คุยกับ SIFT Analytics Group – Data ในธุรกิจเป็นอย่างไรในปี 2023 และควรพัฒนาไปทางไหนต่อ

0

หนึ่งในปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จของการนำ Data เข้ามาใช้ในองค์กร คือการเลือกเครื่องมือให้ตอบโจทย์และเหมาะสมกับกระบวนการดำเนินงานอย่างแท้จริง ในโลกทุกวันนี้ที่มีซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มให้เลือกใช้มากมาย และความท้าทายหลากหลายที่เทคโนโลยีข้อมูลสามารถเข้ามาช่วยแก้ ADPT ได้มีโอกาสพูดคุยกับ SIFT Analytics Group ผู้ให้บริการเครื่องมือวิเคราะห์และจัดการ Data ครบวงจรถึงสถานการณ์ด้านข้อมูลในปี 2023 แนวคิด ปัญหา และอนาคตของการนำองค์กรเข้าสู่โลก Data-driven ในบริบทของธุรกิจไทย จะเป็นอย่างไรบ้างนั้นติดตามกันได้ในบทความต่อไปนี้

Data ในองค์กรไทยกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่อย่างแท้จริง

คุณสุกัญญา กอสนาน Country Manager – SIFT Analytics Group Thailand จากงาน QlikWorld Tour Thailand

คุณสุกัญญา กอสนาน หรือคุณอิง Country Manager ที่เข้ามาร่วมพูดคุยกับเราในครั้งนี้นั้นมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับข้อมูลและเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลมานานหลายปี คุณอิงจึงสามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรในประเทศไทยเปิดรับเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาการทำงานกันมากขึ้น ซึ่งไม่ต่างจากเทรนด์ทั่วโลกที่ Digital Transformation มีการเติบโตเป็นอย่างมาก

สำหรับผู้ที่สนใจแล้ว เราอาจได้เห็นถึงเทรนด์ของการใช้เทคโนโลยีด้านข้อมูลในองค์กรมานานกว่านั้น ทว่าหลายองค์กรในไทยยังมองว่าเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก มีความซับซ้อนต้องการความรู้เฉพาะทาง และต้องใช้งบประมาณในระดับหนึ่ง ในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมานับเป็นจุดตัดที่ลงตัวของเครื่องมือ (Tools) ที่พัฒนาขึ้นมากจนผู้ใช้ทั่วไปสามารถใช้ได้ และ Mindset ที่พร้อมลงทุนและรับเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาในองค์กร ทำให้ในปัจจุบัน องค์กรไทยได้นำเครื่องมือ Data เข้าไปใช้งานกันอย่างแพร่หลายในทุกฝ่ายงาน

คุณอิงเล่าว่าหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการที่เครื่องมือด้านข้อมูลในปัจจุบันนั้นมีให้เลือกใช้งานเยอะขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้งานได้ง่าย รองรับทั้งผู้ใช้ Business Users และ Experts เมื่อธุรกิจเห็นผลลัพธ์จากการใช้งานซอฟต์แวร์ในหนึ่งฝ่ายงาน ก็จะเริ่มขยายการใช้งานไปในแผนกต่างๆให้กว้างขึ้น ทั้งในฝ่ายการเงิน การขาย การผลิต การดำเนินการ โมเมนตัมเช่นนี้ช่วยสร้างให้องค์กรเปิดรับการใช้ Data และเทคโนโลยีอื่นเพิ่มขึ้น

ผลลัพธ์ที่จับต้องได้นี้ช่วยให้สมาชิกทุกคนในองค์กรได้เข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของข้อมูลอย่างแท้จริง ซึ่งนำไปสู่วัฒนธรรมการใช้ Data ที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตและสามารถแข่งขันได้เป็นอย่างดี

เครื่องมือ Self-service มาแรง เพราะใคร ๆ ก็ใช้ได้ 

เทรนด์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในประเทศไทยและทั่วโลกคือความนิยมของเครื่องมือแบบ Self-service ด้วยการใช้งานที่ง่าย เรียนรู้ได้เร็ว และสามารถเห็นผลลัพธ์ได้รวดเร็ว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเครื่องมือประเภทนี้มีธุรกิจเลือกเข้าไปใช้งานจำนวนมาก และในปี 2023 นี้ก็จะยังคงเติบโตต่อเนื่องไป

เครื่องมือแบบ Self-service ในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาและมาพร้อมกับความสามารถในการขั้นสูงมากขึ้น ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่าง Machine Learning และ Automation ได้อย่างง่าย ๆ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ในอนาคตอันใกล้นี้ ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลจะกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนในองค์กรมี องค์กรจะยกระดับการใช้ข้อมูลของตัวเองได้ลึกซึ้งขึ้นมาก ผู้ใช้ทั่วไปในองค์กรจะวิเคราะห์ข้อมูลเก่งขึ้นเรื่อยๆ เป็นโอกาสที่ธุรกิจควรรีบศึกษาและคว้ามา

ในขณะเดียวกัน เครื่องมือ Self-service ก็เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับองค์กรที่เริ่มต้นใช้ข้อมูลบ้างแล้ว และต้องการสร้างวัฒนธรรม Data-driven ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ส่งเสริมทั้งผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในการทำงาน และสร้างประสบการณ์ในการทำงานที่ดีให้กับสมาชิกภายในองค์กร 

อย่างไรก็ตาม คุณอิงได้แชร์มุมมองว่าการเลือกใช้ Data Tools นั้นนอกจากความง่ายในการใช้งานสำหรับผู้ใช้ทั่วไปแล้ว หากมีงบประมาณและบุคลากรพร้อม องค์กรควรมองถึงการต่อยอดและผู้ใช้ในกลุ่ม Expert Users ด้วย องค์กรในอนาคตควรมีทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลระดับทั่วไปและระดับสูงเพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว 

Data ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย

เมื่อถามถึงความแตกต่างในการใช้ข้อมูลในอุตสาหกรรม คุณอิงเล่าว่า โดยธรรมชาติของแต่ละอุตสาหกรรมแล้ว การลำดับความสำคัญและจุดเริ่มต้นในการใช้ข้อมูลนั้นมักต่างกัน เช่นอุตสาหกรรมการให้บริการสาธารณสุขก็จะให้ความสำคัญกับ Compliance และความปลอดภัยของข้อมูลเป็นพิเศษ และการวิเคราะห์ผู้ใช้บริการก็มีบริบทที่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป (เช่น การวิเคราะห์ Readmission Rate, การวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานที่ต้องใช้ความรู้ทางการแพทย์เข้ามาเสริม) ในขณะที่ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) มักเริ่มจากการวิเคราะห์ยอดขาย การตลาด และการเงินขององค์กรอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือและการวิเคราะห์หลายรูปแบบที่องค์กรทุกประเภทสามารถเริ่มต้นได้อย่างง่าย ๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล HR, การเงิน, และการ Forecast ตัวเลขต่าง ๆ ภายในองค์กร หากยังไม่มีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงกับธุรกิจมากก็สามารถเริ่มต้นได้จากสิ่งเหล่านี้

ความท้าทายหนึ่งที่ทีมงาน SIFT Analytics Group เผชิญอย่างต่อเนื่อง คือการสร้างความเข้าใจและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้ข้อมูล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีระบบงานดั้งเดิมที่เข้มแข็ง เช่น อุตสาหกรรมการผลิต ที่มีอัตราการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่เข้าไปใช้น้อยอย่างน่าเสียดาย คุณอิงเชื่อว่าการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถช่วยงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ในหลายส่วน เช่น การจัดการ Operation หรือการบริหารต้นทุน โดยในปัจจุบันก็มีตัวอย่างการใช้งานและเครื่องมือเฉพาะทางสำหรับอุตสาหกรรมให้เลือกใช้มาก ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ลองศึกษาเกี่ยวกับ Data เพิ่มเติม และค้นหาโซลูชันที่เหมาะสมกับองค์กรเข้าไปทดสอบดู

กรณีตัวอย่าง – SIFT Analytics Group ร่วมสร้างวัฒนธรรมข้อมูลผ่านการให้ความรู้และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่จับต้องได้

คุณอิงเชื่อว่าสมาชิกองค์กรจำนวนมากในปัจจุบันนั้นรับทราบถึงประโยชน์ของการทำงานแบบ Data-driven อยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่อาจยังขาดไปคือการแสดงให้เห็นว่าข้อมูลจะเข้ามาช่วยพนักงานแต่ละคนในการทำงานได้อย่างไร แนวทางของ  SIFT Analytics Group  ในการร่วมงานกับธุรกิจคือการเข้าไปช่วยเชื่อมต่อ “ประโยชน์” เข้ากับ “งาน”  ที่ทำ เช่นในกรณีการร่วมงานกับบริษัทรายใหญ่แห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ซึ่งเลือกโซลูชันจาก Alteryx เข้าไปใช้งาน

บริษัทดังกล่าวมีธุรกิจแยกย่อยออกเป็นหลายหน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยก็มีลักษณะเนื้อหางานที่แตกต่างกันออกไป เป้าหมายของพวกเขาคือการปรับเปลี่ยน “ระบบงาน” ให้ทันสมัยขึ้นและเสริมสร้าง “Mindset” ของสมาชิกภายในองค์กรให้เคยชินกับการใช้ข้อมูลและอ้างอิงข้อมูลในการทำงาน ในระยะเริ่มต้น พวกเขาร่วมมือกับ SIFT Analytics Group จัดโครงการ Analytics Breakthrough by Alteryx ซึ่งในปีถัดมาได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น Data DIY by Alteryx  ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกในองค์กรไม่ว่าจะทำงานในฝ่ายใดเข้ามาปรึกษา เสนอไอเดียปรับปรุงวิธีทำงานของตัวเองและหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญกันว่าจากข้อมูลที่มีอยู่นั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง ต้องใช้ข้อมูลส่วนใดเพิ่ม และงานใดที่ข้อมูลจะช่วยได้อีก

การร่วมพูดคุยกันระหว่างผู้ทำงานที่เข้าใจถึงปัญหาเป็นอย่างดีและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลที่รู้จักความสามารถและข้อจำกัดของระบบเช่นนี้ช่วยให้สมาชิกภายในองค์กรเห็นถึงการใช้ข้อมูลและประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างความเข้าใจ และปรับมุมมองวิธีคิดให้พนักงานเห็นถึงโอกาสในการนำข้อมูลมาใช้ เมื่อใช้ Data แล้วประสบความสำเร็จ ภายในองค์กรก็มีการบอกต่อกันไปและมีไอเดียด้าน Data หลั่งไหลเข้ามาเพิ่ม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระดับรากฐานขององค์กรอย่างแท้จริง

แพลตฟอร์มของ Alteryx สามารถจัดการกับข้อมูลได้แบบ End-to-end ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล ทำความสะอาด วิเคราะห์ ใช้ Machine Learning ทำ Automation ข้อมูล ไปจนถึงการทำ Report และแสดงผล จึงเหมาะกับองค์กรใหญ่ที่มีข้อมูลจากหลายแหล่งและต้องการเครื่องมือจัดการกับ Data ที่ทำงานได้ครบครัน (Photo: Alteryx) 

ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมาบุคลากรในองค์กรดังกล่าวได้ทำโครงการเกี่ยวกับ Data ไปแล้วทั้งสิ้น 25 Use cases โดยเน้นไปที่ลักษณะงาน 2 ประเภท ได้แก่

  • การวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) ทั้งการวิเคราะห์ระบบการดำเนินงาน (Operation) การทำ Predictive Mainenance, การประเมินการตั้งราคาและทำนายราคาของวัตถุดิบ, การบริหารคลังสินค้า
  • การใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) ช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่นการแปลงข้อมูลที่เคยอยู่ในไฟล์ Spreadsheet การเตรียมข้อมูลทำรายงานและสรุปต่างๆ  

ทั้ง 25 เคสนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินการโดยรวมขององค์กรในการปรับระบบงานในทันสมัย เป็นดิจิทัล ลดระยะเวลาในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับสมาชิกในองค์กร

Getting Started with Data – เริ่มต้นที่ความเข้าใจ รู้จักตัวเอง รู้จักเทคโนโลยี 

มาถึงปี 2023 นี้ โลกมีโซลูชันด้านข้อมูลให้เลือกใช้มากมายและมีความท้าทายทางธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา ทีมงาน ADPT จึงขอให้คุณอิงช่วยแนะนำแนวทางการเริ่มต้นและพัฒนาองค์กรด้านข้อมูลที่นำไปปรับใช้ได้จริงอย่างรวดเร็ว โดยทางคุณอิงได้แนะนำว่าสิ่งที่จะไม่ทำให้ธุรกิจหลงทิศในการเดินทางสู่ Data Culture คือ “ความเข้าใจ”

  1. เข้าใจการทำงานของ Data และความสามารถในการช่วยองค์กร รวมถึงข้อจำกัด
  2. เข้าใจการดำเนินการขององค์กร ทำงานอย่างไรในแต่ละแผนก
  3. เข้าใจปัญหาและความต้องการขององค์กร มีลำดับความสำคัญที่ชัดเจน
  4. เข้าใจข้อมูลที่มีอยู่ ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ รวมถึงข้อจำกัดของชุดข้อมูลที่มี
  5. เข้าใจกระบวนการนำ Data เข้ามาใช้ การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นที่จุดไหน ควรเสริมความรู้ส่วนใดเพิ่มเติม 
  6. เข้าใจสมาชิกภายในองค์กร ประเมินความสามารถ ช่องว่างที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม และ Mindset ของพนักงานทุกคน
  7. เข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีและ Algorithm เพื่อการใช้งานที่แม่นยำและการพลิกแพลงต่อยอด

โดยความเข้าใจเหล่านี้จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของฝ่ายบริหาร ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและข้อมูล และพนักงานทุกคนในองค์กร เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยร่วมกันทุกฝ่าย ค่อยๆปรับแนวคิดและความเคยชินจากการทำงานแบบเดิมๆ

และสำหรับองค์กรที่กำลังมองหาโซลูชันด้านข้อมูลเข้าไปใช้ คุณอิงแนะนำว่าให้นำขนาดของข้อมูลที่มีอยู่ไปเป็นปัจจัยในการพิจารณาร่วมกับความต้องการและงบประมาณที่มีด้วย ยกตัวอย่างเช่น

  • ธุรกิจขนาดเล็กที่มีข้อมูลพอสมควร อาจเลือกใช้โซลูชัน Business Intelligence (BI) เพราะใช้งานง่าย ติดตั้งไม่นาน และประยุกต์ใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้หลากหลาย (เช่น ยอดขาย คลังสินค้า) เห็นผลลัพธ์เร็ว 
  • องค์กรขนาดใหญ่ อาจมองโซลูชันที่ครบวงจรมากขึ้น เป็นมิตรกับผู้ใช้กลุ่มใหญ่ โดยเน้นตอบโจทย์ความต้องการที่มี เช่น โซลูชันวิเคราะห์ข้อมูล Alteryx เสริมด้วยระบบ BI 
  • หากข้อมูลในองค์กรกระจัดกระจาย ควรมองหาโซลูชันที่มีควาสามารถในการรวมข้อมูล (Data Integration) มาช่วย เช่น Alteryx
  • หากต้องการวิเคราะห์พื้นฐานพร้อมแสดงผล Visualization แต่ข้อมูลยังมีปริมาณไม่มาก ก็อาจเลือกโซลูชันที่ไม่ได้ลงลึก แต่ตอบได้ทุกโจทย์พื้นฐานเช่น Qlik 
โซลูชันจาก Qlik สามารถจัดการข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลขั้นพื้นฐานและนำมาแสดงผลให้เข้าใจง่ายๆได้เป็นอย่างดี (Photo: Qlik) 
  • หรือหากเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายงานใดฝ่ายงานหนึ่ง ปัจจุบันก็มีโซลูชันที่โดดเด่นด้านงานแต่ละด้าน และสามารถใช้งานทั่วไปได้ด้วยให้ลองเลือกใช้
ตัวอย่างโซลูชันจาก Freshworks ที่ถูกออกแบบมาเพื่องานบริการลูกค้า โดยมีฟีเจอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้ามาช่วยให้พนักงานสามารถบริการได้อย่างถูกต้องตรงจุดยิ่งขึ้น (Photo: Freshworks)

อนาคตของ SIFT Analytics Group เติบโตไปทางไหนต่อในโลกที่รู้ถึงความสำคัญของข้อมูลแล้ว

ก่อนจากกัน ทีมงานได้ขอให้คุณอิงทิ้งท้ายเกี่ยวกับแผนการในอนาคตของ SIFT Analytics Group  ที่จะทำให้เราได้เห็นถึงมุมมองในฝั่งผู้ให้บริการว่าพวกเขาคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตไว้ว่าอย่างไร สิ่งใดที่ธุรกิจจะมองหา ซึ่งคุณอิงก็ได้เล่าให้เราฟังด้วยคีย์เวิร์ดคำว่า “Data end-to-end provider”

ธุรกิจไทยในปัจจุบันนั้นได้เริ่มสัมผัสกับประโยชน์และการทำงานของข้อมูลไปแล้วบ้าง ก้าวต่อมาที่ทาง SIFT Analytics Group  ต้องรองรับ คือการตอบสนองความต้องการด้านข้อมูลที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อองค์กรสำเร็จไปแล้วในก้าวเล็กๆ ด้วยการนำเสนอเครื่องมือใหม่ๆที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบงานและเทคโนโลยีเดิมในองค์กรได้ ความสามารถในการเชื่อมต่อและไม่ทำให้ระบบยุ่งยากขึ้นจึงเข้ามามีบทบาท

อีกแง่มุมหนึ่งที่ธุรกิจไทยยังคงมีไม่มากนัก คือความเข้าใจในข้อมูล และความสามารถในการมองเห็นได้ว่าปัญหารูปแบบใดที่ข้อมูลเข้ามาช่วยแก้ไขได้ ซึ่งในจุดนี้ SIFT จะทำผ่านการให้บริการเสริม เช่น การปรึกษาปัญหาโดยละเอียดร่วมกับทุกฝ่ายในองค์กร จัดการอบรม รวมไปถึง Workshop ให้พนักงานได้เข้ามาใช้งานจริง แม้กระบวนการเหล่านี้จะยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่คุณอิงเชื่อว่าจะสร้างคุณค่าต่อองค์กรได้ในระยะยาวแน่นอน 

สำหรับในอนาคตที่การใช้ข้อมูลจะมีมากขึ้น อีกเรื่องที่ทาง SIFT มุ่งมั่นจะพัฒนาคือการเข้าไปช่วยเป็นคู่คิดด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การปรับระบบให้เป็นไปตาม Compliance ต่างๆ และ Data Governance ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามความตั้งใจที่จะให้บริการแบบ End-to-end อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ทีมงาน ADPT ต้องขอขอบคุณคุณสุกัญญา กอสนานและทีมงาน ที่ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยและแชร์ความรู้และประสบการณ์การทำงานกับธุรกิจไทยแบบเจาะลึก หลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน 

หากต้องการติดต่อทีมงาน SIFT Analytics Group เพื่อปรึกษา ขอข้อมูลเพิ่มเติม หรือทดลองใช้งานโซลูชันวิเคราะห์ข้อมูล สามารถทำได้ผ่านช่องทางต่อไปนี้

โทร.  02 645 2544

ไลน์ @siftthailand

อีเมล์ [email protected]

เว็บไซต์ www.sift-ag.com