[Guest Post] Amity ผนึกกำลังร่วมกับ Thailand Android Developer, Thai Tech Communities และกรุงเทพมหานคร เปิดบ้านจัดกิจกรรม Android Developer Meetup 08.2022 ชูสัปดาห์แห่งนวัตกรรมของเทศกาล “บางกอกวิทยา”

0

กรุงเทพฯ 23 สิงหาคม 2565เอมิตี้ (Amity) บริษัทเทคโนโลยีที่นำเสนอบริการและโซลูชันเพื่อช่วยให้บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ บูรณาการโซเชียลฟีเจอร์ (social features) เข้ากับแอปพลิเคชันของตนเองได้อย่างง่ายดาย จับมือร่วมกับ ไทยแลนด์ แอนดรอยด์ ดีเวลอปเปอร์ (Thailand Android Developer) เฟซบุ๊กคอมมูนิตี้ของเหล่านักพัฒนาแอนดรอยด์ ไทย เทค คอมมูนิตี้ส์ (Thai Tech Communities) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดกิจกรรมเครือข่าย “Android Developer Meetup 08.2022” เปิดพื้นที่ในสำนักงานของ Amity ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ให้กับสาวกแห่งวงการแอนดรอยด์ได้มาร่วมสังสรรค์ พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ พร้อมทั้งแชร์ประสบการณ์จากการทำงานในบรรยากาศที่สนุกสนาน และเป็นกันเอง เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

คุณทัชพล ไกรสิงขร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO), Head of Professional Services และผู้ร่วมก่อตั้งของ Amity กล่าวเปิดงานต้อนรับว่า “ในนามของ Amity รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมจัดกิจกรรม meetup ครั้งนี้ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ได้เกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ขึ้น และยินดีที่ได้กลับมาเจอกับเหล่านักพัฒนาแอนดรอยด์อีกครั้ง หวังว่าทุกท่านจะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์จากการพบปะ พูดคุยกันจากกิจกรรมครั้งนี้ และเราหวังจะเป็นพันธมิตรส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรม meetup นี้อีกต่อไปในอนาคตเพื่อช่วยเสริมแกร่งให้กับชุมชนดิจิทัลในกรุงเทพฯ และรวมถึงประเทศไทย” 

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการเปิดเวทีให้สองสมาชิกแห่ง Thailand Android Developer ได้แก่ คุณนครินทร์ จูพัฒนกุล ตำแหน่ง Deputy Lead, Android Engineer ของ Amity ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานในหัวข้อ “Building Social Feed UI at Amity” ในขณะที่คุณธิปไตย พุทธานุกูลกิจ ตำแหน่ง Principal Android Developer ของ Pomelo Fashion มาร่วมถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ในหัวข้อ “Jetpack Compose, Road to Production” รวมถึงการถามตอบต่าง ๆ จากผู้เข้าร่วมงาน หลังจากเสร็จสิ้นการบรรยายแล้วจึงเป็นกิจกรรมสังสรรค์ สร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยน และทำความรู้จักกันระหว่างสมาชิกผู้ที่มาร่วมงานที่รักในสายเทคโนโลยีและแอนดรอยด์  

กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” หรือที่เรียกว่า “บางกอกวิทยา” สัปดาห์ที่ 3 เดือนสิงหาคม 2565 ที่ทางกทม. และพันธมิตรหลากหลายภาคีและเครือข่าย รวมถึง Thailand Android Developer, Thai Tech Communities และ Amity ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีจุดประสงค์คือเพื่อตอกย้ำว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดผ่านกิจกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยน การพูดคุย หรือการมองรายละเอียดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นไอเดียของเทศกาลนี้ ได้แก่ การมุ่งที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ เป็นเมืองที่ส่งเสริมชุมชนให้มีความสร้างสรรค์ในด้านเทคโนโลยี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังแห่งดิจิทัล ตลอดจนเปิดพื้นที่เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมสำหรับทุกคนได้มีส่วนร่วม