เทคโนโลยีนั้นเป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยงในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน ในขณะที่บางองค์กรกำลังวางกลยุทธ์เพื่อก้าวไปข้างหน้า หลายองค์กรอาจยังไม่ตระหนักถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาปั่นป่วนการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน ในบทความนี้ ADPT ขอเชิญทุกท่านมารู้จักกับเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ในปี 2023 จาก Gartner เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับปีที่กำลังจะมาถึง
Gartner Top 10 Strategic Technology Trends 2023
Top 10 Strategic Technology Trends คือการจัดอันดับเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ซึ่ง Gartner จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยนอกจากในปีที่ระบุแล้วเทรนด์เหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทต่อโลกธุรกิจอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ (1-3 ปี) อีกด้วย สำหรับปี 2023 ที่กำลังจะมาถึง Gartner ได้คัดเลือกเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ 10 ลำดับมาแรง โดยมีธีมหลัก 4 หัวข้อได้แก่ การ Optimize ธุรกิจ, การ Scale การดำเนินการในทุกมุมมอง, การริเริ่มสิ่งใหม่, และเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Technology)
ภายใต้หัวข้อหลักทั้ง 4 นี้ 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่ธุรกิจควรให้ความสนใจประกอบไปด้วย
- ภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล (Digital Immune System)
- การประยุกต์ใช้ความสามารถในการมองเห็นกระบวนการและข้อมูลในการดำเนินการ (Applied Observability)
- การบริหารความเชื่อมั่น ความเสี่ยง และความปลอดภัยของ AI (AI TRiSM)
- แพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรม (Industry Cloud Platform)
- วิศวกรรมแพลตฟอร์ม (Platform Engineering)
- การสร้างคุณค่าจากเทคโนโลยี Wireless
- Superapps
- Adaptive AI
- Metaverse
- เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Technology)
ธีม 1 – การ Optimize ธุรกิจ
โลกธุรกิจคือโลกที่ต้องการ Optimization (การเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด) ตลอดเวลา ในปัจจุบันที่ธุรกิจทั่วโลกได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการดำเนินการในด้านต่างๆ Gartner เสนอให้เห็นถึงมุมมองว่าการ Optimize ขั้นต่อไปนั้น นอกจากจะมุ่งเน้นไปที่การตัดสินใจอย่างแม่นยำด้วยข้อมูลแล้ว ยังต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยและความโปร่งใสด้วย
ภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล (Digital Immune System)
ภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลนั้นว่าด้วยการวางกลยุทธ์และเลือกใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสมในการจัดการกับความเสี่ยงทางดิจิทัล โดยอาจมีการใช้เทคโนโลยีอย่าง AI, Observability, Automation หรือการทดสอบระบบอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างระบบธุรกิจที่สามารถเชื่อใจได้ ทำงานได้อย่างเสถียร มั่นคง และปลอดจากภัยคุกคามทั้งในส่วนของลูกค้าผู้ใช้งานและธุรกิจที่ดำเนินการอยู่
ความสามารถในการมองเห็นกระบวนการและข้อมูลในการดำเนินการ (Applied Observability)
Applied Observability นั้นเป็นแนวคิดของการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจด้วยข้อมูลที่ธุรกิจสามารถมองเห็นได้ ปัจจุบันธุรกิจสามารถจัดเก็บและ”มองเห็น”ถึงข้อมูลได้อย่าง Real-time มากขึ้น ธุรกิจจึงสามารถใช้ประโยชน์จากความรวดเร็วและความแม่นยำที่ได้รับจากข้อมูลเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ปรับปรุงการดำเนินการอย่างรวดเร็ว รวมถึงแก้ปัญหาได้ ณ ตอนเกิดเหตุ
Tesla เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ในการให้บริการประกันภัยรถยนต์ของบริษัท โดยราคาของกรมธรรม์จะถูกคำนวณขึ้นจากข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ที่ถูกจัดเก็บโดยรถยนต์ของ Tesla การทำเช่นนี้นั้นช่วยให้ผู้ใช้รถโดยเฉลี่ยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 20% ถึง 40% และหากมีคะแนนความปลอดภัยที่สูงก็อาจประหยัดได้ราว 40-60% เลยทีเดียว
หัวใจของ Applied Observability คือการตัดสินใจทางธุรกิจจากข้อมูลที่ออกมาให้เห็นโดยชัดเจนโดยไม่ต้องคาดเดาหรือจินตนาการถึงความตั้งใจหรือเหตุสุดวิสัยอื่นๆ ธุรกิจสามารถโฟกัสมาที่ข้อมูลซึ่งเป็นผลลัพธ์ ประมวลผลด้วยเทคโนโลยี AI และปรับเปลี่ยนการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ข้อมูลผลลัพธ์นั้นสะท้อนออกมาให้เห็น ซึ่งจะช่วยให้ Feedback Loop นั้นมีความตรงจุดและรวดเร็วยิ่งขึ้น
การบริหารความเชื่อมั่น ความเสี่ยง และความปลอดภัยของ AI (AI TRiSM)
หลังธุรกิจทั่วโลกมีการใช้งานเทคโนโลยี AI กันอย่างแพร่หลายและ AI เข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจเรื่องที่สำคัญมากขึ้นในธุรกิจ ประเด็นถัดมาที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญคือการบริหารความเชื่อมั่น ความเสี่ยง และความปลอดภัยของระบบ AI (AI Trust, Risk & Security Management – AI TRiSM)
นอกจากจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะต้องได้รับการปกครองที่ชัดเจน เพื่อให้ AI นั้นมีความน่าเชื่อถือ ทำงานได้อย่างยุติธรรม พึ่งพาได้ มีผลลัพธ์ตรงตามความตั้งใจ และมีความปลอดภัยทั้งกับระบบและข้อมูล โดยในการจะจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ ธุรกิจต้องมีแนวทางในการหาคำอธิบายผลลัพธ์ที่เกิดจากการประมวลผล AI ความสามารถในการติดตั้งโมเดล AI ใหม่อย่างรวดเร็วในกรณีที่เกิดปัญหา การรักษาความปลอดภัยให้กับระบบ AI และการจัดการเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว และประเด็นด้านจริยธรรม AI
ธีม 2 – การ Scale ธุรกิจในทุกมุมมอง
ในธีมของ Scale นั้น Gartner มุ่งเน้นไปที่การสเกลธุรกิจให้มี Productivity ที่มากขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้บริการได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าหัวใจของการทำเช่นนั้น คือการช่วยให้การดำเนินการและพนักงานภายในองค์กรสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในแง่มุมใหม่ๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน
แพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรม
ธุรกิจทั่วไปมีการใช้งานคลาวด์กันอย่างแพร่หลาย และในปัจจุบันก็มีบริการคลาวด์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อฟังก์ชันสำหรับใช้งานเฉพาะทางในอุตสาหกรรมต่างๆ บริการคลาวด์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น SaaS, PaaS หรือ IaaS สามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้มากขึ้น และตอบโจทย์การดำเนินการของธุรกิจในอุตสาหกรรมได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
จากการสำรวจธุรกิจในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปโดย Gartner พบว่าองค์กรราว 40% มีการใช้งานแพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรมของตนแล้ว และประมาณ 15% กำลังอยู่ในระยะเริ่มต้นใช้งาน ด้วยความสามารถที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมโดยตรง และการออกแบบให้คลาวด์ทำงานทำงานร่วมกับวิถีดำเนินการของอุตสาหกรรมตั้งแต่แรก Industry Cloud Platform จึงเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดใจสำหรับธุรกิจ ส่งผลให้การปฏิรูปดิจิทัลเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 ธุรกิจจะใช้แพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของโครงการดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งเติบโตจากสัดส่วนราว 10% ในปี 2021 เป็นอย่างมาก
วิศวกรรมแพลตฟอร์ม (Platform Engineering)
Platform Engineering คือการสร้างประสบการณ์ในการทำงานที่ดีขึ้นและเพิ่ม Productivity ให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ผู้มีบทบาทสำคัญในธุรกิจยุคดิจิทัล เนื่องด้วยกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ในปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนทั้งในเชิงเทคนิค และมีปัจจัยภายนอกขั้นตอนการพัฒนาซอฟต์แวร์มากมายที่นักพัฒนาต้องคำนึงถึง การอำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีขึ้นจึงกลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่หลายธุรกิจกำลังมองหา
Platform Engineering นั้นประกอบไปด้วยการสร้างแพลตฟอร์มการพัฒนาภายในองค์กรที่นักพัฒนาสามารถเข้าใช้งานได้โดยสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการ Self-service ต่างๆ หรือการมีเครื่องมือช่วยเหลือและกระบวนการ เช่น Infrastructure Operation ที่ทำงานโดยอัตโนมัติ สิ่งเหล่านี้จะช่วยปลดภาระด้านอื่นๆออกจากงานพัฒนาซอฟต์แวร์ ส่งผลให้นักพัฒนาสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น สามารถโฟกัสกับงานหลักได้มากขึ้น และพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
การสร้างคุณค่าจากเทคโนโลยี Wireless
เทคโนโลยี Wireless นั้นเป็นพื้นฐานของธุรกิจในปัจจุบัน ในองค์กรหนึ่งนั้นอาจมีทั้งการเชื่อมต่อไร้สายของเครือข่าย อุปกรณ์ และระบบต่างๆผ่านเทคโนโลยี Internet of Things อยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ทว่าความสามารถของเทคโนโลยี Wireless ยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น องค์กรจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันเริ่มค้นหาและสร้างสรรค์วิธีใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Wireless ในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะช่วยยกระดับการทำงานของพนักงานในองค์กรและการให้บริการของพวกเขาไปอีกขั้น
เทคโนโลยี Wireless กำลังพัฒนาขึ้นในสองส่วนใหญ่ หนึ่งคือความสามารถในการสื่อสารที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้พวกมันสามารถทำงานได้หลากหลายยิ่งขึ้น และสองคือการเพิ่มความสามารถอื่นๆเข้าไปในเทคโนโลยี Wireless ซึ่งตอบโจทย์ด้านดิจิทัลให้กับธุรกิจได้มากขึ้น เช่น การติดตามตำแหน่ง การใช้เรดาร์ตรวจจับ การสื่อสารระหว่างรถยนต์ด้วยกัน การ Broadcast และ Multi-cast ธุรกิจสามารถประยุกต์ความสามารถเหล่านี้เพื่อสร้างบริการใหม่ๆให้กับลูกค้าและพนักงาน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการดำเนินการได้อีกมาก
ธีม 3 – การริเริ่มสิ่งใหม่ๆ
ธีมที่ 3 นั้นกล่าวถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นให้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการให้บริการ โมเดลธุรกิจใหม่ หรือตลาดและอุตสาหกรรมที่ไม่มีมาก่อน ธุรกิจควรพึงจับตาเพราะเทรนด์เหล่านี้เป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่จะเข้ามาปั่นป่วนหรือแข่งขันกับธุรกิจเดิมที่ดำเนินการอยู่
Superapps
Superapp คือแอปพลิเคชันที่มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย ประกอบไปด้วยเครื่องมือหลายอย่างซึ่งเป็นมากกว่าการนำหลายแอปพลิเคชันมารวมกันไว้ในที่เดียว Superapp มักประกอบไปด้วยแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน และ Ecosystem ที่แวดล้อมที่สร้างประสบการณ์การใช้งานอันครบครัน ในปัจจุบันที่โลกหมุนไปในทิศทางของ Mobile-first มากขึ้น ธุรกิจหลายรายจึงเริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนา Superapp เพื่อต่อยอดการให้บริการของตัวเองสู่มิติใหม่ๆ
Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 มากกว่า 50% ของประชากรโลกจะมีการใช้งาน Superapp ในชีวิตประจำวัน และคอนเซปต์ของ Superapp นั้นจะถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆเพื่อตอบโจทย์การใช้งานแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งอาจรวมไปถึงฟีเจอร์สำหรับการใช้งานภายในองค์กร เช่น เครื่องมือการทำงานร่วมกัน แอปสำหรับสนทนา และอาจเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีต่างๆ เช่น AI, IoT, Metaverse อย่างแยกไม่ออก
Adaptive AI
เป็นที่ทราบกันดีกว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นมีความฉลาดด้วยการเรียนรู้ผ่านข้อมูล เทคโนโลยีแวดล้อมในปัจจุบันที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นช่วยให้โมเดล AI นั้นสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวเองไปตามสถานการณ์ในขณะที่ทำงานอยู่ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อความสามารถของธุรกิจในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
Adaptive AI ประกอบไปด้วยการออกแบบและเทคนิคทางปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยให้ระบบสามารถเรียนรู้และปรับการทำงานได้ในระบบ Production ก่อนที่จะทำเช่นนี้ได้นอกจากเทคโนโลยีแล้ว องค์กรจะต้องพัฒนา AI ให้อยู่ในระดับที่มั่นใจได้ว่าสามารถตัดสินใจได้เองเสียก่อน สิ่งนี้รวมไปถึงการวางแผนถึงขอบเขตการตัดสินใจ ความยืดหยุ่น และการคำนึงถึงประเด็นด้านความยุติธรรมและจริยธรรมของ AI และการปรับโครงสร้างพื้นฐาน AI ให้เอื้ออำนวยต่อการทำงานของ Adaptive AI
Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2026 องค์กรที่ใช้งาน Adaptive AI จะลดเวลาในกระบวนการพัฒนา AI ได้มากกว่าการพัฒนาและปรับแก้แบบปกติถึง 25%
Metaverse
โลกเสมือน Metaverse นั้นสร้างความฮือฮาไปไม่น้อยในปีที่ผ่านมา ทว่าในอนาคตอันใกล้ Metaverse นั้นอาจยังไม่ได้เข้ามาในชีวิตประจำวันของผู้คนในฐานะโลกอีกใบหนึ่ง แต่เป็นส่วนต่อขยายจากโลกปัจจุบันที่สามารถสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับธุรกิจได้
โอกาสที่มาพร้อมกับ Metaverse คือช่องทางของสินทรัพย์ดิจิทัลและช่องทางการติดต่อซื้อขายแบบใหม่ๆ ตลาดจะถูกขยายให้กว้างขึ้นกว่าเดิมในโลกเสมือน เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ขึ้น และเปิดโอกาสให้ธุรกิจได้สร้าง Engagement กับลูกค้าในรูปแบบที่หลากหลายกว่าเดิม Metaverse จะสร้างช่องทางการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์และรูปแบบการสื่อสารที่ไม่เคยมีมาก่อน
Metaverse นั้นเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีอย่าง AR, VR, และ Blockchain ซึ่งรวมไปถึง Web 3.0 ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเทคโนโลยีนี้จะนำมานั้นจะมีบทบาทต่อโลกธุรกิจในอนาคตไม่มากก็น้อย ดังนั้นในการวางกลยุทธ์ธุรกิจ เทรนด์นี้จึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
ธีม 4 – เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Technology)
ภาวะโลกร้อนนั้นนับเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมนุษยชาติ หลายองค์กรทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการปรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของเทคโนโลยีและ IT ที่มีการใช้พลังงานปริมาณมหาศาลต่อปี ในปัจจุบัน ผู้พัฒนาเทคโนโลยีหลายรายต่างก็เริ่มนำเสนอโซลูชันที่จะช่วยให้บริการด้าน IT นั้นใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นโซลูชันสำหรับการตรวจสอบกระบวนการดำเนินงาน วิเคราะห์การใช้พลังงาน และบริหารการปล่อยของเสีย
การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนนั้นนอกจากจะช่วยยับยั้งภาวะโลกร้อนแล้ว ยังสามารถช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการ และสร้างแรงดึงดูดต่อผู้เข้าใช้บริการซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจในมิติใหม่ๆอีกด้วย
บทส่งท้าย
ปี 2022 ที่ผ่านมาแสดงให้เราได้เห็นถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายในโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ไม่มีใครคาดคิด ความตึงเครียดของการเมืองระหว่างประเทศ วิกฤตพลังงาน และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ธุรกิจในปัจจุบันนั้นนอกจากจะต้องดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะต้องมีความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความผันผวนของโลกอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นก็จะถูกแซงหน้าไปอย่างง่ายดาย
10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ประจำปี 2023 จาก Gartner เน้นย้ำถึงความสำคัญในการปรับตัวและความยืดหยุ่น ไปพร้อมๆกับการมองไกลถึงความเสี่ยงและโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จริงอยู่ที่อนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่หากธุรกิจรู้ว่าสิ่งใดควรเฝ้าระวังและจับตามอง สิ่งใดควรให้ความสำคัญ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนนั้นย่อมไม่ร้ายแรงเกินรับมือ
สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาถึงเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์อย่างละเอียดพร้อมคำแนะนำจาก Gartner สามารถเข้าไปลงทะเบียนเพื่อรับเอกสารได้ฟรีที่ https://www.gartner.com/en/information-technology/insights/top-technology-trends