อีกเพียงไม่กี่อึดใจก็จะถึงวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 27 ของประเทศไทย แน่นอนว่าในยุคปัจจุบันนั้นสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทช่วยส่งเสริมการทำงานของภาครัฐและพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งในแง่ของการให้ข้อมูล ตรวจสอบการทำงาน และการประชาสัมพันธ์
บทความนี้ ADPT ขอรวบรวม 5 สื่อดิจิทัลฝีมือภาคประชาชนสุดเจ๋งที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้โดยเฉพาะ
Data Visualization โค้ดสี แต่ละพรรคให้ความสำคัญกับนโยบายด้านไหนบ้าง โดยคุณ Poontany
คู่มือการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแจกจ่ายนั้นมีการแนะนำผู้สมัครและนโยบายของแต่ละพรรคโดยคร่าวๆ ด้วยพื้นที่ที่มีจำกัดจึงอาจอนุมานได้ว่าแต่ละพรรคได้เลือกนโยบายไฮไลท์แต่ตัวเองให้ความสำคัญมาใส่ในหนังสือคู่มือนี้ คุณ Poontany ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งได้ทดลองแบ่งนโยบายเป็นหมวดหมู่สี และนำมาแสดงผลในรูปแบบ Data Visualization ให้เราได้เห็นกันว่าแต่ละพรรคนั้นพูดถึงนโยบายใดในหน้าแนะนำตัวของพวกเขา
เลือกพรรคไหนดี ลอง Blind Test นโยบายกันไหม โดย DataTipsy
จนถึงตอนนี้ หากใครยังไม่มีพรรคใดอยู่ในใจ ก็จะเชิญมาลองใช้เครื่องมือ Blind Test เพื่อเลือกนโยบายที่ตรงใจที่สุดโดยไม่ระบุชื่อพรรค ซึ่งทีมงานได้รวบรวมนโยบายมากกว่า 400 ข้อจาก 9 พรรคการเมืองมาให้เราเลือก และเมื่อทำแบบทดสอบเสร็จแล้วทางเว็บจะเฉลยให้ว่านโยบายที่เราชอบตรงกับพรรคการเมืองใดมากที่สุด
https://election2023-quiz.datatipsy.com
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บางรายได้ให้ความคิดเห็นว่าแบบทดสอบดังกล่าวนั้นอาจมีอคติในชุดข้อมูลตั้งต้นบ้าง เนื่องจากจำนวนนโยบายในแต่ละหมวดหมู่ของแต่ละพรรคนั้นไม่เท่ากัน และนโยบายของบางพรรคยังมีคีย์เวิร์ดที่ทำให้ผู้ทดสอบพอเดาได้ว่ามาจากพรรคไหน ทีมงาน ADPT จึงขอแนะนำว่าไม่ควรตัดสินใจด้วยสื่อชิ้นนี้(หรือชิ้นใดก็ตาม)เพียงชิ้นเดียว 100% แต่ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบก่อนจรดปากกาในคูหา
โบนัส: ดูนโยบายแบบง่ายๆ แบ่งตามหมวดหมู่ได้ที่ https://election66.wevis.info/policyshop/
ไม่ได้เลือกบ่อยเลยไม่มั่นใจ? จำลองการเลือกตั้งให้ชินสนามกับ ped4you โดย Premier Election Database 4You
สำหรับใครที่ยังงงๆกับขั้นตอนการเข้าคูหา ped4you มีแพลตฟอร์มมาช่วยพวกคุณโดยเฉพาะ ซึ่งรวบรวมทั้งข้อมูลการเลือกตั้ง เรื่องควรรู้ก่อนเลือก ข้อมูลพื้นฐานด้านการเมือง รวมไปถึงแอปพลิเคชันจำลองการเลือกตั้งที่จะช่วยซักซ้อมให้เราเข้าคูหาไปลงคะแนนกันได้อย่างมั่นใจ เข้าใจถึงข้อควรระวังและขั้นตอนทั้งหมด โดยข้อมูลที่เรากรอกเพื่อจำลองการเลือกตั้งนั้นจะไม่ถูกบันทึกไว้ในระบบแต่อย่างใด
ส.ส.เขตเรามีผลงานอะไรบ้างในสภา ที่พรรคเคยสัญญาไว้รอบก่อนทำได้จริงไหม โดย WeVis Election
เนื่องจากการเลือกตั้งในรอบนี้นั้นมีการแบ่งเขตแบบใหม่ ผู้สมัครบางรายอาจเป็นคนที่เราไม่คุ้นหน้า หรือบางรายก็เป็นหน้าเก่าที่ไม่คุ้นเคยผลงานเท่าไหร่ WeVis ได้พัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆว่าส.ส.ในเขตนั้นลงคะแนนในสภาอย่างไร โดยสามารถเข้าไปค้นข้อมูลจากชื่อเขตได้ง่ายๆที่ https://theyworkforus.wevis.info/
หรือหากอยากรู้ว่าอดีตส.ส.นั้นโหวตได้ตรงกับความต้องการของเราแค่ไหน ก็สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่ https://election66.wevis.info/theyworkforyou/
นอกจากนี้ ยังสามารถค้นข้อมูลด้วยว่านโยบายที่พรรคเคยหาเสียงเอาไว้ ทำได้จริงหรือไม่ในหน้า Promise Tracker
เลือกเสร็จ ตรวจสอบ ตามคะแนน กับโครงการจับตาความโปร่งใสและรายงานผลโดย Vote62
รู้หรือไม่ว่าหลังจากลงคะแนนเสียงเรียบร้อยแล้ว ประชาชนอย่างเรายังสามารถช่วยจับตาการเลือกตั้งและรายงานผลคะแนนจากหน้าหน่วยเลือกตั้งได้อีกด้วย โดยเว็บไซต์ของ Vote62 ได้เตรียมระบบที่เปิดให้บุคคลทั่วไปอาสาไปติดตามการนับคะแนนที่เขตเลือกตั้งใกล้บ้าน ซึ่งนอกจากจะช่วยตรวจสอบการนับคะแนนของเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันความผิดพลาดแล้ว ยังสามารถคำผลคะแนนนั้นมาประมวลเป็นผลการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ สนใจเข้าร่วมโครงการอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหน้าเว็บ https://www.vote62.com เลย
โบนัส: เว็บรายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์จาก WeVis https://bkkelection2022.wevis.info/map/
การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยนั้นจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 8:00 ถึง 17:00 โดยสามารถตรวจสอบสิทธิ เขตเลือกตั้ง และสถานที่เลือกตั้งได้ที่เว็บไซต์ https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/