หากใครติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้นจะรู้ว่า AI เพิ่งเกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ด้วยวิวัฒนาการทั้งเรื่องข้อมูลที่มีเพิ่มขึ้นมหาศาลหรือว่าเรื่องหน่วยประมวลผลที่เร็วขึ้นหลายเท่าตัว ส่งผลให้ AI สามารถทำงานหลาย ๆ อย่างได้เทียบเท่าหรือดีกว่ามนุษย์แล้วตามที่จะได้เห็น Use Case มากมายในหลากหลายวงการ อย่างเช่น AI ที่ใช้ในด้านการแพทย์ AI กับวงการเกม หรือว่า AI อย่างระบบรู้จำใบหน้าหรือป้ายทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น
บทความนี้ ทีมงาน ADPT.news อยากจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ “iApp Technology” บริษัทสตาร์ตอัป AI ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องระบบสื่อสารสำหรับหุ่นยนต์ (Robot) และแชทบอท (Chatbot) ที่นำทัพโดย ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร CEO และ Co-Founder แห่ง iApp Technology ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ๆ ที่มุ่งเป้าจะเป็น “แพลตฟอร์ม” บริการระบบ AI ของประเทศไทย และก้าวไปสู่ระดับอาเซียนให้ได้ในสักวันหนึ่ง ซึ่งบอกได้เลย iApp Technology แห่งนี้คือหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ของประเทศไทยที่ลูกค้าไว้วางใจได้อย่างแน่นอน
ภาพรวมเทรนด์โลก AI ในปัจจุบัน
กว่าที่เทคโนโลยี AI จะมาถึงวันนี้ได้ เรียกว่าต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ นานา หากแต่ด้วยจุดพลิกผันที่โลกของเราเกิดคำว่า Big Data และหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงต่าง ๆ เช่น GPU จึงทำให้งานด้าน AI เติบโตแบบก้าวกระโดดแบบชนิดทิ้งห่างจากยุคก่อน ๆ แบบไม่เห็นฝุ่นเลยก็ว่าได้
จนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบัน โลกของ AI ในช่วงนี้มักจะได้เห็นงานต่าง ๆ จะออกมาเป็นลักษณะ “Deep Learning” ที่โมเดล AI สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างสบาย จึงทำให้ AI มีความสามารถที่อาจทำได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์แล้วในหลาย ๆ กรณี เช่น
- งานที่เกี่ยวกับ “ภาพ” อย่างเช่น การรู้จำวัตถุ (Object) ต่าง ๆ ในภาพว่าเป็นคน ถนน หรือต้นไม้ได้ในเสี้ยววินาที
- งานที่เกี่ยวกับ “ข้อความ” อย่างเช่น งานแปลภาษา สรุปใจความสำคัญจากบทความยาว ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
- งานที่เกี่ยวกับ “เสียง” อย่างการจำลองเสียงพูดหรือรู้จำให้กลายเป็นข้อความได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น ซึ่งงานลักษณะนี้เองที้ทำให้ AI สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดและใช้งานในธุรกิจได้อย่างหลากหลาย
แล้วหลังจากนี้ AI จะไปในทิศทางไหนต่อ? ดร.กอบกฤตย์ได้ให้มุมมองเทรนด์ที่จะเริ่มเห็นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนี้ นั่นคือโมเดลงานในด้านการสร้างสรรค์ (Generative Model) อย่างเช่น DALL-E หรือ midjourney ที่สามารถสร้างภาพศิลปะขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วด้วยข้อความเพียงไม่กี่คำ เป็นต้น ซึ่งงานแนวนี้อาจไป Disrupt อุตสาหกรรมกราฟิกดีไซน์ (Graphic Design) ได้ในอนาคต และอีกส่วนคือการเรียนรู้ลองผิดลองถูกตามประสบการณ์ (Reinforcement Learning) ที่เชื่อว่าจะได้เห็นผลลัพธ์ที่ทรงพลังมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่มีใช้งานในระบบขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Driving) ในยานยนต์นั่นเอง
กว่าจะมาเป็น iApp Technology
แม้ว่า ดร.กอบกฤตย์ จะจบมาทางด้าน AI ที่ JAIST ประเทศญี่ปุ่นมาโดยเฉพาะ แต่การเริ่มต้นทำธุรกิจกลับไม่ใช่ด้าน AI แม้แต่น้อย โดย ดร.กอบกฤตย์ได้เริ่มต้นร่วมก่อตั้ง “Rushbike” บริษัทสตาร์ทอัพด้านระบบขนส่งที่ประเทศสิงคโปร์ก่อน ซึ่งหลังจากดำเนินธุรกิจเรื่อยมาจน Exit ได้สำเร็จ ถึงจะเริ่มมาก่อตั้ง “iApp Technology (iApp)” เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมานี้เอง ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะใช้ความรู้ความสามารถในด้าน AI ที่เรียนรู้มาให้เกิดประโยชน์และต่อยอดในธุรกิจได้
แน่นอน ช่วงเริ่มต้นของการทำสตาร์ตอัปนั้นก็มักจะมีอุปสรรคมากมายที่ต้องฝ่าฝัน โดยเฉพาะเรื่องของเงินทุนที่อาจจะยังไม่ได้มีเม็ดเงินมากพอที่จะสามารถทำอะไรที่อยากทำได้ทั้งหมด ดังนั้น ช่วงเริ่มต้นของ iApp จึงเป็นเหมือนบริษัทรับพัฒนาซอฟต์แวร์หรือที่เรียกกันว่า Software House ทั่ว ๆ ไปเพียงเท่านั้น หากแต่เมื่อเวลายุคทองของ AI ได้มาถึงโลกใบนี้ ดร.กอบกฤตย์ ก็ไม่พลาดโอกาสที่จะทำให้ iApp กลายมาเป็นบริษัทเทคโนโลยี AI ที่มีโซลูชันหลากหลาย ดังเช่นทุกวันนี้
“ตอนนี้ AI ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นวิวัฒนาการเท่านั้น ยังสามารถพัฒนาไปได้อีกไกลมาก ๆ เปรียบเสมือนกับช่วงที่โลกเพิ่งจะค้นพบ ‘ไฟฟ้า’ ก็ว่าได้”ดร. กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร CEO และ Co-Founder แห่ง iApp Technology และนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ กล่าว “ดังนั้น AI เลยยังมีหนทางไปได้อีกไกลมาก อย่างเช่นการใส่ความฉลาดเข้าไปในสิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น และอีกไม่นานนัก แทบทุกบ้านน่าจะมีหุ่นยนต์สำหรับใช้งานภายในบ้านกันแล้วด้วย”
iApp กับโซลูชัน AI อันหลากหลาย
บอกได้เลยว่า iApp คือหนึ่งในสตาร์ตอัปไทยที่มีผลิตภัณฑ์ AI เยอะมาก ๆ เจ้าหนึ่งของประเทศไทย (เยี่ยมชมเว็บไซต์ของทาง iApp ได้ที่นี่) โดยจะแบ่งเป็น 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักใหญ่ ๆ ตามนี้
แชทบอทเจ๊าะแจ๊ะ จุดเริ่มต้นสู่การเป็นสตาร์ตอัป AI
หลาย ๆ คนคงคุ้นกับแชทบอทอยู่แล้วในทุกวันนี้ ว่าสามารถช่วยทดแทนแรงงานมนุษย์ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะใช้พูดคุยกับลูกค้าแนะนำผลิตภัณฑ์ในเบื้องต้น การตอบ FAQ ที่มักมีคำถามเข้ามาซ้ำ ๆ หรือว่าใช้คัดกรองผู้ป่วย คัดแยกความต้องการ ซึ่งด้วยความสนใจของ ดร.กอบกฤตย์และความต้องการในตลาดเริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น จึงได้ถือกำเนิดเป็น “Chochae Chatbot Engine” ขึ้นมาที่สามารถพูดคุย Live Chat ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในหลากหลายองค์กรมาแล้ว
นอกจากนี้ สิ่งที่ iApp ทำนั้นจะเหนือขึ้นไปอีกระดับ นั่นคือการสร้างให้เป็น “Knowledge Chatbot” ที่สามารถสกัดความรู้จากบทความยาว ๆ บางอย่างที่ส่งให้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถถามตอบกับแชทบอทได้ทันที หรือที่ iApp เรียกว่า FAQ Generator ที่สามารถตั้งคำถามและคำตอบขึ้นมาได้อัตโนมัติจากบทความและเอกสารที่เรียนรู้ได้ ลักษณะดังกล่าวนี้คือสิ่งที่ iApp เชื่อว่าจะเป็น “Next-Gen Chatbot” สำหรับยุคถัดไปที่การสร้างและใช้งานแชทบอทจะกลายเป็นอีกระดับหนึ่งที่ฉลาดขึ้นและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม
ต่อยอดสู่ Harmony AI ระบบเสียงพูดภาษาไทยสำหรับหุ่นยนต์
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะได้เห็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยในแบบต่าง ๆ มาบ้างแล้ว (ใครนึกภาพไม่ออก ดูตัวอย่างหุ่นยนต์ที่ iApp จำหน่ายได้ตามด้านล่าง) ซึ่งหลาย ๆ แห่งก็เริ่มจะมีการใช้งานหุ่นยนต์ลักษณะนี้บ้างแล้ว อย่างเช่นในร้านอาหาร โรงพยาบาล หรือว่าโรงแรม ซึ่งเชื่อว่าอนาคตจะมีการใช้งานในวงกว้างอย่างแพร่หลายแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์สำหรับช่วยผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ทำอาหาร หุ่นยนต์บริการ ตามห้างร้าน อาคารชุด หรือโรงพยาบาลเป็นต้น
หากแต่จุดหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นปัญหาของการใช้งานนั่นคือตัวหุ่นยนต์จริง ๆ มักจะผลิตในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อนำเข้ามาในประเทศไทยมักจะไม่สามารถพูดไทยได้ นั่นแปลว่าหุ่นยนต์ที่แม้จะมีประสิทธิภาพดีเพียงใดแต่อาจทำตลาดในประเทศไทยได้ไม่ดีเท่าที่ควร เหตุนี้เองจึงทำให้ iApp เห็นโอกาส ต่อยอดจากโซลูชันแชทบอท และสร้างมาเป็นระบบ “Harmony AI” สำหรับหุ่นยนต์ เพื่อช่วยสนับสนุนให้หุ่นยนต์ทั้งหลายนั้นพูดคุยกับผู้ใช้เป็นภาษาไทยได้อย่างเข้าใจกัน
จนถึงวันนี้ หุ่นยนต์และระบบ Harmony AI ของ iApp นั้นสามารถจำหน่ายในประเทศไทยไปได้มากกว่า 2 พันตัวแล้วในปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ๆ และในปี 2022 นี้เองก็ยังเติบโตขึ้นไปมากกว่าเดิมอีกด้วย ซึ่งจนถึงวันนี้ iApp ก็สามารถจำหน่ายหุ่นยนต์ไปได้เกือบจะเป็น 2 เท่าของปีที่ผ่านมาแล้ว จึงอาจพูดได้ว่าในอนาคตเรามีโอกาสที่จะได้เห็นการใช้หุ่นยนต์ผู้ช่วยในบ้านเหมือนในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องในสักวันหนึ่งก็เป็นได้
ขยายฐานสู่โซลูชัน E-Voting และ E-KYC
เมื่อระบบ AI พร้อมใช้งานแล้ว การขยายมาสู่อีกโดเมนหนึ่งสำหรับ iApp นั้นก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดจริง ๆ ซึ่งตามเวลาและโอกาส ก็ได้ทำให้ iApp ได้พัฒนาระบบ E-Voting ระบบการโหวตเลือกตั้งที่แม่นยำและปลอดภัย ระบบ E-KYC ที่ต้องมีการตรวจสอบทั้งบัตรประชาชน สแกนใบหน้า ฯลฯ ซึ่งภายในมีเทคโนโลยีมากมายเหลือเกิน และปัจจุบันมีบริษัทในอุตสาหกรรมประกันภัยใช้งานอยู่ 3-4 เจ้าแล้วด้วย
บริการระบบ AI ผ่าน API อย่างหลากหลาย
ยุคนี้ใคร ๆ ก็ให้บริการผ่าน API กันทั้งนั้น และ iApp ก็เช่นกัน ซึ่งบอกได้เลยว่า “AI API” ของ iApp นั้นมีเปิดให้บริการอยู่เยอะมากจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อความ เรื่องภาพ เรื่องเสียง ระบบ OCR บัตรประชาชน ระบบ LPR ป้ายทะเบียนรถยนต์ ระบบรู้จำเสียงรู้จำใบหน้า มีครบหมด แถมเปิด API พร้อมให้บริการตลอดเวลาแล้วด้วย หากใครอยากรู้ว่า AI ที่ทาง iApp พัฒนามีอะไรบ้าง ดูได้ที่หน้าเว็บไซต์ ai.iapp.co.th ได้เลย
“พอทำ AI มาเยอะ ๆ แล้ว มี API มากมาย ก็เลยอยากทำเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ที่จะสามารถเป็นแหล่งรวบรวม AI API ต่าง ๆ ไว้ให้บริการ แม้ว่าตอนนี้จะมีแค่ของทาง iApp แต่อนาคตจะเปิดให้คนทั่วไปสามารถส่งอัลกอริทึมขึ้นมาเปิดขายแล้วรับส่วนแบ่งไปได้เลย” นี่คือวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ที่ ดร.กอบกฤตย์ ต้องการที่จะเป็นแพลตฟอร์มระบบ AI ของประเทศไทยให้ได้ในสักวันหนึ่ง
บอกได้เลยว่า iApp เป็นอีกหนึ่งบริษัทสัญชาติไทยที่มีโซลูชัน AI หลากหลายมาก ๆ และที่ทำสำคัญคือทุกโซลูชันทุกผลิตภัณฑ์เป็นการ “พัฒนาขึ้นมาเองหมด” โดยที่ไม่ได้มีการเรียกใช้ API ของเจ้าใหญ่อื่น ๆ อีกด้วย นั่นหมายความ iApp สามารถ “ปรับแต่ง (Customization)” ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น และสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างหลากหลายนั่นเอง
จากสตาร์ตอัปสู่การเป็นนายกสมาคม AIEAT
“ทำสตาร์ตอัปไม่ใช่เรื่องง่าย บริษัทจะเติบโตไปได้แค่ไหน อยู่ที่จุดที่อ่อนแอที่สุดของบริษัท” หนึ่งในคำพูดที่ทีมงาน APDT.news ชอบมาก จาก ดร.กอบกฤตย์ ที่ชี้ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของ iApp ที่พยายามจะจัดการกับจุดอ่อนต่าง ๆ ภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้สตาร์ตอัปแห่งนี้เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีโอกาสที่จะเติบโตไปในระดับอาเซียนและระดับโลกต่อไปได้เลย
แม้สตาร์ตอัปจะเติบโตไปมากเพียงใด แต่ ดร.กอบกฤตย์ยังมีอีกหมวกหนึ่งที่ช่วยเหลือสังคมด้วย นั่นคือการเป็นนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence Entrepreneur Association of Thailand (AIEAT) ที่มีเป้าหมายผลักดันให้บริษัทผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในวงการ AI มีความแข็งแกร่ง ผนึกกำลังการสร้างสรรค์ให้วงการมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับระดับโลกได้ ซึ่งปัจจุบันสมาคม AIEAT มีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 24 บริษัทแล้ว หากองค์กรใดที่อยู่ในสายงานด้านปัญญาประดิษฐ์แล้วอยากจะเข้าร่วมสมาคมนี้ก็สามารถกรอกใบสมัครเข้าไปได้ พร้อมรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากสมาคมได้ทันที
สนใจโซลูชัน iApp ลองใช้งานก่อนได้ทันที
ทั้งหมดนี้คือ iApp ที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสตาร์ตอัปสัญชาติไทยก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการโซลูชัน AI ได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก ที่เชื่อว่าหากใครได้ลองใช้บริการของ iApp แล้ว ก็คงจะติดใจใช้งานอย่างต่อเนื่องได้ไม่ต่างกับบริษัทต่างชาติอย่างแน่นอน
“คู่แข่งของเราไม่ใช่สตาร์ตอัปที่ทำงาน AI ในไทยด้วยกัน แต่เป็นเจ้าใหญ่ที่อยู่ในต่างประเทศมากกว่า” ดร.กอบกฤตย์ กล่าวทิ้งท้าย “เราไม่อยากให้ความมั่นคงของเทคโนโลยี AI ตกไปอยู่ในมือของต่างประเทศ อยากให้ไทยยังคงมีเทคโนโลยี AI ที่อยู่ในไทยด้วย”
มาถึงตรงนี้ หากใครที่ต้องการทดลองใช้งานโซลูชันต่าง ๆ ของทาง iApp Technology สามารถติดต่อเข้าไปที่บริษัทได้เลย หรือหากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ในเว็บไซต์ iapp.co.th หรือทดลองใช้งานโซลูชันต่าง ๆ ก่อนได้ที่ ai.iapp.co.th
สุดท้ายนี้ ดร.กอบกฤตย์แห่ง iApp Technology จะมีไปบรรยายในงานสัมมนา “TTT Virtual Summit: AI & Data for Enterprises” ที่จะจัดขึ้นออนไลน์ในวันที่ 7 – 8 กันยายน 2022 นี้ด้วย ซึ่งภายในงานจะเป็นการอัปเดตแนวโน้ม นวัตกรรม Use Case และโซลูชันในด้าน AI/ML, Data Analytics, PDPA และอื่น ๆ อีกมากมาย โดย ดร.กอบกฤตย์จะบรรยายในวันที่ 7 กันยายน 2022 เวลา 15:30 – 16:00 น. ในหัวข้อ “รายงานสถิติการทำธุรกิจด้าน AI ของประเทศไทยประจำปี 2022” หากใครสนใจดูรายละเอียดกำหนดการเพิ่มเติม และลงทะเบียนได้ที่ https://conf.techtalkthai.com/ad22/ งานนี้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย แถมมี Lucky Draw ในงานอีกด้วย แล้วพบกัน