แนวทางการตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน สำหรับธุรกิจโรงงานและการผลิตที่เน้นการส่งออก ด้วย Smart Manufacturing

0

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเราพูดถึงแนวคิดของ Smart Manufacturing นั้นเรามักจะนึกถึงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีและความสามารถในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ทำงานได้อย่างเป็นอัตโนมัติ หรือนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เสริมกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ และบริการกันเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี เมื่อแนวโน้มด้านความยั่งยืนหรือ Sustainability นั้นถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้างมากขึ้นทั่วโลก แนวคิดด้าน Smart Manufacturing เองก็มีการวิวัฒนาการไปสู่ทิศทางของความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น จนความยั่งยืนเองก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตอัจฉริยะไปแล้ว

แนวโน้มด้านความยั่งยืนเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงงานและการผลิตของไทยที่มุ่งเน้นการส่งออกอย่างไร? และการปรับตัวที่เกิดขึ้นควรเป็นอย่างไร? ในบทความนี้เราจะสรุปเนื้อหาถึงประเด็นดังกล่าวนี้กันโดยเฉพาะ

เป้าหมาย Net Zero ของเหล่ามหาอำนาจทั่วโลก

เหล่ามหาอำนาจทั่วโลกนั้นต่างตั้งเป้าหมายในการรักษาสิ่งแวดล้อมกันอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นจีนที่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนการปล่อย CO2 มากที่สุดในโลกนั้น ก็มีแผนที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality ให้ได้ภายในปี 2060 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและ EU ที่เป็นผู้ปล่อย CO2 อันดับ 2 และ 3 ตามลำดับนั้น ก็มีเป้าหมายที่จะเป็น Net Zero ให้ได้ภายในปี 2050

เป้าหมายเหล่านี้ได้เริ่มถูกนำมาใช้ในการกำหนดข้อกฎหมายและนโยบาย ทั้งภาคของการผลิตและการดำเนินธุรกิจภายในประเทศ รวมถึงการนำเข้าสินค้าโดยประเทศเหล่านี้ ทำให้ธุรกิจโรงงานและการผลิตที่มีการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นมา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดนั้นก็คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนหรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่ในฝั่งสหรัฐอมเริกาจะเริ่มนำมาบังคับใช้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่าง การผลิตและกลั่นปิโตรเลียม, ปิโตรเคมี, ปุ๋ย, ไฮโดรเจน, กรดอะดิพิก, ซีเมนต์, เหล็กและเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม, กระจก, เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล ในขณะที่ฝั่ง EU นั้นจะครอบคลุมอุตสาหกรรมในกลุ่มเหล็ก, อะลูมิเนียม, ซีเมนต์, ปุ๋ย, กระแสไฟฟ้า, ไฮโดรเจน, เคมีภัณฑ์ และพลาสติก อีกทั้งยังอาจมีการบังคับให้รายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปคำนวณภาษีคาร์บอนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีการบังคับใช้ภายใน 3 – 7 ปีนับถัดจากนี้

ปัจจัยเหล่านี้จะสร้างความกดดันใหม่ๆ ให้กับเหล่าธุรกิจโรงงานและการผลิตของไทยที่มุ่งเน้นการส่งออกดังนี้

  • การผลิตสินค้าใดๆ จะต้องมีการระบุสัดส่วนของวัตถุดิบที่ใช้, พลังงานที่ใช้ในการผลิต และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อนำไปคำนวณภาษีคาร์บอนสำหรับการนำเข้าไปยังประเทศเหล่านั้น
  • การขนส่งสินค้าข้ามประเทศ อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากปัจจัยด้านการคิดภาษีคาร์บอนที่เกิดขึ้นในกระบวนการขนส่ง
  • การประกาศมาตรการใหม่ๆ ในอนาคต ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในภายหลังจนเกิดความผันผวนที่คาดเดาได้ยาก

ความกดดันเหล่านี้จะทำให้เหล่าธุรกิจโรงงานและการผลิตของไทยนั้นต่างต้องเร่งปรับตัว ทั้งในแง่ของการคัดสรรวัตถุดิบใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น, การตรวจสอบและติดตามการใช้พลังงานและการผลิตคาร์บอนที่เกิดขึ้นในกระบวนการการผลิตเพื่อจัดทำรายงานที่ครอบคลุมชัดเจน ไปจนถึงการรับมือกับค่าขนส่งและภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการตัดสินใจนำเข้าสินค้าของธุรกิจในประเทศปลายทางเหล่านั้นโดยรวม โดยถึงแม้ธุรกิจโรงงานและการผลิตของไทยบางส่วนอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบในปัจจุบันจากการประกาศมาตรการที่ผ่านมา แต่ในอนาคตก็อาจมีมาตรการใหม่ๆ ที่ออกมาจนได้รับผลกระทบ จึงควรเร่งปรับตัวโดยเร็ว

อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดและความเสี่ยงใหม่ๆ เหล่านี้ก็อาจมองเป็นโอกาสได้เช่นกัน เพราะหากธุรกิจโรงงานและการผลิตของไทยสามารถเร่งหาทางปรับตัวเพื่อสร้างทางออกใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้ นั่นก็จะเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันใหม่ที่จะทำให้ได้เปรียบเหนือคู่แข่งจากประเทศอื่นรอบข้าง อีกทั้งหากประเทศไทยเองหรือประเทศอื่นๆ เริ่มมีการประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เหล่านี้ออกมา ธุรกิจไทยก็จะสามารถปรับตัวเพื่อรุกเข้าสู่ตลาดเหล่านี้ได้รวดเร็วยิ่งกว่าคู่แข่งไปด้วยเช่นกัน

สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนมุ่งหน้าปรับตัวนั้น มีแนวทางที่น่าสนใจดังนี้

  1. การประสานงานกับคู่ค้าในประเทศต่างๆ เหล่านี้ เพื่อทำความเข้าใจในมาตรการการบังคับใช้, หลักเกณฑ์ในการประเมินและการคำนวณ, แนวทางการรับรองข้อมูล, อัตราภาษีที่จะจัดเก็บเพิ่มเติม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีข้อมูลที่แม่นยำที่สุดก่อนเริ่มดำเนินการ
  2. การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม
  3. การติดตามข่าวสารใหม่ๆ ด้านมาตรการเหล่านี้ ทั้งในประเทศเป้าหมายปลายทางและประเทศอื่นๆ เพื่อให้รับทราบถึงความเสี่ยงและโอกาสใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
  4. การร่วมมือกับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือหน่วยงานและสมาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และเป็นกำลังสำคัญในการเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการเหล่านี้
  5. การเตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบ และจัดทำข้อมูลด้านวัตถุดิบ พลังงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกล่วงหน้า เพื่อให้สามารถปรับตัวได้รวดเร็วเมื่อถึงยามจำเป็น

Smart Manufacturing แห่งอนาคต กับการตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน

สำหรับธุรกิจโรงงานและการผลิตที่กำลังมุ่งสู่การเป็น Smart Manufacturing นั้น การพัฒนาหรือจัดหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนนั้นก็ได้กลายเป็นอีกความท้าทายใหม่ โดยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและน่าจับตามองนั้นมีดังต่อไปนี้

1. Carbon & Energy Tracking Platform

เทคโนโลยีสำหรับการตรวจสอบ บันทึก และจัดทำรายงานสำหรับคาร์บอนและพลังงานโดยเฉพาะ เพื่อให้ธุรกิจเริ่มมีข้อมูลเหล่านี้สำหรับใช้ในการออกรายงานและการคำนวณภาษีคาร์บอน ทำความเข้าใจกับต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยเหล่านี้ และวางแผนลดการผลิตคาร์บอนที่เกิดขึ้นในกระบวนการการผลิตและการขนส่งได้อย่างครอบคลุม

ระบบดังกล่าวนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ เพราะการมีข้อมูลที่ชัดเจนนั้นจะทำให้การวางแผนเป็นไปได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังทำให้ธุรกิจสามารถเริ่มมองเห็นถึงปัญหาในการติดตามการผลิตคาร์บอนและการใช้พลังงานได้อย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและปิด Gap ที่ยังคงเกิดขึ้นในการติดตามข้อมูลเหล่านี้ได้ทันท่วงที

2. Sensor & IoT

เทคโนโลยีนี้จะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการติดตามด้านการผลิตคาร์บอนและใช้พลังงานอย่าง Real-Time โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจโรงงานและการผลิตที่มีสินค้าและกระบวนการที่หลากหลาย เพื่อให้การจัดทำข้อมูลสำหรับการผลิตสินค้าแต่ละชิ้นเป็นไปได้อย่างแม่นยำด้วยแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ Sensor และ IoT จะยังมีบทบาทสำคัญในการต่อยอดสู่การทำ Automation ด้านการผลิตคาร์บอนและการลดการใช้พลังงานในอนาคต ดังนั้นการศึกษาถึงเทคโนโลยี แนวทาง และการทดลองเริ่มต้นใช้งานจึงเป็นการเตรียมตัวอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจมีความพร้อมได้อย่างรวดเร็ว

3. Industrial EV

ยานพาหนะที่ใช้พลังไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้นกำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก เพราะนอกจากจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อย่างชัดเจนแล้ว การดูแลรักษาและจัดการด้าน Operation ต่างๆ เองก็มีความง่ายดายมากขึ้น รวมถึงยานพาหนะเหล่านี้ยังมักมาพร้อมกับการเป็น Smart Vehicle ที่สามารถติดตามตรวจสอบข้อมูลหรือควบคุมจากระยะไกลหรือทำงานในแบบอัตโนมัติได้อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ยานพาหนะเหล่านี้จึงสามารถทำการติดตามและตรวจสอบการใช้พลังงานได้อย่างง่ายดาย และกลายเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญทั้งสำหรับการใช้งานภายในโรงงานเอง ไปจนถึงการใช้เพื่อการขนส่งระยะไกลภายในประเทศ

4. Smart Logistics & Fleet Management

สุดท้ายแล้ว เทคโนโลยีด้านการขนส่งอัจฉริยะและการจัดการการขนส่งก็จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่มีบทบาทในการติดตามด้านการก่อคาร์บอนและการใช้พลังงานในการขนส่ง รวมถึงยังสามารถใช้ในการวางแผนเส้นทางการเดินรถพร้อมคำนวณอัตราภาษีที่อาจเกิดจากกิจกรรมเหล่านี้ล่วงหน้าได้ เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะขาดไปไม่ได้เลยสำหรับธุรกิจโรงงานและการผลิตที่ต้องมีการรับของส่งของอย่างซับซ้อนและหลากหลาย

หากผู้ประกอบการธุรกิจโรงงานและการผลิต กำลังมองหา Smart Manufacturing แห่งอนาคต เพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน สามารถรับคำปรึกษาด้านโซลูชันเพื่อธุรกิจการผลิตได้ที่ AIS Business หรือคลิ๊กศึกษาข้อมูลได้ที่ https://www.ais.th/business/enterprise/industries/manufacturing

อ้างอิง

https://www.terrabkk.com/articles/202373/clean-competition-act-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90

https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/Article_13Sep2022.html

https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Chi-US-EU-FB-11-04-2022.aspx

http://www.dailynews.co.th/news/2228915/