[รีวิว] TCL NXTPAPER 11 แท็บเล็ตสัมผัสกระดาษ ถนอมสายตา ในราคาไม่ถึงหมื่น

0

หากใครเป็นสายจด 📝 สายอ่าน 📖 สายส่องซีรีส์ 🎬 หรือสายใด ๆ ที่ต้องใช้ “สายตา” แล้วกำลังมองหาแท็บเล็ตจอใหญ่ สเปคไม่ต้องแรง ขอแค่ใช้งานทั่วไป ดูหนังฟังเพลง อ่าน e-book ท่องเว็บ ไถฟีดได้ยาว ๆ ดูจอแล้วไม่ปวดตา… 

ADPT อยากชวนคุณมาลองรู้จักกับ 🔴 TCL NXTPAPER 11 🔴 แท็บเล็ตถนอมสายตา 👁️ สีสันสมจริง ดูจอได้ในหลากหลายสภาพแสง ใช้งานกับปากกา T-Pen Stylus 🖊️ เขียนไหลลื่นราวสัมผัสกระดาษ แถมเคสมาด้วย! ทั้งหมดนี้ในราคาไม่ถึงหมื่น!

ลองใช้งาน TCL NXTPAPER 11 จริงแล้วเป็นยังไง? ซื้อดีมั้ย? ADPT จัดรีวิวมาให้เต็ม ๆ ในบทความนี้ค่ะ

ส่องสเปคก่อน Unbox

ขนาดเครื่องยาว 25.7 cm. / กว้าง 16.16 cm. / บาง 0.69 cm.
น้ำหนัก462 g.
CPUMTK Helio P60T 8 Core
RAM4 GB
หน่วยความจำเครื่อง128 GB (รองรับ MicroSD ได้สูงสุด 1 TB)
OSAndroid™ 13, TCL UI
ขนาดหน้าจอ10.95″
ความละเอียด2K (2000 x 1200 pixel)
แบตเตอรี8000 mAh (ชาร์จ Type-C 2.0)
กล้องหน้า/หลัง8 MP
USBTypc-C
การเชื่อมต่อWi-Fi 802.11a/b/g/n/ac | Bluetooth 5.0

ถ้าพูดถึงแบรนด์ TCL หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงแบรนด์ Android TV ซึ่งทาง TCL ก็ขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีหน้าจออยู่แล้ว มาคราวนี้ TCL กระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในวงการสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตบ้าง 

ล่าสุด TCL ได้เปิดตัว TCL NXTPAPER 11 ชูจุดเด่นแท็บเล็ตสัมผัสกระดาษที่มีสีสมจริง ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี TCL NXTPAPER 2.0 จอขนาด 11 นิ้ว อ่านง่ายสบายตา แสดงผลคมชัดระดับ 2K ด้วยดีไซน์พรีเมียม พร้อมแบตเตอรีจุใจขนาดใหญ่ 8000mAh ทั้งหมดนี้ในราคาสุดคุ้มไม่ถึงหมื่น

แกะกล่องส่องของ

ลองมาสำรวจดูกันว่า เมื่อซื้อแท็บเล็ต TCL NXTPAPER 11 แล้ว จะมีไอเท็มอะไรมาในกล่องบ้าง มาแกะกล่องไปพร้อม ๆ กับปากกา T-Pen Stylus ด้วยกันเลย (สำหรับปากกา T-Pen Stylus มีจำหน่ายแยกในราคา 1,490 บาท แต่บางร้านอาจจัดโปรแถมให้เลย)

อุปกรณ์ครบครัน พร้อมเริ่มใช้งานได้ทันที

แท็บเล็ตสัมผัสกระดาษ

มาเริ่มต้นส่องรูปลักษณ์ภายนอกของแท็บเล็ต TCL NXTPAPER 11 กันก่อน เริ่มกันที่หน้าจอของตัวเครื่องเลย แวบแรกที่เห็นก็รู้สึกสบายตาตั้งแต่ยังไม่เปิดเครื่องแล้ว เพราะแทบไม่เห็นเงาและแสงสะท้อนจากหน้าจอเลย

หน้าจอขนาด 11 นิ้ว ขนาดถ่ายภาพมุมสูง ยังไม่เห็นเงาสะท้อนของตัวเองบนหน้าจอ

ผิวสัมผัสของหน้าจอนี้เองที่เป็นเอกลักษณ์ของ TCL NXTPAPER 11 เพราะทางแบรนด์เคลมหน้ากล่องไว้ว่าเป็น Full-color Electronic Paper Display แท็บเล็ตที่ให้ความรู้สึกราวสัมผัสกระดาษ แทบไม่เห็นรอยนิ้วมือเหมือนหน้าจอกระจกบนแท็บเล็ตตัวอื่น

ถ้าเป็นแท็บเล็ตรุ่นอื่นก็คงต้องเอาไปติดฟิล์มกระดาษถึงจะให้ความรู้สึกผิวแบบด้าน ซึ่งฟิล์มก็มีโอกาสหลุดลอกได้ แต่หน้าจอ TCL NXTPAPER ให้ฟีลกระดาษตั้งแต่ออกมาจากโรงงานเลย ไม่ต้องไปเสียเวลาติดฟิล์มเพิ่ม ลดโอกาสฟิล์มหลุดลอกไปในตัวอีกต่างหาก

แท็บเล็ตตัดขอบมน ขนาดบางเพียง 6.9 มิลลิเมตร

กล้องหน้ามุมกว้างความละเอียด 8MP + เซ็นเซอร์วัดแสง

ตัวบอดี้ทั้งเครื่องผลิตจากวัสดุอลูมิเนียมสีเทาเข้ม เสริมความทนทานในสไตล์เรียบหรูโฉบเฉี่ยว มาพร้อมกล้องหลัง AI Camera ความละเอียด 8 MP เช่นเดียวกับกล้องหน้า ซึ่งตัวกล้องนูนออกมาจากแท็บเล็ตเพียงเล็กน้อย เวลาวางแล้วเขียนหน้าจอบนโต๊ะ ก็สามารถวางราบให้เครื่องอยู่นิ่ง ๆ ได้ ไม่โยกเยกกระดกตามแรงกดของมือเท่าไรนัก

ปุ่มเปิด/ปิดเครื่องอยู่ทางด้านบนขวาของตัวเครื่อง ฝั่งเดียวกับกล้องหลัง ส่วนลำโพงนั้นจะอยู่ทั้งบนและล่างของตัวเครื่อง เพื่อให้เสียงรอบด้านตลอดเวลาที่ใช้เรียนหรือประชุมออนไลน์ รวมไปถึงตอนดูหนังฟังเพลงด้วย

ส่วนด้านล่างตรงกลางของตัวแท็บเล็ตมีช่อง USB-C สำหรับชาร์จแบตและเชื่อมต่อโอนถ่ายข้อมูล หากต้องการใช้หูฟัง ต้องเลือกใช้เป็นหูฟังสาย USB-C หรือแบบ Bluetooth เพราะแท็บเล็ตรุ่นนี้ไม่ได้ใส่ช่องหูฟัง 3.5 mm มาให้ แต่ข้อดีคือ ทำให้ตัวเครื่องยังคงมีขนาดบางอยู่นั่นเอง

ทางด้านขวาของตัวเครื่องมีปุ่มเพิ่มลดเสียง ไมค์รับเสียง และช่อง MicroSD Card ที่สามารถเพิ่มพื้นที่ความจุบนตัวเครื่องได้สูงสุดถึง 1 TB

อุปกรณ์เสริม

เคส

ในกล่อง TCL NXTPAPER 11 นอกจากตัวแท็บเล็ตแล้ว สิ่งที่แถมให้มาก็นับว่าเป็นไปตามมาตรฐานทั่วไป คือ ที่ชาร์จ 9V/2A, สาย USB-C, คู่มือฉบับย่อ, เข็มจิ้มช่อง Micro SD แต่ที่พิเศษคือ มีเคสฝาพับสีกรมท่า แถมมาให้ด้วย ไม่ต้องลำบากไปคอยหาซื้อเคสแยกทีหลัง ถือว่าอุปกรณ์ครบชุดพร้อมใช้งานได้เลย

ความดีงามของเคสจาก TCL นี้คือ ความบางเหมือนปกหนังสือ แบนราบเรียบไปกับแท็บเล็ต พอดีกับตัวเครื่อง แต่ก็ยังหนาพอที่จะปกป้องกล้องหลังของแท็บเล็ตจากการสัมผัสกับพื้นผิวโต๊ะโดยตรง อีกทั้งยังรองรับการวางแท็บเล็ตแนวนอนได้ถึง 3 ระดับด้วย

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจเล็กน้อย คือ เคสที่แถมมาให้นั้นเป็นเคสแถบกาว ไม่ใช่แถบแม่เหล็กเหมือนเคสตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งข้อจำกัดคือ ผู้ใช้งานจะไม่สามารถถอดเคสเข้าออกได้บ่อย ๆ เพราะแถบกาวจะเสื่อมสภาพ หรืออาจทำให้เครื่องมีคราบกาวติดอยู่ ทางผู้พัฒนาคงมองว่า อยากให้ใช้เคสนี้ไปยาว ๆ (รึเปล่า?)

ข้อจำกัดอีกอย่างคือ หากใช้เคสแถมตัวนี้ อาจต้องระมัดระวังในการใช้งานเป็นพิเศษ เพราะเคสเพียงปกป้องด้านหน้าและด้านหลัง แต่ไม่ได้ปกป้องรอบตัวเครื่อง และถ้าทำตกระหว่างใช้งาน เคสนี้ก็ไม่ช่วยกันกระแทก 

ดังนั้น เวลาพกพาใส่กระเป๋าจึงควรระมัดระวังมากขึ้นหน่อย หรือไม่อย่างนั้นก็ควรหาซองใส่เคสอีกทีเพื่อป้องกันรอยขีดข่วนรอบด้าน

ปากกา T-Pen Stylus

ส่วนปากกา T-Pen Stylus ที่เป็นอุปกรณ์เสริมจำหน่ายแยก มีแหนบสำหรับคีบหัวปากกาพร้อมไส้เปลี่ยนให้ แต่ส่วนที่แปลกสังเกตแบบไม่เคยเห็นมาก่อน คือ ในกล่องมีตัวใส่ปากกาที่มีแถบกาวด้านหลังไว้สำหรับแปะติดกับเคสให้ด้วย เพราะปากกา T-Pen Stylus ไม่สามารถดูดแม่เหล็กติดกับตัวเครื่อง หรือใส่ไว้ในเคสที่ให้มาได้ 

ถ้าใครจำเป็นต้องเปลี่ยนใช้เคสอื่นก็คงลำบากหน่อย เพราะไม่สามารถย้ายที่เก็บปากกาไปไว้กับเคสอื่นได้นอกจากต้องลอกและแปะกาวใหม่

ด้านบนของปากกามีช่องชาร์จ USB-C มาให้ (ไม่ได้แถมสาย) ชาร์จเพียงหนึ่งครั้งก็ใช้ได้ยาว ๆ เหมือนกัน ส่วนปลายด้ามก็เป็นหัวเมาส์ปากกาแบบ Pen nib ซึ่งถ้าต้องเปลี่ยนไส้ ก็ใช้แหนบหนีบที่มาพร้อมกับปากกาได้

ตัวด้ามจับก็มีปุ่มกดควบคุมการทำงานของปากกา และเมื่อกดปุ่ม ก็จะมีไฟสถานะสีฟ้าขึ้นมา จุดเด่นคือ สามารถเริ่มต้นใช้งานปากกาได้ทันทีโดยไม่ต้องตั้งค่าการเชื่อมต่อ เพียงกดปุ่มก็สามารถเขียนหรือสัมผัสกับหน้าจอได้เลยทันที ถือว่าสะดวกมาก ๆ เหมาะสำหรับมือใหม่หัดใช้ปากกา Stylus

รีวิวใช้จริง

ตั้งค่าง่ายดาย

วิธีเริ่มต้นตั้งค่าใช้งานครั้งแรกก็ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เริ่มต้นด้วยการตั้งค่าภาษา และ Vision Settings เพื่อปรับขนาด Icon และขนาดตัวอักษรตามชอบ พอเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แล้วรอเครื่องอัปเดตสักพัก ก็สามารถย้ายข้อมูลจากเครื่องเก่าที่เคยใช้มายังแท็บเล็ต TCL NXTPAPER 11 ได้

ด้วยระบบปฏิบัติการ Android ผู้ใช้ก็สามารถตั้งค่ากำหนดเริ่มต้นว่า ผู้ใช้งานเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หรือกำหนดให้เป็นเครื่องใช้งานส่วนรวมก็ทำได้ในภายหลัง

ในกรณีที่กำหนดให้เด็กใช้งานเป็นหลัก ก็สามารถใช้บัญชี Google ของเด็ก หรือสร้างบัญชี Google ใหม่ให้เด็กก็ได้ (ตั้งค่าภายหลังในแอป Kids Space ได้) โดยผู้ปกครองสามารถควบคุมและกรองการใช้งานได้ผ่านแอป Family Link ของ Google เอง

เรื่องความมั่นคงปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น ระบบเริ่มต้นให้เลือกตั้งค่า Screen lock แบบสแกนหน้า หรือใส่พาสเวิร์ดได้ตามความถนัด

จากนั้น ก็จะเป็นการตั้งค่า NXTVISION เพื่อปรับการแสดงผลแสงสีของหน้าจอ ทั้งภาพ วิดีโอ เกม แล้วก็ตั้งค่า Home screen ได้ตามชอบ เมื่อตั้งค่าเสร็จพร้อมใช้งาน กด Accept Privacy Statement เป็นอันเรียบร้อย ซึ่ง Setup ทั้งหมดที่กล่าวถึงสามารถปรับเปลี่ยนได้ในภายหลัง

แอปเริ่มต้นหลังจาก Setup เครื่องเรียบร้อย พร้อมเริ่มใช้งานได้ทันที

จอถนอมสายตา

จุดที่เป็นฟีเจอร์ไฮไลต์สำคัญของ TCL NXTPAPER 11 คือ หน้าจอที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเรื่องการถนอมสายตาจากการใช้งานแท็บเล็ตในแต่ละสภาพแสงได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะใช้งานในรูปแบบไหน หรือใช้งานในสภาพแสงแบบใด ก็มีโหมดการตั้งค่า NXTVISION eye care, NXTPAPER 2.0 เทคโนโลยีการปรับแสงและสีหน้าจอด้วย AI ให้เลือก ทั้งเมนู Visual Enhancement ที่เพิ่มความคมชัดในการรับชมภาพ วิดีโอ รวมไปถึงรายละเอียดกราฟิกสำหรับการเล่นเกมด้วย

ดูหนัง ภาพสวย พี่มันม่วงแทบจะลอยออกมาจากจอ

ด้วยหน้าจอสัมผัสกระดาษ แม้จะมีแสงไฟสะท้อนลงมาจากข้างบน ก็ไม่กระทบกับการดูจอ ไม่ต้องเสียเวลาปรับองศาหามุมวางจอเพื่อหลบแสงสะท้อนเข้าตา

นอกจากนี้ ยังมีเมนู Display Mode ที่เพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้รองรับได้ในหลากหลายสภาพแสง อย่าง Reading mode ที่ปรับเป็นหน้าจอสีขาวดำ เหมาะสำหรับการอ่าน E-book เป็นอย่างดี เพราะช่วยลดแสงพื้นหลังที่สะท้อนเข้าตาเราได้มาก

ส่วน Eye comfort mode ก็ช่วยกรองแสงสีฟ้า ปรับอุณหภูมิสีของหน้าจอ ทำให้ตาไม่ล้าจากการจ้องหน้าจอนาน ๆ ใช้อ่าน e-book ไถฟีด ดูซีรีส์กันไปยาว ๆ

สำหรับ Sunlight display mode ก็ช่วยเร่งแสงให้สามารถอ่านได้กลางแจ้ง โดยหน้าจอไม่สะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์แบบหน้าจอกระจกของแท็บเล็ตยี่ห้ออื่น แต่ถ้าแดดจัด ๆ ก็อาจจะสู้ไม่ไหว ต้องใช้สายตาเพ่งระดับหนึ่ง ถ้าใช้นอกอาคาร แนะนำว่าควรอ่านในที่ร่ม ไม่กระทบกับแสงแดดจ้าโดยตรงจะช่วยเสริมประสบการณ์การอ่านได้ดีกว่า

เทียบหน้าจอในสภาพแสงที่ต่างกัน

T-Pen Stylus เขียนคล่อง ไอเดียไหลลื่น

ข้อดีของปากกา T-Pen Stylus นอกจากการเชื่อมต่อที่ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิกแล้ว การใช้งานเขียนก็ให้ประสบการณ์ที่ดีเช่นกัน

ปลายปากกาที่จรดสัมผัสหน้าจอไม่ได้รู้สึกสาก ๆ ฝืด ๆ เหมือนกระดาษซะทีเดียว แต่ก็ไม่ถึงขนาดเขียนลื่นเกินไปเหมือนสัมผัสหน้าจอกระจก  เวลาเขียนเลยให้ความรู้สึกตรงกลางที่ไม่ลื่นไม่ฝืด มีแรงเสียดทานนิด ๆ หนืดหน่อย ๆ

การเขียนลากเส้นหนักเบาก็สามารถทำได้ดี เพราะปากกา T-Pen Stylus สามารถรับแรงกดได้ถึง 4096 ระดับ รองรับงานออกแบบ วาดภาพ หรือเขียนตัวอักษรที่ต้องใช้น้ำหนักลายเส้นหลายแบบตามแรงกดของมือ

ส่วนการตอบสนองของปากกา T-Pen Stylus กับหน้าจอแท็บเล็ตก็ถือว่ามีความแม่นยำและค่อนข้างตอบสนองได้เร็วพอสมควร แต่ถ้าใครชอบจดเลกเชอร์เร็ว ๆ ขณะฟังบรรยายไปด้วย แนะนำว่าควรลงน้ำหนักปากกามากหน่อย หรือเขียนให้ช้าลง ไม่อย่างนั้นสิ่งที่จดอาจตกหล่นไปเพราะปากกามีความหน่วงในการตอบสนองอยู่บ้าง 

(หรืออาจจะเป็นเพราะ CPU ประมวลผลไม่ทันเนื่องจากมี Background app เปิดอยู่ แนะนำให้เลี่ยงการเปิดใช้งานหลายแอปพร้อมกัน)

สำหรับ TCL NXTPAPER ผู้ใช้สามารถเปิดใช้งานแอป Jnotes จดบันทึกได้เลย ไม่ต้องติดตั้งแอปเพิ่มก็ยังได้ เขียนเสร็จก็ Save เป็นภาพไฟล์ .png หรือไฟล์ .pdf แล้วแชร์ไฟล์เก็บขึ้น Drive หรือแชร์ต่อให้เพื่อนโดยตรงผ่านแอปเลยก็ได้

แอป Jnotes เวอร์ชันที่ติดตั้งมากับเครื่องเป็นเวอร์ชันมีโฆษณา ถ้าต้องการฟีเจอร์เสริม ก็สมัครสมาชิกใช้งานฟีเจอร์แปลงลายมือเป็นข้อความ อัดเสียง และอื่น ๆ ได้

UI ของแอป Jnotes ดูใช้งานง่ายดี

กล้อง AI คุณภาพรับได้

กล้องหน้าและกล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ที่ใส่มาใน TCL NXTPAPER 11 ก็ตอบโจทย์การใช้งานทั่วไป โดยปกติแล้ว ผู้ใช้แท็บเล็ตมักไม่ได้เน้นถ่ายสวยคมชัดหรือเน้นถ่าย Portrait บุคคลอย่างกล้องมือถือสมาร์ตโฟนเนื่องด้วยความคล่องตัวที่น้อยกว่าในการหยิบขึ้นมาถ่าย

ADPT จึงขอตระเวนพา TCL NXTPAPER 11 ไปถ่ายตามงานสัมมนาเป็นหลัก ซึ่งภาพที่ได้ออกมาก็พอใช้ได้ สามารถถ่ายในห้องมืดแสงน้อยได้ แม้จะนั่งอยู่ไกล ก็ยังพอเห็นรายละเอียดตัวอักษรบนสไลด์อยู่บ้าง (แต่ตัวอักษรต้องใหญ่และหนาระดับหนึ่งถึงจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น)

แถมรูปถ่าย Portrait ระยะประชิด

ส่วนกล้องหน้า ความละเอียดเท่ากับกล้องหลังที่ 8 ล้านพิกเซล ก็เพียงพอกับการใช้งาน VDO Call เรียนหรือประชุมออนไลน์แบบเปิดกล้อง แต่ถ้าใช้อัดคลิป Tutorial หรือไลฟ์ อาจจะได้ภาพที่ไม่ค่อยสวยคมชัดอย่างกล้องสมาร์ตโฟนที่มีความละเอียดสูงขึ้นไปอีกระดับ

ลำโพงกระหึ่ม

จากที่ลองได้ใช้งานเปิดดูคลิป YouTube รายการทั่วไปด้วยระยะเวลาเป็นชั่วโมง ๆ เสียงจากลำโพงก็ดังฟังชัด ถ้าใช้ประชุมหรือเรียนออนไลน์เป็นเวลานาน ๆ ก็ฟังได้ราบรื่นดี 

พอลองทดสอบกับการเปิดหนังฟอร์มยักษ์ดูผ่านแท็บเล็ตนี้ก็ได้ฟีลดังกระหึ่มเร้าอารมณ์ ถือว่าลำโพง 4 ตัว ที่จัดให้มาในแท็บเล็ตราคาไม่ถึงหลักหมื่น ตอบโจทย์เรื่องประสบการณ์ความบันเทิงได้อย่างเต็มอิ่ม มอบอรรถรสชั้นเลิศในการรับชมภาพยนตร์ได้อย่างจุใจ

(Credit: 20th Century Studios Singapore)

เพิ่ม Productivity ถูกใจสาย Multitask

ถ้าใครเป็นสาย Multitasking ชอบเปิดโปรแกรมหลาย ๆ หน้าจอ น่าจะชื่นชอบฟีเจอร์เหล่านี้เป็นพิเศษ

Split screen เปิดใช้งานแอปบนหน้าจอเดียวได้พร้อมกันถึง 3 แอป

PC Mode เปิดใช้งานแท็บเล็ตในรูปแบบเดสก์ท็อป

Second Screen ใช้งานเป็นจอ Extend คู่กับคอมพิวเตอร์ของคุณ 
ใช้งานได้หลายจอ ไปนั่งทำงานข้างนอก ก็เหมือนมีจอที่ 2 พกติดตัวไปด้วยทุกที่
ลากไฟล์ข้ามเครื่องได้สะดวกโดยไม่ต้องพึ่งสายเชื่อมต่อใด ๆ

หรือจะต่อเป็นจอที่ 3 ก็ยังได้!!!

จุดเด่นและข้อสังเกต

จุดเด่น

  • หน้าจอสัมผัสให้ความรู้สึกคล้ายกระดาษ ไม่ต้องติดฟิล์มเพิ่มก็ยังได้
  • หน้าจอลดแสงสะท้อนได้ดี อ่านได้ทั้งกลางแจ้งและในร่ม มีโหมดอ่านกลางคืนด้วย ช่วยถนอมสายตาได้ดี
  • ไม่ค่อยเห็นรอยนิ้วมือติดหน้าจอ จึงไม่ต้องเช็ดทำความสะอาดบ่อย ๆ
  • Android OS ใช้งานง่าย มีชุดแอป Google พร้อมใช้ทำงานได้ทันที
  • รองรับการทำงานหลายแอปบนหน้าจอเดียว หรือจะใช้เป็นจอเสริม Extend จากคอมก็ทำได้เช่นกัน
  • ลำโพงดังสะใจมาก เสียงไม่แตก เป็นมิตรต่อแก้วหู
  • ราคาเข้าถึงได้ ได้ทั้งเครื่องแท็บเล็ต + สายชาร์จ + เคส | แม้ว่าปากกาจะต้องซื้อแยกต่างหาก แต่รวมแล้วราคาก็ยังไม่ถึงหมื่น ซื้อทั้งทีถ้าไม่อยากให้งบบานปลาย แท็บเล็ต TCL NXTPAPER 11 ก็น่าสนใจ
  • ปากกา T-Stylus ใช้งานง่าย ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องการเชื่อมต่อ แค่กดปุ่มที่ปากกาก็ใช้งานกับหน้าจอได้ทันที

ข้อสังเกต

  • มีบางครั้งที่สัมผัสหน้าจอแล้วไม่ตอบสนองจนต้องรีสตาร์ทเครื่อง ไม่แน่ใจว่าเครื่องค้างจากการใช้งานหนักหรือมี Background App เปิดไว้หลายโปรแกรมรึเปล่า 😅 ต้องคอยปิดแอปที่ไม่ใช้งานอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้หน่วยประมวลผลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เปิด YouTube ดูคลิปความคมชัดสูง ๆ ระดับ 1440p – 2160p ก็กระตุกไม่น้อย น่าจะเหมาะกับการดูหนังที่ไม่ได้ต้องการความคมชัดมาก หากใครเน้นเสพเนื้อเรื่องคอนเทนต์ เสพสตอรี แท็บเล็ต TCL NXTPAPER 11 ตัวนี้ก็เรียกว่าตอบโจทย์อยู่ แต่ถ้าใครอยากเสพภาพคมชัดสวย ๆ อาจต้องมองหาแท็บเล็ตตัวอื่นในราคาสูงขึ้นอีกระดับ
  • เล่นเกมเบา ๆ พอได้ แต่กราฟิกหนัก ๆ แรง ๆ ไม่น่าไหว
  • ปากกาไม่มีแม่เหล็กติดกับตัวเครื่อง ต้องหาที่เก็บดี ๆ ไม่อย่างนั้นอาจหล่นหายได้
  • เวลาเขียนแนวตั้ง มือไปบังโดนกล้องที่อยู่ด้านขวา ทำให้หน้าจอปรับ auto brightness แต่แก้ได้ด้วยการปิด auto brightness
  • ไม่ได้มีฟีเจอร์กันน้ำ 💦 ใช้งานต้องระวังกันนิดนึง
  • เคสที่แถมมาเป็นแถบกาว อาจจะไม่ถูกใจคนที่ชอบถอดเคสบ่อย ๆ
  • เคสไม่ได้ปกป้องรอบตัวเครื่อง ต้องระวังทำตกกระแทก ไม่อย่างนั้นอาจเกิดความเสียหายกับตัวเครื่องได้โดยตรง

บทส่งท้าย

ถือว่า TCL NXTPAPER 11 เจาะกลุ่มตลาดผู้ใช้งานทั่วไป เน้นเรียน เน้นใช้งานเอกสาร ดูหนังฟังเพลงบ้าง แบบไม่จำเป็นต้องใช้งานสเปคสูงมากนัก แต่โฟกัสไปที่การใช้งานที่ต่อเนื่องแต่ยังคงถนอมสายตา ในราคาที่เข้าถึงได้

ใครสนใจ TCL NXTVISION 11 สามารถจับจองเป็นเจ้าของกันได้ทางหน้าร้านไอทีชั้นนำทั่วไป รวมถึงช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://www.tcl.com/th/th/tablets/tcl-nxtpaper-11 หรือ e-Commerce ชั้นนำทั่วไป โดยสนนราคาตอนนี้อยู่ที่ 7,900 บาท (ราคา ณ วันที่ 23 ก.ย. 2023)

สำคัญคือ เลือกแท็บเล็ตที่ตอบโจทย์การใช้งานของคุณ ถ้าคุณคิดว่า อ่านรีวิวนี้แล้ว TCL NXTVISION 11 คือใช่ ลองไปทดสอบด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อนะคะ 🙂