70 ปี IBM Thailand กับเป้าหมายดึง Hybrid Cloud และ AI ช่วยองค์กรไทย-คู่ค้าเติบโตอย่างยั่งยืน

0

ในงานครบรอบ 70 ปีของ IBM Thailand ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ทาง IBM ได้ออกมาเผยถึงวิสัยทัศน์และทิศทางของ IBM ในการนำเทคโนโลยีเข้าสนับสนุนให้ลูกค้าและคู่ค้าทรานส์ฟอร์มและก้าวนำการเปลี่ยนแปลง เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน IBM มองว่าวันนี้เทคโนโลยีจะเป็นตัวกำหนดผู้ชนะ และได้วางโฟกัสนำ Hybrid Cloud และ AI เข้าสนับสนุนธุรกิจใน 5 ด้านหลัก คือ Automate, Data-Driven, Secure, Modernize โดยมีเป้าหมายปลายทางสูงสุดไว้ที่การ Transform 

ภายในงานยังมีการเชิญผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำของไทยมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และวิสัยทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เดอะมอลล์ และปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท. สผ.) ทำให้งานในครั้งนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น และทางทีมงาน TechTalkThai ก็ขอนำสรุปเนื้อหาเหล่านี้ไว้ดังนี้ครับ

7 ทศวรรษของการนำเทคโนโลยีเข้าสนับสนุนความสำเร็จองค์กรไทย

คุณสวัสดิ์ อัศดารณ MD ของ IBM Thailand เปิดงานด้วยการเล่าย้อนถึงโครงการสำคัญต่างๆ ที่ IBM ได้มีส่วนนำเทคโนโลยีเข้าสนับสนุนความสำเร็จตลอดช่วง 7 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งกับองค์กรธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ คู่ค้า ไปจนถึงภาคการศึกษา ที่สรุปไว้ภายใต้ 6 หมวดหลัก คือ

  1. การสนับสนุน National Platform โดย IBM เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าสนับสนุนการทำสำมะโนการเกษตรและประชากรเป็นครั้งแรกของไทย และจากนั้นก็ได้เป็นกำลังหลักสนับสนุนแพลตฟอร์มสำคัญๆ ขององค์กรหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์การโทรศัพท์ การบินไทย ปูนซิเมนต์ไทย เป็นต้น เมื่อไม่นานมานี้ IBM ยังได้มีโอกาสสนับสนุนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพัฒนาแพลตฟอร์มพันธบัตรรัฐบาลแรกของโลกบนเทคโนโลยี blockchain รวมถึงแพลตฟอร์ม Letter of Guarantee ของ BCI ที่วันนี้มีธนาคารกว่า 19 แห่ง เปิดให้บริการ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรรัฐวิสาหกิจ รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำ  
  2. ระบบที่รองรับการทำธุรกรรมการเงินหลายล้านรายการต่อวัน โดย IBM ได้มีส่วนสนับสนุนไมล์สโตนสำคัญของสถาบันการเงินไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ ยุค 1970 กับการช่วยรองรับระบบ online banking ครั้งแรกของไทยโดยธนาคารกรุงเทพ  ยุค 1980 กับการสนับสนุนระบบ ATM เครื่องแรกของไทยของธนาคารไทยพาณิชย์ เรื่อยมาจนถึงระบบ high value fund transfer ที่ธปท. ในยุค 1990 และวันนี้ ระบบอย่างเมนเฟรมและเทคโนโลยีต่างๆ ของ IBM คือเบื้องหลังที่รองรับระบบ core banking และการทำธุรกรรมทางการเงินหลายล้านรายการต่อวันของแทบทุกธนาคารในประเทศไทย 
  3. ระบบอัจฉริยะเบื้องหลังภารกิจสำคัญ โดย IBM เป็นหนึ่งในผู้นำโลกด้าน AI for Business และเป็นองค์กรแรกๆ ที่นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยสนับสนุนองค์กรไทย ตัวอย่างเช่น การจับมือกับ INET นำ AI Vision ช่วยแพทย์ตรวจหาวัณโรคจากภาพ x-ray ทรวงอกในโรงพยาบาลทั่วประเทศ การนำ automation ช่วยพีทีที เทรดดิ้ง เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และลดเวลาการจัดการกับการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้การค้า การนำ AI ช่วยเดอะมอลล์กรุ๊ปสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งแบบเฉพาะบุคคล (personalized) เชื่อมต่อห้างฯ-ออนไลน์แบบไร้ขีดจำกัด หรือล่าสุด การช่วยสหมิตรถังแก๊สหรือ SMPC ปรับจาก E-Workflow สู่ Digital Workflow
  4. การช่วยสร้าง Future-ready Foundation ให้กับองค์กรไทย ยกตัวอย่างการช่วยกรุงศรีทรานส์ฟอร์มไปสู่สถาปัตยกรรมไอทียุคใหม่ และพัฒนาแพลตฟอร์ม Open API ที่จะเป็นรากฐานของบริการใหม่ๆ และการเชื่อมต่อคู่ค้าในอีโคซิสเต็มของธนาคารเข้ากับบริการดิจิทัลต่างๆ บนระบบเปิดที่ปลอดภัย การช่วยพัฒนา API Fabric ให้กับปตท.สผ. ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยอินทิเกรทและดึงข้อมูลจากหลายแหล่งและระบบทั่วทั้งองค์กร เพื่อเป็นมุมมองเชิงลึกที่นำมาใช้กับการวางแผนและตัดสินใจของส่วนงานต่างๆ เช่น การคาดการณ์การซ่อมบำรุงและอายุการใช้งานของอุปกรณ์สำคัญๆ การประเมินต้นทุน ค่าใช้จ่าย และผลกำไร ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนมหาศาลเพื่อขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้ IBM ยังได้มีส่วนเข้าไปช่วยองค์กรชั้นนำ replatform, modernize application และ reachitecture ระบบงานสำคัญในองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ AIS เป็นต้น
  5. การมุ่งมั่นสร้าง Future Talents & Workforce โดยนอกจากการช่วยวางรากฐานทางเทคโนโลยีแล้ว IBM ยังให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในการวางรากฐานเรื่องคน ผ่านหลายโครงการสำคัญนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน จนถึงวันนี้ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงคู่ค้า อาทิ เอ็นทีที เดต้า พัฒนา job-ready workforce โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีที่ขาดแคลน เพื่อเป็นบุคลากรสนับสนุนองค์กรไทยและประเทศต่อไป 
  6. Technology for Sustainability ซึ่งเป็นเรื่องที่ IBM ให้ความสำคัญมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา โดย IBM เริ่มกำหนดนโยบายเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงปี 1970 และสมัครใจที่จะเริ่มทำรายงาน corporate environmental report เองในปี 1990 อีก10 ปีต่อมาก็ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนในทุกกระบวนการผลิต จนล่าสุด ก็ได้กำหนดให้ซัพพลายเออร์ที่ทำธุรกิจกับ IBM ต้องมีเป้าหมายและการจัดการในเรื่องนี้ และวันนี้ที่เรื่องความยั่งยืนกลายเป็นวาระสำคัญขององค์กร IBM จึงตระหนักดีว่าเทคโนโลยีคือส่วนสำคัญที่จะช่วยองค์กรบรรลุเป้าหมายในเรื่องนี้ ตั้งแต่ชิปที่ใช้ใน systems ต่างๆ การนำ AI ช่วยเรื่อง intelligent assets management ไปจนถึงความจำเป็นที่ต้องมีเครื่องมืออย่าง Envizi เพื่อช่วยจัดการ ESG report ที่ซับซ้อนและมีหลายร้อยเมทริค ซึ่งวันนี้กำลังกลายเป็นเกณฑ์สำคัญที่ธุรกิจในยุโรปต้องเริ่มจัดทำรายงานอย่างเป็นระบบ และแน่นอนว่าอีกไม่นานย่อมเป็นวาระที่องค์กรไทยต้องลงมือจริงจัง

เจาะลึก Future Forward Technology 

คุณสุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ยังได้เจาะประเด็น Future Forward Technology โดยเจาะลึกถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมีความสำคัญต่อธุรกิจในวันนี้และอนาคต

เริ่มต้นด้วย Hybrid Cloud ที่จะเป็น IT Infrastructure สำคัญที่จะช่วยเร่งให้ธุรกิจองค์กรสามารถปรับตัว พัฒนานวัตกรรม และตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงเทคโนโลยีและธุรกิจได้อย่างคล่องตัว คุ้มค่า โดยกุญแจสำคัญนั้นก็คือการช่วยให้ Software Developer ภายในองค์กรสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รองรับการพัฒนานวัตกรรมหรือความสามารถใหม่ๆ ให้กับ Software ของธุรกิจได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงไม่กี่สัปดาห์ ต่างจากในอดีตที่อาจเคยต้องใช้เวลาหลายเดือน

ในขณะเดียวกัน การใช้ Hybrid Cloud ในธุรกิจก็สามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้มากถึง 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับการใช้บริการ Cloud จากผู้ให้บริการ Cloud เพียงรายเดียว ซึ่งปัจจุบัน Hybrid Cloud ก็ถูกใช้งานในกลุ่มธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่มากแล้วถึง 80% และเป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กด้วยเช่นกัน 

สำหรับ AI นั้น คุณสุรฤทธิ์ได้แบ่งปันถึงมุมมองของ IBM ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการด้าน AI ทั่วโลกจำนวนมาก ว่าองค์กรธุรกิจนั้นได้นำ AI ไปใช้ใน 3 รูปแบบหลักด้วยกัน ได้แก่

  1. การวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาลที่มนุษย์ไม่อาจทำด้วยตนเองได้ จากข้อมูลสถิติที่เกิดขึ้นว่าในทุกวันนี้ มี Data ที่ถูกสร้างในแต่ละวันมากถึง 2.5 Quintillion ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาลระดับนี้ ปัจจุบันมีเพียงแค่ AI เท่านั้นที่สามารถตอบโจทย์ได้ รวมถึงการทำ Trustworthy AI ที่พัฒนาแนวทางเพื่อให้ AI สามารถเรียนรู้และทำงานได้อย่างไม่มี Bias 
  2. การทำ Business Workflow Automation เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้นจากการที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่สภาวะการเป็นสังคมสูงวัย โดยจากการสำรวจของ IBM นั้นพบว่าผู้บริหารกว่า 30% มองว่า AI และ Automation สามารถช่วยลดเวลาที่พนักงานต้องใช้กับงานบางประเภทได้ และทำให้พนักงานสามารถนำศักยภาพและความสามารถของตนเองไปใช้กับงานอื่นๆ สร้างคุณค่าเพิ่มเติมให้กับตนเองและธุรกิจได้
  3. การจัดการด้าน Cybersecurity ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเหตุการณ์ความมั่นคงปลอดภัยปริมาณมหาศาลในแบบ Real-Time เพื่อให้ตรวจจับภัยคุกคามได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจได้อย่างชัดเจน

อีกประเด็นสำคัญนั้นก็คือการนำ AI เข้ามาช่วยทำ Automation ให้กับงานด้านการดูแลรักษาระบบ IT หรือที่เรียกว่า AIOps ซึ่ง IBM ก็มีทั้ง Turbonomic และ Instana ที่ได้เข้าซื้อกิจการมาตอบโจทย์ด้านการลดค่าใช้จ่ายในการใช้ Cloud, ลดพลังงานที่ใช้ในระบบ IT Infrastructure รวมถึงช่วยให้ธุรกิจสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้นในระยะยาวอีกด้วย

อีกเทคโนโลยีที่ทวีความสำคัญอย่างมากคือ Cybersecurity โดยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภัยคุกคามไซเบอร์ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังกระทบภาคประชาชนทั่วโลกด้วย เช่นกรณีที่ธุรกิจ Colonial Pipeline ของสหรัฐอเมริกาถูก Ransomware โจมตีจนต้องหยุดการดำเนินการนานถึง 5 วัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในปั๊มนั้นสูงขึ้น 10% สร้างความเดือดร้อนให้ประชนชนหลายล้านคนจนในที่สุดบริษัทต้องยอมจ่ายค่าไถ่สูงถึง 5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ตัวอย่างดังกล่าวทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่า Cybersecurity ถือเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งทั้งสำหรับภาคธุรกิจและสังคมไปแล้วในทุกวันนี้ และการนำสถาปัตยกรรม Zero Trust มาใช้คือเรื่องที่ธุรกิจไม่อาจมองข้ามได้แล้วในวันนี้

ทั้งหมดนี้ คุณสุรฤทธิ์ได้เล่าถึงวิสัยทัศน์ในการผลักดันด้าน Hybrid Cloud, AI, Automation และ Security สำหรับธุรกิจองค์กรไทยว่า IBM นั้นพร้อมที่จะทำงานร่วมกับธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ในลักษณะของ Ecosystem Partner เพื่อร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้นๆ เป็นหลัก โดย IBM จะรับบทบาทในฐานะของผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทำงานร่วมกับธุรกิจที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อให้ธุรกิจองค์กรไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันจากเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการก้าวสู่ตลาด Digital ทั่วโลกร่วมกันได้

Quantum Computing เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ IBM ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง

ในปีนี้ IBM ได้เปิดตัวระบบ Quantum Computing ขนาด 433 Qubit ออกมาแล้วอย่างเป็นทางการ และมีแผนที่จะพัฒนาระบบขนาด 4,000 Qubit ให้ได้ภายในปี 2025 ในขณะที่ IBM Qiskit ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการทดสอบพัฒนา Software เพื่อนำไปประมวลผลบน Quantum Computing นั้นก็มีผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 450,000 คนทั่วโลก ทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานว่า IBM นั้นยังคงมุ่งมันผลักดันพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้อย่างจริงจัง

ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือของ IBM กับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ บน Quantum Computing นั้นก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การร่วมกับ Bosch ใช้ Quantum Computer เพื่อ Simulate คิดค้นวัสดุรูปแบบใหม่สำหรับการสร้างเซลล์เก็บพลังงานไฟฟ้า เพื่อพัฒนา Battery ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการนำ Quantum Computer ไปประมวลผลด้านการเงิน เพื่อวิเคราะห์ราคาหรือสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ขึ้นมา เป็นต้น

สำหรับปีหน้า IBM มีแผนที่จะเปิดตัว IBM Quantum System Two ในช่วงปลายปี เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้มีทางเลือกในการนำไปใช้ทำงานวิจัยด้าน Quantum Computing และให้ภาคธุรกิจได้นำไปใช้งาน โดย IBM เชื่อว่าโลกของเรากำลังก้าวไปสู่ยุค Quantum-Centric Supercomputer ที่จะนำทั้ง QPU, CPU, GPU มาทำงานร่วมกัน สำหรับงานประมวลผลที่เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะแก้ไขโจทย์เหล่านั้นได้