ท่ามกลางจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก แพทย์ก็ยังเผชิญกับความท้าทายในการติดตามอาการและผลการรักษา สาเหตุเพราะผู้ป่วยพักอาศัยอยู่ไกลจากศูนย์รักษาหรือไม่สะดวกในการเดินทาง
ทีมวิจัยจาก MIT ร่วมกับ The University of Rochester จึงได้พัฒนาอุปกรณ์ไร้สายคล้ายเราท์เตอร์ติดตั้งในบ้านเพื่อส่งสัญญาณตรวจจับการเคลื่อนไหวและความเร็วของผู้ป่วย เพื่อประเมินอาการความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษา
อุปกรณ์ดังกล่าวรวบรวมข้อมูลผ่านคลื่นสัญญาณวิทยุที่สะท้อนมาจากตัวผู้ป่วยเองในขณะเดินอยู่ในบ้าน โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องสวมอุปกรณ์หรือเปลี่ยนพฤติกรรมใด ๆ เช่นเดียวกับงานวิจัยก่อนหน้าที่ใช้อุปกรณ์นี้ตรวจจับรูปแบบการหายใจขณะนอนหลับ
เนื่องจากอุปกรณ์นี้ทำงานอยู่เบื้องหลังตลอดทั้งวันในการส่งคลื่นวิทยุแล้วสะท้อนกลับมาจากตัวผู้ป่วย มันจึงสามารถรวบรวมข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ และส่งข้อมูลต่อไปยังระบบเรียนรู้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนไหวและความเร็วของการเดินที่เก็บรวบรวมมาได้อีกที
จากการทดลองใช้อุปกรณ์กับผู้ป่วย 50 ราย ในระยะเวลา 1 ปี พบว่า แพทย์ผู้รักษาสามารถติดตามอาการและการตอบสนองต่อการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการประเมินในคลินิกเป็นระยะ ทั้งนี้เป็นเพราะข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์นั้นเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้จริง และนั่นอาจเป็นอนาคตของการรักษายุคใหม่ อันนำไปสู่การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยได้สะดวกยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องรอพบแพทย์
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเปเปอร์งานวิจัยนี้ได้ที่ https://www.science.org/doi/10.1126/scitranslmed.adc9669