ในงานครบรอบ 70 ปีของ IBM Thailand ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ทาง IBM ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำของไทยมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และวิสัยทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เดอะมอลล์ และปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท. สผ.) ซึ่งสะท้อนวาระสำคัญและมุมมองอนาคตของภาคอุตสาหกรรมสำคัญของไทยได้เป็นอย่างดี ในวันนี้ TechTalkThai ขออนุญาตนำมาร้อยเรียงให้ฟัง ดังนี้ครับ
IT Modernization & Transformation ยังคงเป็นวาระสำคัญของสถาบันการเงินไทย
คุณมงคล เอื้อจิตอนันตกุล Acting Managing Director, KInfra แห่งบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ได้เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงการที่ธนาคารสามารถรองรับการใช้งานของลูกค้าจำนวนมากด้วยโซลูชันจาก IBM เช่นการใช้ IBM Power สำหรับระบบ Core Banking ที่ต้องการการประมวลผลอย่างรวดเร็ว, การใช้ Microservices ร่วมกับ CDN สำหรับรองรับ Mobile Banking ที่เน้นการรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากเป็นหลัก และเพิ่มขยายระบบได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น โดยระบบ Monitoring หรือ Observability นั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการตรวจสอบและจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้ระบบใดๆ ของธนาคารล่ม
วันนี้ธนาคารกสิกรไทยต้องการรุกตลาดในระดับภูมิภาคนอกเหนือจากไทย และมองถึงการขยายจำนวนผู้ใช้งาน K Plus สู่ 200 ล้านคน แน่นอนว่าระบบ IT Infrastructure ที่สามารถทำงานร่วมกันได้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลจากแต่ละประเทศมาวิเคราะห์และใช้งานได้อย่างเหมาะสม และนำโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศมาปรับใช้ในประเทศอื่นๆ สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
คุณเทพกร ศิริธนะวุฒิชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ Infrastructure ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้เล่าถึงการทำ IT Modernization ครั้งใหญ่เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารได้รับบริการที่ดีขึ้นและมีบริการใหม่ๆ ให้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพนักงานภายในธนาคารเองก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้ Mainframe ในระบบ Core Banking ก็ช่วยให้ระบบมีความมั่นคงทนทานและความมั่นคงปลอดภัยที่สูงได้อย่างวางใจ ในขณะที่การเชื่อมต่อ Mainframe เข้ากับระบบอื่นๆ บน Multicloud ได้นั้นก็ทำให้ทางธนาคารสามารถใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้ Enterprise Service Bus (EBS) และ IBM Cloud Pak for Integration ก็สามารถตอบโจทย์ด้านการผสานข้อมูลได้เป็นอย่างดี และยังมี IBM Garage สำหรับการพัฒนาบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว
ในมุมของธนาคารไทยพาณิชย์ การสร้าง Ecosystem ทางธุรกิจใหม่ๆ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ ดังจะเห็นได้จากการเปิดบริษัทย่อยจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นทางธนาคารจึงต้องเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็น Banking as a Service ให้ได้ ด้วยการให้ความสำคัญต่อ API ทางด้านบริการการเงินให้มากขึ้น เพื่อให้บริการส่วนต่างๆ ในบริษัทย่อยสามารถทำงานผสานร่วมกันได้ และเปิดโอกาสให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยสามารถเชื่อมต่อกับธนาคาร สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ด้วยตนเอง
คุณพชร วันรัตน์เศรษฐ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แห่งธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ก็ได้เล่าถึงในมุมของตนเองที่ธนาคารได้มีการปรับตัวไปสู่ Open Banking ด้วยการเปิด Open API สำหรับเชื่อมต่อ Ecosystem เช่นกัน ทำให้ธนาคารมีรายรับในช่องทางใหม่ๆ เพิ่มเติมมากขึ้น และสามารถสร้างพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้จนเกินกว่าเป้าหมายที่คาดเอาไว้
อย่างไรก็ดี กว่าที่ธนาคารกรุงศรีอยุทธยาจะก้าวมาสู่จุดนี้ได้ ก็ต้องมีการปรับทั้ง 3P ได้แก่ People ที่ต้องปรับวิธีการทำงานของผู้บริหารและพนักงาน ซึ่งทาง IBM ก็ได้เข้ามาช่วยปรับวิธีการทำงานให้เป็น Agile จนได้ผล, Product การพัฒนาต่อยอดจาก Legacy System โดยประเด็นหลักๆ ก็คือการปรับระบบ Core Banking ให้ทันสมัยมากขึ้นและรองรับความสามารถใหม่ๆ ทางธุรกิจมากขึ้น, Process การเปลี่ยนกระบวนการการทำงานให้สอดคล้องกับ Agile
เทคโนโลยีกำลังกลายเป็นหัวใจสำคัญเพื่อสร้างความยั่งยืนทางพลังงาน
คุณฉัตรชัย คงเดชอุดมกุล ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริหารการเปลี่ยนแปลงองค์กร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึงการทำ Digital Transformation ร่วมกับ IBM ที่มุ่งเน้นวัตถุประสงค์ด้านการก้าวสู่การเป็น High Performance Organization (HPO) ด้วยการสร้าง Digital Platform สำหรับการรองรับเทคโนโลยีทั้งเก่าและใหม่ร่วมกันได้ รวมถึงการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ ปตท.สผ. สามารถก้าวสู่การเป็น Energy Partner ที่ดีให้กับธุรกิจต่างๆ ได้ตามวิสัยทัศน์ของตนเอง
จุดสำคัญที่ทำให้ปตท.สผ.สามารถทำ Digital Transformation ในส่วนนี้ได้สำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่ IBM ให้ความสำคัญต่อโครงการนี้อย่างจริงจัง ทั้งในแง่ของ Leadership ที่ผู้บริหารระดับสูงจาก IBM ได้เข้ามาคุยกับทีมงานของปตท.สผ.ด้วยตนเอง, การมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกันที่อยากจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และการทำงานร่วมกับทีมงานของปตท.สผ.ได้จนประสบความสำเร็จ
อีกส่วนหนึ่งนั้นก็คือการทำโครงการเหล่านี้ให้เกิดคุณค่าต่อธุรกิจได้จริงๆ ซึ่งปตท.สผ. สามารถพิสูจน์ให้ทุกคนในองค์กรเห็นถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนไปทำงานแบบ Data-Driven ได้ ทั้งในระดับของพนักงานและผู้บริหาร ทำให้เกิดการยอมรับและปรับตัวอย่างรวดเร็วในองค์กร
ในอดีตหากพูดถึงเรื่องการทำ Digital Transformation ทีมงานปตท.สผ. นั้นจะนึกไม่ออกเลยว่าควรจะทำโครงการอะไรดี แต่เมื่อมีโครงการที่ประสบความสำเร็จและมุมมองของคนในองค์กรเปลี่ยนไปแล้ว ทุกวันนี้ ปตท.สผ. มีโครงการต่างๆ มากมายเกินกว่า 100 โครงการแล้ว และวิสัยทัศน์ของปตท.สผ.ก็คือทุกโครงการเหล่านี้จะต้องสามารถผสานระบบร่วมกันได้ทั้งหมด ซึ่ง IBM ก็จะเป็นผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน
ค้าปลีกต้องปรับตัวทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ต้องมีทั้งการผสานระบบและการนำข้อมูลมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณจิรยุทธ์ กาญจนมยูร ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายไอที บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ได้มาแบ่งปันถึงมุมมองจากอุตสาหกรรมค้าปลีกที่ทุกวันนี้เปลี่ยนไปทำธุรกิจบนเทคโนโลยีอย่างเต็มตัวในระยะเวลาเพียง 5 ปี ตั้งแต่การติดตั้งใช้งาน SAP, การก้าวสู่ E-Commerce, การนำ Data ในองค์กรมาใช้งาน และการประยุกต์ใช้ AI ในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่นการตัดสินใจจัดวางสินค้าบนชั้นวาง หรือการตัดสินใจว่าจะนำสินค้าอะไรมาวางขายคู่กัน ไปจนถึงการใช้ Marketing Technology ในหลากหลายแง่มุม
สิ่งที่ธุรกิจค้าปลีกต้องเผชิญนั้นก็คือความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของลูกค้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ไม่ได้มีเพียงแค่สินค้าอะไรน่าสนใจหรือขายดีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงช่องทางหรือเทคโนโลยีที่ลูกค้าใช้ในการสั่งซื้อสินค้าหรือชำระเงิน ซึ่งธุรกิจค้าปลีกก็ต้องตามเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ทัน และเข้าใจ Pattern ของลูกค้าให้ได้อยู่เสมอ
สำหรับในอนาคต ความท้าทายของเดอะมอลล์กรุ๊ปนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ภาพของ Retail Entertainment โดยจะเริ่มต้นจากการเปิดตัว Emsphere ซึ่งก็จะมีการใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเต็มที่ภายในห้างนี้ เป็น Digital Product ที่ถูกผสมผสานมานำเสนอสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าได้ ตรงนี้เองก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของก้าวใหม่ที่ยิ่งใหญ่จากเดอะมอลล์