ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ต่างลงทุนใน Metaverse เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า แต่คำถามจากนักลงทุนคือ Metaverse จะเข้าใกล้ความจริงเมื่อไร แล้ว CEO ควรมองว่า Metaverse เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่หรือเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่กันแน่?
McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำระดับโลก ให้คำตอบไว้ว่า โอกาสสำหรับ Metaverse นั้นยิ่งใหญ่ ส่วนความเสี่ยงก็ไม่ใช่อย่างที่คิด
McKinsey จึงได้สรุปประเด็นสำคัญเชิงบวกต่อโลก Metaverse ที่เชื่อมโยงกับผู้บริหารองค์กร พร้อมชี้อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามหาก Metaverse เดินหน้าเติบโตเต็มศักยภาพ อีกทั้งให้คำแนะนำ 3 ขั้นตอนที่ผู้บริหารในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มลูกค้าผู้บริโภคและกลุ่มลูกค้าองค์กร สามารถพิจารณาเพื่อให้แน่ใจว่า องค์กรของตนจะไม่ตกขบวนรถไฟ Metaverse
มองบวกต่อ Metaverse
เมื่อมิถุนายนปี 2022 McKinsey ได้คาดการณ์มูลค่าตลาดของกิจกรรม Metaverse ไว้ที่ระหว่าง 200 – 300 พันล้านดอลลาร์ และภายในปี 2030 Metaverse จะสามารถสร้างมูลค่าได้ราว 4 – 5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นขนาดเทียบเท่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก
การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Metaverse เป็นไปได้ด้วยแรงเสริมต่าง ๆ อาทิ
- ความน่าสนใจของ Metaverse ครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัยในทุกพื้นที่
- ผู้บริโภคแสดงให้เห็นแล้วว่า ตนพร้อมลงเงินไปกับสินทรัพย์ใน Metaverse
- ผู้บริโภคเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ
- บริษัทต่างลงทุนอย่างหนักในโครงสร้างพื้นฐานจำเป็น
- แบรนด์ที่ทดลองนำ Metaverse มาใช้นั้น พบว่า ลูกค้ามีความพึงพอใจต่อบริการดังกล่าว
เหตุผลหลักที่ Mckinsey วิเคราะห์ตัวเลขมูลค่าสูงขนาดนี้ เป็นเพราะ Metaverse เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานจากเทรนด์เทคโนโลยีหลายอย่าง รวมถึง AI, Immersive reality, การเชื่อมต่อขั้นสูง และ Web3 อีกประการหนึ่งคือ เทคโนโลยี Metaverse ข้องเกี่ยวกับองค์กรในหลาย ๆ ส่วน ผู้บริหารจึงสามารถนำเทคโนโลยีมาผสานเข้ากับทรัพยากรของบริษัทเพื่อเกิดการตอบสนองที่สอดคล้องกันและขับเคลื่อนด้วยคุณค่า และด้วยการสนับสนุนของผู้บริหาร จึงเป็นไปได้ยากที่ Metaverse จะเป็นแค่ “เทคโนโลยีนำร่อง” เท่านั้น
สู่การใช้งานจริงสำหรับผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจ
มูลค่าที่คาดการณ์โดย McKinsey มาจากการศึกษากรณีการใช้งาน Metaverse สำหรับทั้งฝั่งผู้บริโภคและฝั่งธุรกิจ โดยมี 2 กรณีการใช้งานหลัก ๆ ดังนี้
1. การตลาดของแบรนด์และการมีส่วนร่วมของลูกค้า
หลายองค์กรได้นำ Metaverse เข้ามาเป็นส่วนผสมทางการตลาดแบบ Omnichannel แล้ว อย่างการปรากฏตัวของแบรนด์ต่าง ๆ ในโลกเสมือนจริง เช่น Roblox, Fortnite และ the Sandbox ซึ่งก็มีบริษัทหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น
- Nike ที่มีผู้เข้าเยี่ยมชม Nikeland บน Roblox มากกว่า 26 ล้านราย และขาย NFT สำหรับรองเท้าผ้าใบดิจิทัลและสินค้าประเภทเดียวกันได้มากกว่า 185 ล้านดอลลาร์แล้ว ด้านแผนกดิจิทัลของ Nike สามารถทำรายได้ทะลุ 10 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นราว 1 ใน 4 ของรายได้บริษัททั้งหมด
- Starbucks Odyssey เป็น Loyalty Program บน Metaverse ที่ใช้กลยุทธ์ Gamification เสริมประสบการณ์อีกระดับ โดยสมาชิกสามารถเข้ามาเดินท่องไร่กาแฟ เล่นเกมอย่าง Starbucks for Life ได้ แต้มที่ได้ก็จะปลดล็อกประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วย เช่น เรียนรู้การทำมาร์ตินีเอสเปรสโซ หรือท่องไปในไร่กาแฟในคอสตาริกา
- Amazon เพิ่มฟีเจอร์ AR ในแอป เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นภาพว่า เมื่อสินค้ามาอยู่ในบ้านแล้วจะเป็นอย่างไร
- IKEA พัฒนาเครื่องมือ AR เพื่อเปิดให้ลูกค้าลองปรับโฉมบ้านแบบ 3 มิติ
2. ฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twins)
สินทรัพย์ กระบวนการ หรือแม้แต่บุคคลที่อยู่ในองค์กร ทุกอย่างล้วนสามารถถูกจำลองและเชื่อมโยงถึงกันได้ในโลก Metaverse ดังนั้น งานเกือบทุกอย่างก็สามารถทำได้บนโลกดิจิทัล เมื่อสร้าง Digital twins จำลองวัตถุหรือบุคคลขึ้นมาใน Metaverse ที่สามารถสร้างข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ก็ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้ดียิ่งขึ้นสำหรับประกอบการตัดสินใจ
- AB InBev สร้าง Digital twin ของระบบห่วงโซ่อุปทานและการผลิต ซึ่งช่วยให้สามารถปรับกระบวนการผลิตเบียร์ได้ตามสภาวะที่ใช้งานอยู่ และช่วยป้องกันปัญหาคอขวดในการผลิต
- Siemens สร้าง Digital twin ของโรงงานในหนานจิงก่อนลงมือปฏิบัติจริง เพื่อป้องกันการสูญเสียเม็ดเงินมหาศาลเช่นเมื่อก่อน ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นสองเท่า อีกทั้งยังช่วยให้การดำเนินการอยู่ในสถานะคงที่ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ถึง 20%
- Bank of America เปิดอบรมพนักงานเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า รับมือกับบทสนทนาต่าง ๆ และฝึกการให้บริการ โดยใช้ VR
- Walmart ใช้การฝึกอบรมผ่าน VR ช่วยชีวิตคนในสถานการณ์คับขัน
หนทางยังอีกยาวไกล แต่ไม่ใช่ข้ออ้างที่ CEO จะมองข้าม
กว่าเทคโนโลยีหนึ่งจะมาถึงจุดที่ใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มประสิทธิภาพได้นั้น อาจต้องรอเวลานานกว่าที่คาดนับทศวรรษ อย่าง AI หรือยานยนต์อัตโนมัติ แล้ว Metaverse จะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกันหรือไม่?
ในมุมมองของ Mckinsey นั้น Metaverse จะไปถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หรืออาจจะนานกว่านั้น เพราะปัจจุบันเทคโนโลยียังไม่พร้อมรองรับ Metaverse ในระดับการใช้งานวงกว้าง ส่วนผู้ใช้งาน Metaverse ปัจจุบันยังอยู่ในกลุ่มเกมเมอร์หรือผู้คลั่งไคล้เทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ผู้บริหารจะละเลยหรือมองข้ามไป
แผนเตรียมพร้อมรับมือกับ Metaverse นั้นขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท โดยเฉพาะภาคการธนาคาร การผลิต สื่อ บริการวิชาชีพ ค้าปลีก และโทรคมนาคม ที่ Metaverse จะเข้ามาพลิกโฉมวงการได้มากที่สุด ผู้บริหารในอุตสาหกรรมดังกล่าวจึงควรเตรียมพร้อมมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด ก็ควรดำเนินการตาม 3 ขั้นตอนนี้ เพื่อเตรียมพร้อมจับจองที่นั่งในขบวนรถ Metaverse เมื่อเวลามาถึง
1. เริ่มต้นด้วยคำว่า “ทำไม”
คำถามสำคัญไม่ใช่แค่ “เราทำอะไรกับ Metaverse ได้บ้าง” แต่ให้ถามว่า “ทำไม Metaverse ถึงเหมาะกับแผนการเติบโตและนวัตกรรมของเรา” โดยผู้บริหารต้องตีโจทย์ให้ได้ว่า Metaverse จะเข้ามามีบทบาทอย่างไรในโมเดลธุรกิจปัจจุบัน และลูกค้าของบริษัทอยากทำอะไรบ้างบน Metaverse แต่ต้องไม่พยายามไปเปลี่ยนวัตถุประสงค์หลักขององค์กรเพื่อเข้าไปสู่ Metaverse ดังที่ Rob Lowe อดีตผู้บริหารจาก LEGO Ventures กล่าวไว้
2. ลงมือทำจริง: หาคำตอบของ “อะไร”
การมองหาแรงบันดาลใจจากภายนอกเป็นเรื่องดี แต่ผู้บริหารควรระบุและจัดลำดับความสำคัญของการใช้งานจริงที่เหมาะกับกลยุทธ์ของบริษัท และพัฒนาแนวคิด แผนธุรกิจ และโร้ดแม็ปสำหรับการนำไปใช้งานจริง อีกทั้งยังต้องลงแรงอย่างจริงจัง ไม่ใช่มองว่า Metaverse เป็นกิมมิคเท่านั้น เมื่อทำให้องค์กรเห็นว่า ผู้บริหารเอาจริงกับเรื่องนี้ ก็จะช่วยขจัดข้อกังหาภายในองค์กรได้
3. เอาชนะด้วย “วิธีการ”
ผู้บริหารมีหน้าที่หลัก 2 ประการ ประการแรกคือ กำหนดวิสัยทัศน์ ประการที่สองคือ เลือกผู้นำสำหรับกรณีการใช้งานและแนวคิดริเริ่มในแต่ละงาน เมื่อมอบหมายผู้รับผิดชอบในสายงานดังกล่าว ก็สามารถมั่นใจได้ว่าแนวคิดริเริ่มจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและทำให้เกิดขึ้นได้จริง ยกตัวอย่างเช่นบริษัท L’Oréal ที่แต่งตั้ง Chief Metaverse Officer เพื่อรายงานตรงต่อ CEO เป็นต้น
ผู้บริหารระดับสูงอาจต้องคำนึงถึงแนวทางการดำเนินงานและการจัดตั้งทีม ในอนาคตอันใกล้นี้ หลาย ๆ บริษัทน่าจะต้องการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse (เช่น การออกแบบและพัฒนา VR หรือเกม) นอกจากนี้ การทดสอบและเรียนรู้อยู่ตลอดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยอุดช่องว่างระหว่างความคาดหวังและผลลัพธ์ด้วย
บทความนี้แปลและเรียบเรียงมาจาก A CEO’s guide to the metaverse จาก McKinsey Quarterly