ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Internet of Things หรือ IoT ซึ่งเป็นเครือข่ายของอุปกรณ์เชื่อมต่อที่แลกเปลี่ยนข้อมูลไปยังศูนย์กลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการสนทนาโต้ตอบกับอุปกรณ์และการควบคุมอัตโนมัตินั้น ได้เข้ามาเกี่ยวพันในแต่ละช่วงกิจกรรมของชีวิตคุณในยุคนี้ เรียกได้ว่า IoT เข้ามาเติมเต็มช่องว่างระหว่างโลกกายภาพและโลกดิจิทัลด้วยการเชื่อมข้อมูลของอุปกรณ์ต่าง ๆ กับมนุษย์อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ ช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นในหลายมิติ
เราคงเคยเห็นตัวอย่างการนำ IoT ไปประยุกต์ใช้งานหลากรูปแบบในหลายอุตสาหกรรม และในปี 2022 นี้ มีการใช้งาน IoT ในลักษณะใดบ้าง ร่วมค้นหาคำตอบได้ในบทความนี้
1. Smart City
Smart City หรือที่เรียกว่าเป็น “เมืองแห่งอนาคต” เป็นแนวคิดของการนำ IoT มาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในด้านเทคโนโลยี โดยแนวคิด Smart City เป็นนวัตกรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การวางแผนเมืองและการบริหารการปกครองผ่านการส่งมอบบริการจำเป็นต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ ไม่ใช่แค่การขยายเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน Smart City เกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่บริการภาครัฐ การจัดการขนส่งและจราจร การไฟฟ้าและการประปา สาธารณสุข การเกษตรในเมืองเชิงสร้างสรรค์ และการเก็บขยะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความทันสมัยให้กับเมืองด้วย

2. IoT เพื่อการเกษตร
ธุรกิจภาคการเกษตรมีแนวโน้มที่จะได้รับการปฏิวัติพัฒนาขึ้นด้วยการใช้งานแอปพลิเคชัน IoT เพื่อการเกษตรอันชาญฉลาดเพื่อปรับกระบวนการทำการเกษตรที่ใช้เวลานานให้ดียิ่งขึ้น โดย IoT สามารถช่วยกำหนดเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเก็บเกี่ยวพืชผล ผลิตปุ๋ยให้เหมาะกับคุณสมบัติทางเคมีของดิน และบอกระดับสารอาหารและความชื้นในดิน เป็นต้น
การทำ Smart Farming ต้องอาศัยการติดตั้งเซนเซอร์หลายตัวในกระบวนการเกษตร เช่น อุปกรณ์ที่ใช้คาดการณ์ข้อมูลสภาพอากาศและติดตามคุณภาพของผลผลิต รวมไปถึงการปศุสัตว์ด้วยการใช้เซนเซอร์ติดตามและบันทึกข้อมูลสุขภาพของสัตว์แต่ละตัว

3. IoT เพื่อการบริการและการท่องเที่ยว
ในธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว IoT ก็เข้ามามีบทบาทไม่น้อย ที่เห็นได้ชัดคือ การนำ IoT มาใช้เป็นระบบอัตโนมัติในการปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ กับลูกค้า ซึ่งจะช่วยลดจำนวนพนักงานที่จำเป็นในโรงแรมหรือสถานบริการแต่ละแห่ง ยกตัวอย่างเช่น กุญแจห้องอัจฉริยะบนมือถือที่ให้ลูกค้าโรงแรมเข้าห้องและเช็กอินได้โดยไม่ต้องติดต่อกับพนักงานโรงแรม โดยแขกผู้เข้าพักสามารถขอใช้บริการ Room service หรือรายงานปัญหาต่าง ๆ เช่น ผ้าเช็ดตัวมีไม่พอ ผ่านสมาร์ตโฟนได้ทันที ซึ่งก็ช่วยให้ทางโรงแรมบริการลูกค้าได้ทันที ในขณะเดียวกันก็ได้เก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

4. IoT เพื่อการค้าปลีก
สำหรับธุรกิจค้าปลีกแล้ว IoT ก็สามารถนำมาใช้ในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า หาข้อมูลเชิงลึกจากประวัติการซื้อสินค้า แนวโน้ม และตำแหน่งสถานที่เพื่อพัฒนาเป็นกลยุทธ์ลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยอุตสาหกรรมค้าปลีกในการประหยัดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้เช่นเดียวกับในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมประสบการณ์ลูกค้า เพิ่มการติดตามผลิตภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำแบบเรียลไทม์ ปรับปรุงแผนการจ้างพนักงาน และเสริมศักยภาพการจัดการสินค้าคงคลังได้ดียิ่งขึ้น

5. Smart Grid
Smart Grid คือ การนำ IoT มาใช้งานร่วมกับโครงข่ายไฟฟ้า โดยนำมาใช้วัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานผ่านเทคนิคต่าง ๆ เช่น การวัดปริมาณการใช้พลังงาน การคาดการณ์พลังงานขาดแคลนและเหตุไฟฟ้าดับ และการเก็บข้อมูลถึงพฤติกรรมการใช้พลังงานของผู้ใช้งานและธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่ได้ก็สามารถนำไปประเมินการใช้พลังงานของแต่ละบุคคลและค้นหาวิธีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในแต่ละครัวเรือนได้

6. ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นจริงแล้วและสามารถใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ในรถร่วมกับสมาร์ตโฟนได้ด้วย คอมพิวเตอร์ส่วนกลางที่อยู่ในยานยนต์ช่วยควบคุมระดับน้ำมันเครื่อง อุณหภูมิหม้อน้ำ และส่วนอื่น ๆ ที่ได้ช้อมูลจากเซนเซอร์ที่ติดตั้งทั่วทั้งรถ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบสถานะของรถได้ผ่านแอปบนมือถือ รวมถึงตำแหน่ง ระดับน้ำมันและเชื้อเพลิง และอื่น ๆ ด้วย

7. IoT กับการตรวจสุขภาพ
การแพร่ระบาดของ COVID-19 แสดงให้โลกได้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้าน Healthcare ซึ่งรวมไปถึงเทคโนโลยี ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และความสามารถในการปรับตัว โดย IoT ก็เป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่ปูทางไปสู่การพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพ ตัวอย่างเช่น เซนเซอร์ติดตัวผู้ป่วยขณะรักษาตัวอยู่บ้าน ซึ่งแพทย์สามารถติดตามผลและบันทึกการรักษาได้ อีกทั้งสามารถรับแจ้งหากเกิดเหตุวิกฤติ เช่น หัวใจล้มเหลว เป็นต้น

8. อุปกรณ์ติดตามเพื่อสุขภาพ (Fitness Trackers)
อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ IoT ช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายเพื่อสุขภาพและติดตามความก้าวหน้าของคุณได้ในทุกช่วงกิจวัตรประจำวันของคุณ เช่น การนอนหลับ การเต้นของหัวใจ ประเภทกิจกรรม สถิติการออกกำลังกาย แคลอรีที่เผาผลาญไป และอื่น ๆ ซึ่งสามารถวัดได้ด้วยอุปกรณ์ติดตามเพื่อสุขภาพ โดยอาศัยเซนเซอร์ในตัวอุปกรณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายของคุณเอง

9. Smart Home
ในบรรดาการใช้งาน IoT ทั้งหมด Smart Home ถือว่าได้รับความนิยมสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้าของ IoT ทำให้สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในบ้านได้ ทั้งระบบไฟ ระบบแจ้งเตือน และระบบประปาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในที่พักอาศัย จุดขายเด่น ๆ ของ Smart Home เลยก็คือความสะดวกในการเข้าถึงได้จากทางไกลผ่านอุปกรณ์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานเอง สมมติว่าคุณลืมปิดเตาอบก่อนออกจากบ้าน คุณก็สามารถสั่งปิดได้บนสมาร์ตโฟนของคุณเอง ดังนั้น คุณก็สามารถควบคุมทุกอย่างในบ้านได้ผ่านแอปเดียวง่าย ๆ แค่ปลายนิ้วสั่ง

10. โรงงานที่เชื่อมต่อด้วย IoT
Industrial IoT หรือ IIoT เป็น IoT ที่ใช้งานในอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเป็นโรงงานอัจฉริยะที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากกระบวนการและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และบรรลุประสิทธิภาพในระดับที่สูงขึ้น เครื่องจักรในโรงงานและสิ่งอื่น ๆ ในกระบวนการผลิตจะเชื่อมต่อกับเซนเซอร์เพื่อการวิเคราะห์ ซึ่งเทคโนโลยีลักษณะนี้จะช่วยลดปริมาณการใช้พลังงาน ตรวจสอบอุปกรณ์และตรวจจับปัญหาของอุปกรณ์เครื่องจักรในแหล่งผลิตได้ ทั้งหมดนี้จึงช่วยประหยัดต้นทุนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานได้อีกด้วย

บทสรุป
IOT จึงถึงว่าเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุดที่มีศักยภาพในการพัฒนาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพิ่มความมั่นคงปลอดภัย ปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรในหลากหลายอุตสาหกรรม และอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน หากคุ้นเคยกับตัวอย่างการประยุกต์ใช้งาน IoT ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ถึงเวลาแล้วที่คุณจะลองนำความรู้มาทดลองคิดค้นการใช้งาน IoT ในรูปแบบใหม่ ๆ มาใช้กับโลกจริง ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นหนึ่งในผู้สร้างนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ให้กับโลกใบนี้ก็เป็นได้