ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราได้เห็น Content Creator เกิดใหม่มากมายเป็นดอกเห็ด จนปะทุเกิดเป็น Creator Economy ที่สร้างรายได้ให้กับเหล่าครีเอเตอร์นับไม่ถ้วน แต่ Creator Economy จะไปในทิศทางใดนั้น ทีมงาน ADPT ขอสรุปสาระสำคัญจากรายงานของ Goldman Sachs Research ให้อ่านกันในบทความนี้
Creator Economy เกิดขึ้นได้อย่างไร?
จากกลุ่มคนที่มีแบรนด์ของตัวเองและผู้ชมออนไลน์ได้กลายมาเป็น Ecosystem ใหม่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล เพราะการบริโภคสื่อดิจิทัลที่มากขึ้นและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ลดช่องว่างของการสร้างคอนเทนต์ให้ง่ายขึ้นกว่าที่เคย ทั้งแพลตฟอร์มเกิดใหม่อย่าง TikTok หรือแพลตฟอร์มโซเชียลเดิม ๆ อย่าง Facebook และ YouTube ก็ล้วนเป็นพื้นที่นำเสนอวิดีโอสั้น ช่องไลฟ์สตรีมต่าง ๆ รวมไปถึงคอนเทนต์รูปแบบอื่นที่ผู้ใช้สร้างขึ้น
รายได้หลักของครีเอเตอร์ก็มาจากการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ดีลกับแบรนด์โดยตรง (ราว 70%) ส่วนแบ่งรายได้จากการโฆษณาบนแพลตฟอร์มที่ลงคอนเทนต์ และการรับเงินจากการสมัครสมาชิกและการบริจาคจากบรรดาผู้ติดตาม
Creator Economy โตได้อีกขนาดไหน?
ในอีก 5 ปีต่อจากนี้ Goldman Sachs Research คาดว่า Creator ทั่วโลกกว่า 50 ล้านคน จะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ 10 – 20%
เมื่อ Ecosystem ของการสร้างคอนเทนต์เติบโตขึ้น ตลาดภาพรวมของ Creator Economy ก็คาดว่าจะขยายการเติบโตขึ้นไปถึง 2 เท่า ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ จาก 2.5 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ ไปสู่ 4.8 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2027 ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของค่าโฆษณาทางดิจิทัลทั่วโลก
นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่า การใช้จ่ายกับการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer marketing) และการจ่ายเงินของแพลตฟอร์มให้กับเหล่าครีเอเตอร์ที่สร้างคอนเทนต์ผ่านโฆษณานั้น จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตใน Creator Economy นี้
Creator Economy เติบโต ใครได้ประโยชน์สูงสุด?
หากถามว่า บริษัทไหนได้ประโยชน์สูงสุดจากการเติบโตต่อเนื่องของ Creator Economy Goldman Sachs Research ได้ให้คำตอบไว้ว่า แพลตฟอร์มกลางที่ดึงทั้งบรรดาครีเอเตอร์ผู้ทรงอิทธิพลและผู้ติดตามคอนเทนต์ที่จ่ายเงินให้ มาไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกันได้ดีที่สุด และมีรูปแบบการสร้างรายได้หลายรูปแบบด้วย
6 กุญแจสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิด Flywheel effect ที่สร้างโมเมนตัมการเติบโตจากการสั่งสมสิ่งเล็ก ๆ ให้ค่อย ๆ เติบโตตามกาลเวลานั้น ได้แก่
- การขยายผล (Scale): ครอบคลุมฐานผู้ใช้ที่มีความสนใจหลากหลายแตกต่างกันไปทั่วโลก
- เงินทุน (Capital): การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการสร้างรายได้ ไม่ว่าจะผ่านฐานรายได้ที่หลากหลาย หรือการเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทแม่ที่ใหญ่กว่า
- ระบบแนะนำขับเคลื่อนด้วย AI ที่แข็งแกร่ง: เพื่อสรรหาคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องและจับคู่ครีเอเตอร์ให้ตรงกลุ่มสนใจ
- เครื่องมือการสร้างรายได้ที่มีประสิทธิภาพ: มีผลิตภัณฑ์/โครงสร้างการจ่ายเงินให้ครีเอเตอร์ที่หลากหลาย รองรับหลายช่องทางรายได้
- ข้อมูลการวิเคราะห์ที่ทรงพลัง: เพื่อให้ข้อมูลที่โปร่งใส ทั้งเรื่องการมีส่วนร่วม (Engagement) การรักษาฐานลูกค้า (Retention) การเปลี่ยนเป็นลูกค้า (Conversion) และมาตรวัดอื่น ๆ
- ทางเลือกสำหรับ E-commerce: ฟีเจอร์ชอปปิงที่ผนวกรวมเข้ากับประสบการณ์ของลูกค้า
ถึงจุดนี้ รายงานได้ชี้ให้เห็นว่า แพลตฟอร์มเปรียบเสมือนที่นั่งคนขับ รอให้บรรดาครีเอเตอร์พากันขับเคลื่อนไปข้างหน้าในสภาวะการแข่งขันทางคอนเทนต์ที่ดุดันกับสงครามแย่งชิงผู้ติดตามกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมหภาคส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของแบรนด์ และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นยิ่งกดดันการระดมทุนของแพลตฟอร์มเกิดใหม่
ดังนั้น คาดว่าเราจะได้เห็น “เส้นทางสู่คุณภาพ” ที่ซึ่งบรรดาครีเอเตอร์จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับแพลตฟอร์มที่มีเสถียรภาพ มีแนวโน้มการขยายตัว และมีศักยภาพในการสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการเติบโตของ Creator Economy ในอนาคตต่อไป