity ได้เข้าไปมีส่วนในการร่วมพัฒนาโซลูชัน, ระบบ AI และได้ออกแบบประสบการณ์การติดต่อสื่อสารพูดคุยระหว่างธุรกิจองค์กรและลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งตัวโซลูชันนี้เองก็ได้รับการตอบสนองที่ดีมากๆ จากทั้งกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยและต่างชาติมาเป็นระยะเวลาพอสมควร
อย่างไรก็ดี ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ถึงแม้ Chatbot จะได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ธุรกิจองค์กรสามารถตอบสนองความต้องการและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าของตนเองได้ แต่ธุรกิจองค์กรหลายแห่งทั่วโลกนั้นก็เริ่มต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่ นั่นก็คือการสร้างช่องทางออนไลน์ที่เปิดให้ธุรกิจมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นกว่าระบบแชท และสามารถส่งมอบประสบการณ์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัวตามความต้องการของแต่ละธุรกิจไปสู่ลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้ได้ โดยยังต้องคำนึงถึงประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลนั่นเอง
เมื่อ Facebook ไม่ใช่พื้นที่ที่ดีในการสร้างชุมชนและสื่อสารกับลูกค้าอีกต่อไป จนธุรกิจองค์กรต้องเริ่มหาช่องทางใหม่บนโลกออนไลน์
ที่ผ่านมา Social Network อย่าง Facebook นั้นถือเป็นช่องทางการตลาดและการสื่อสารที่ดีมากสำหรับธุรกิจองค์กร เพราะช่วยให้เกิดบทสนทนารูปแบบใหม่ๆ ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกกับลูกค้าของตนเองได้อย่างหลากหลาย ใช้ประโยชน์ได้ทั้งการสร้างแบรนด์, การส่งเสริมการขาย และการสนับสนุนให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าของธุรกิจ
แต่ภาพเหล่านี้ก็เริ่มค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง เพราะเมื่อ Facebook เติบโตมากขึ้น ปัจจัยในเชิงธุรกิจที่เจ้าของ Platform ต้องเริ่มสร้างรายได้ก็เข้ามาเกี่ยวข้อง และทำให้เกิดการนำสมาชิกหรือข้อมูลของผู้ใช้งานและเหตุการณ์ต่างๆ ภายใน Social Network ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้งานเพื่อมุ่งเน้นไปที่การหารายได้มากขึ้น แทนที่จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยในชุมชน ดังที่เราจะเห็นได้ว่าโฆษณาใน Facebook มีปริมาณเพิ่มขึ้นมหาศาล อีกทั้งยังนำข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าไปใช้เป็นส่วนสำคัญในการเลือกเป้าหมายสำหรับการทำโฆษณา ส่งผลให้บางครั้งฐานลูกค้าของแบรนด์หนึ่งๆ ก็อาจถูกนำไปใช้เป็นฐานโฆษณาสำหรับลูกค้าของแบรนด์คู่แข่งได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เหตุการณ์การนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานภายใน Facebook ท่ามกลางกระแสของกฎหมาย Data Privacy อย่างเช่น GDPR ในยุโรปหรือ PDPA ในไทยนั้น ก็ได้ทำให้ธุรกิจองค์กรทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับบริการ Social Network ดังกล่าว ที่ข้อมูลของผู้คนชุมชนต่างๆ อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
ปัญหานี้ทำให้ผู้ใช้งานเองก็เริ่มขยาดกับการใช้งาน Facebook และทำให้ธุรกิจองค์กรเองก็เห็นว่า Facebook ไม่ใช่ช่องทางที่ดีในเชิงการตลาดอีกต่อไป เพราะการใช้ Facebook นั้นหมายถึงความเสี่ยงที่ข้อมูลฐานลูกค้าของตนเองจะถูกนำไปใช้ร่วมกับคู่แข่ง หรือนำไปใช้ในเชิงอื่นๆ ที่ธุรกิจไม่อาจรู้เห็นได้
เหตุเหล่านี้เองทำให้ธุรกิจองค์กรทั่วโลกนั้นเริ่มมองว่า Facebook ไม่ใช่ช่องทางในการทำการตลาดเพื่อเข้าถึงและสื่อสารกับลูกค้าในเชิงลึกที่ดีอีกต่อไป และได้กลายเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจทั่วโลกมองหาช่องทางใหม่ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ในรูปแบบที่ตนเองต้องการ โดยยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวของลูกค้า และไม่นำข้อมูลส่วนตัวหรือพฤติกรรมของลูกค้าไปสร้างรายได้จากการโฆษณาหรือการขายข้อมูล
พัฒนา Amity Social Cloud ตอบโจทย์การสร้าง Vertical Social Network ที่มั่นใจได้ว่าข้อมูลของผู้คนในชุมชนจะไม่รั่วไหลไปไหน
เมื่อ Amity เห็นแนวโน้มดังกล่าวแล้ว จึงได้มีแผนที่จะพัฒนาระบบเบื้องหลังเพื่อให้ธุรกิจองค์กรต่างๆ สามารถสร้าง Social Network ของตนขึ้นมาได้ และทำการจัดเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้าเอาไว้ในขอบข่ายที่ลูกค้าอนุญาตภายในองค์กร เพื่อทำการให้บริการลูกค้าและไม่แบ่งปันข้อมูลออกไปยังภายนอกเท่านั้น ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ได้ถูกสะท้อนออกมาในผลิตภัณฑ์ Amity Social Cloud (ASC) ที่ถูกพัฒนาจนแล้วเสร็จและเปิดตัวสู่ตลาดภายในช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา
แนวคิดของ Amity Social Cloud (ASC) นี้คือระบบ Platform-as-a-Service (PaaS) ที่เปิดให้ธุรกิจองค์กรสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดกลายเป็น Social Network ในรูปแบบที่ตนเองต้องการได้ผ่าน SDK โดยรองรับข้อมูลที่หลากหลายได้แก่
- Social Essentials ความสามารถพื้นฐานสำหรับการสื่อสารภายใน Social Network เช่น Mention, Reaction, Push Notification, Realtime Event, Search, Explore และ Suggestion เพื่อรองรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนในรูปแบบที่หลากหลาย
- User Profiles การจัดการโปรไฟล์ของผู้ใช้งานแต่ละคน
- Communities ระบบชุมชนย่อยภายในเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกเข้าร่วมหรือสร้างชุมชนภายใน Social Network ได้ตามต้องการ
- Activity Feeds ระบบสำหรับการอัปเดตข้อมูลผ่าน Feed เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลจากชุมชนที่ตนเองสนใจได้อย่างสะดวก
- Posts & Comments ระบบสำหรับการสร้างเนื้อหาภายใน Social Network ทั้งในรูปแบบข้อความ, รูปภาพ, วิดีโอ, Livestream, File, แบบสอบถาม และอื่นๆ ตามแต่ธุรกิจจะกำหนด
- Moderation ระบบสำหรับบริหารจัดการผู้ใช้งานและเนื้อหา เพื่อให้ธุรกิจสามารถควบคุม Social Network ของตนเองให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ตามต้องการ
- Security & Infrastructure ระบบโครงสร้างพื้นฐานเบื้องหลังในการจัดเก็บข้อมูลภายใน Social Network ที่ผ่านมาตรฐาน ISO27001 และรองรับ GDPR โดยทำงานอยู่บนบริการ Cloud ของ AWS หลายแห่งทั่วโลก
ด้วยความสามารถที่ครบถ้วนและพร้อมใช้งานนี้ เมื่อ Amity ทำการเปิดตัวโซลูชันดังกล่าวและนำไปเสนอแก่ธุรกิจองค์กรทั่วโลก ก็ทำให้ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วจากความต้องการอันเร่งด่วนของทุกธุรกิจที่ต้องการจะปลีกตัวออกจาก Social Network อื่นๆ เพื่อนำ SDK ของ Amity มาต่อยอดสร้าง Social Network ของตนเองบนระบบ Website หรือ Mobile Application ที่มีอยู่เดิม ให้ลูกค้าของตนเองเกิดความมั่นใจในความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และทำให้องค์กรสามารถส่งมอบประสบการณ์ที่แตกต่างจากคู่แข่งได้อย่างเต็มที่
Amity สามารถสร้างฐานลูกค้าใหม่สำหรับ Amity Social Cloud (ASC) นี้ได้หลายร้อยรายจากธุรกิจหลายอุตสาหกรรมภายในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือน โดยมีกรณีศึกษาของการนำไปใช้งานที่น่าสนใจ เช่น
- TrueID ได้นำ Amity Social และ Amity Chat เข้าไปเสริมให้กับ TrueID Application เพื่อสร้างชุมชนของผู้ใช้งานมากกว่า 120,000 คนภายในระบบ โดยมีการโพสต์เนื้อหาจากผู้ใช้งานมากกว่า 700 ล้านรายการต่อเดือน
- Kaizen Gaming GameTech company ชั้นนำของกรีซ ใช้ Amity Chat เพื่อสร้าง engagement ระหว่างผู้ใช้งานและแฟนกีฬา ได้พูดคุยกันอย่างสนุกสนานเมามันในช่วงระหว่าง Game Livestreams
- Baylor Scott & White Health (BSW Health) สร้าง Prayer Wall บนเว็บและแอปด้วย Amity Social ให้เป็น community ที่ทั้งปลอดภัยและเป็นส่วนตัว ให้กับผู้ป่วยและญาติมิตรได้ส่งกำลังใจ และ positive energy ระหว่างกัน อีกทั้งยังเป็นโซลูชันที่มีคุณค่าทางจิตใจ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต่างรู้สึกเหงาหรือเดียวดาย
- Diet Doctor เว็บไซต์อันดับหนึ่งด้านสุขภาพและโภชนาการของสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ Amity Social เพื่อสร้างชุมชนของผู้รักสุขภาพ ให้เป็นพื้นที่แบ่งปันข้อมูลด้านสุขภาพที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกนำข้อมูลส่วนนี้ไปใช้กับการทำโฆษณาแต่อย่างใด
- Perx Health โรงพยาบาลในออสเตรเลียได้นำ ASC ไปใช้สร้างชุมชนสำหรับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้ทำการแบ่งปันประสบการณ์การรักษาโรคต่างๆ ระหว่างกันและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แทนการพูดคุยบน Social Network แบบดั้งเดิมที่ไม่อาจควบคุมการแพร่กระจายของข้อมูลเหล่านี้ได้
- 80% ของธุรกิจประกันในประเทศไทย ใช้ ASC เป็นช่องทางหลักในการให้บริการลูกค้า ช่วยให้การตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการร้องขอข้อมูลต่างๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
- Makro ใช้ Amity Social และ Amity Chat สร้างช่องทางการสื่อสารภายในองค์กร เพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและความพึงพอใจในการทำงานให้สูงขึ้น
- CP All ใช้ Amity Chat สำหรับสื่อสารธุรกิจภายในองค์กรแทนระบบแชทภายนอก เพื่อให้การแบ่งปันข้อมูลสำคัญทางธุรกิจ เช่น รายงานธุรกิจ, แผนโปรโมชัน และสื่อการตลาดต่างๆ เป็นไปได้อย่างปลอดภัย
- RS Mall ใช้ Amity Chat ภายในระบบร้านค้าของตนเองเพื่อสื่อสารพูดคุยให้ข้อมูลและปิดการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประสบการณ์การซื้อของที่ดีเยี่ยมให้กับลูกค้าของตน
- โรงพยาบาลศิริราช ใช้ Amity Chat สำหรับการสื่อสารภายในระหว่างแพทย์และเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และสามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้โดยไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลจะรั่วไหลผ่านระบบแชทภายนอก
แนวโน้มที่ Amity เห็นได้จากการที่ธุรกิจองค์กรต่างๆ นำ Amity Social Cloud (ASC) ไปใช้งานนี้ ก็คือการสร้าง Vertical Social Network หรือระบบ Social Network เฉพาะ เพื่อให้บริการลูกค้าหรือพนักงานของตนเองผ่านช่องทางการสื่อสารที่สามารถควบคุมได้และมั่นใจว่าข้อมูลจะไม่รั่วไหล ซึ่งแนวโน้มนี้เองที่ Amity เชื่อว่าจะเป็นอนาคตของระบบ Social Network สำหรับภาคธุรกิจที่ควรจะเป็นในอนาคต
บุกตลาดระดับโลก “วิสัยทัศน์” และ “การบริหารคน” คือหัวใจสำคัญ
คุณอาร์ตได้เผยถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Amity Social Cloud (ASC) ประสบความสำเร็จในระดับโลกด้วยกัน 2 ประการ ได้แก่ “วิสัยทัศน์” และ “การบริหารคน”
ในประเด็นด้าน “วิสัยทัศน์” นั้น คุณอาร์ตได้เผยว่าจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดก็คือการที่ทีมบริหารจะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ของผลิตภัณฑ์หรือ Product Vision ที่ชัดเจน เข้าใจในจุดแข็งและจุดอ่อนของวิสัยทัศน์ของตนเอง เพื่อให้สามารถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสินค้าหรือบริการที่มีจุดแข็งที่โดดเด่น และถ่ายทอดวิสัยทัศน์นี้ไปสู่ทีมงานเพื่อให้สามารถสร้างสินค้าหรือบริการที่ตรงกับวิสัยทัศน์ได้อย่างแม่นยำ
ในตลาดระดับโลกนั้นมีความแตกต่างจากตลาดในประเทศไทยหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากทีเดียว เพราะสิ่งที่ทำให้ Amity สามารถปิดการขายในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปได้นั้นก็คือการที่ Amity สามารถถ่ายทอดวิสัยทัศน์ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่างมั่นใจไปสู่ธุรกิจองค์กรต่างๆ จนเกิดเป็นความเชื่อมั่นและนำมาสู่การตัดสินใจใช้งานโซลูชันจาก Amity ที่นำเสนอโซลูชันใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครนำเสนอมาก่อนได้
คุณอาร์ตได้ให้คำแนะนำว่าการกำหนดวิสัยทัศน์ของผลิตภัณฑ์ที่ดีจะต้องเริ่มจากความคิดที่ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนี้จะต้องมุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาที่สำคัญ อย่างเช่น Amity Social Cloud ที่เกิดมาเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกผู้ให้บริการ Social Network รายใหญ่ผูกขาดในการสร้างชุมชนและเกิดความเสี่ยงในการนำข้อมูลไปใช้ภายนอก ดังนั้น Amity Social Cloud จึงต้องการที่จะทำให้การสร้าง Social Network กลายเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจสามารถทำได้ และ Social Network ที่ถูกสร้างขึ้นนี้ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนมั่นใจได้ว่าข้อมูลจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดนั่นเอง
ส่วนประเด็นด้าน “การบริหารคน” ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะในการสร้างธุรกิจที่มีลูกค้าทั่วโลกนั้น การมีทีมงานอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้นย่อมทำให้ธุรกิจขาดความเข้าใจในตลาดที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ทั้งในเชิงของความคิด เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และมุมมองที่จำเป็นในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการสร้างทีมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติจึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญ
ในแง่ของการทำงานก็เช่นกัน Amity ที่ต้องการพัฒนาระบบเพื่อรองรับผู้ใช้งานทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมงให้ได้นี้ก็ย่อมต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการวางระบบที่มี IT Infrastructure กระจายอยู่ทั่วโลกและมีความซับซ้อนสูง ซึ่งในประเทศไทยยังคงหาผู้ที่มีประสบการณ์ด้านนี้ได้ยาก แต่หากหาทีมงานจากต่างชาติก็จะสามารถหาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้ง่ายกว่า
นอกจากเรื่องประสบการณ์แล้ว คุณอาร์ตก็ได้ให้ความเห็นว่าความหลากหลายในวัฒนธรรมและมุมมองของการทำงานกับพนักงานในหลากหลายเชื้อชาติเองก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะการพูดคุยสื่อสารทำงานกับคนแต่ละกลุ่มนั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ต่างกันมากนักก็คือเรื่องทักษะการเขียนโปรแกรม ที่คุณอาร์ตสัมผัสได้ว่าคนไทยเองก็เก่งไม่แพ้ชาติใด แต่บางคนอาจยังขาดทักษะด้านภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารที่ดี ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวไทยที่หากเสริมสร้างทักษะนี้ขึ้นมาได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการมองหาโอกาสใหม่ๆ ด้านอาชีพการงาน
แนะธุรกิจองค์กรไทย IT กลายเป็น Competitive Advantage การพัฒนานวัตกรรมด้วย Platform และ SDK คือตัวเร่งที่จำเป็น
คุณอาร์ตได้ทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำสำหรับธุรกิจไทย ว่าทุกวันนี้ IT ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อทุกธุรกิจเป็นอย่างมาก ทำให้การสร้างทีมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของตนเองเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจนั้นกลายเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการ Outsource อย่างในอดีต ดังนั้นถ้าหากธุรกิจมองหาการเติบโตที่มั่นคง ก็จะต้องเริ่มพัฒนาขีดความสามารถ IT ของบุคลากรภายในของตนเอง เริ่มมองหาโอกาสการนำ IT เข้ามาการสร้าง competitive advantage ให้กับองค์กร มุ่งเน้นปรับตัวทางธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่อนาคตแห่งโลกดิจิทัลเป็นสำคัญ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ หรือประสบการณ์ให้กับลูกค้าให้ได้ด้วยตนเอง
อย่างไรก็ดี ในการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในทุกวันนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์หรือทำด้วยตนเองทั้งหมด ในขณะที่การใช้โซลูชันที่มีความสำเร็จรูปแต่ปรับแต่งไม่ได้ก็เริ่มไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ดังนั้นการพัฒนาระบบใดๆ โดยต่อยอดจาก Platform-as-a-Service หรือ SDK จากผู้พัฒนาเทคโนโลยีรายอื่นๆ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะธุรกิจจะยังคงสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบที่ตนเองต้องการได้โดยไม่เสียเวลาในการพัฒนานานจนเกินไป
โจทย์สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีให้สำเร็จนี้ ก็คือการที่ธุรกิจต้องมีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการคุมโครงการ IT ให้สำเร็จ และมีทีมนักพัฒนาของตนเองในการแปลงวิสัยทัศน์ทางด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมให้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้นั่นเอง
สนใจโซลูชัน Vertical Social Network และ Chatbot ติดต่อ Amity ได้ทันที
สำหรับผู้ที่สนใจในโซลูชันของ Amity หรือต้องการที่ปรึกษาเพื่อพูดคุยถึงแนวทางการสร้างระบบ Vertical Social Network, ระบบ Chatbot ที่รองรับภาษาไทยได้อย่างแม่นยำ หรือการออกแบบ Customer Experience ในการสื่อสารกับลูกค้าผ่านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ สามารถติดต่อทีมงาน Amity ได้ทันทีที่ http://www.amity.co/th/contact-sales หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ Amity ได้ทันทีที่ https://www.amity.co/